
มหาวิทยาลัย Southern California ยกเลิกการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีจบการศึกษา เมื่อตัวแทนนักศึกษาที่จะได้ขึ้นเวที ถูกมองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนปาเลสไตน์
by NUT LELAPUTRA•23 Apr 2024ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง ในพื้นที่อย่างสถาบันการศึกษาซึ่งควรจะเปิดกว้างต่อการแสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรีของคนรุ่นใหม่ ก็อาจกำลังเกิดประเด็นที่สร้างความขัดแย้งไม่น้อยไปกว่ากัน เมื่อแถลงการณ์ล่าสุดจากมหาวิทยาลัย USC ในแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) ประกาศยกเลิกการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีจบการศึกษาประจำปีนี้ เนื่องจากตัวแทนนักศึกษาปริญญาตรีผู้กล่าวสุนทรพจน์ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่าย ‘สนับสนุนปาเลสไตน์’ (Pro-Palestinian)
พิธีจบการศึกษาของมหาวิทยาลัย USC ที่ปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมมากถึง 65,000 คน กลายมาเป็นประเด็นขัดแย้งทันที หลังจากผู้อำนวยการ แอนดรูว์ ที กัซแมน (Andrew T. Guzman) ประกาศว่ามหาวิทยาลัยได้รับฟีดแบ็กไปในทางลบอย่างล้นหลาม หลังเปิดเผยชื่อ และประวัติของตัวแทนนักศึกษาผู้กล่าวสุนทรพจน์ออกไป เนื่องจากผู้กล่าวสุนทรพจน์ อาสนา ทาบาสซัม (Asna Tabassum) นักศึกษาคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มีแนวคิดสนับสนุนปาเลสไตน์ ซึ่งจะเป็นการปลุกปั่นยั่วยุ ขยายประเด็นความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น จนอาจเสี่ยงต่อความมั่นคงของมหาวิทยาลัย ถึงขั้นทำลายประเพณีอันดีงามอย่างพิธีจบการศึกษาที่สืบทอดกันมายาวนานได้
“หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราได้ตัดสินใจว่าจะไม่มีการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีจบการศึกษาครั้งนี้ อีกทั้งจะไม่มีการให้สิทธิ์การพูดอย่างเสรี เพราะสิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือ การทำให้มหาวิทยาลัยมีความมั่นคงและปลอดภัยสูงสุด” ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย USC แอนดรูว์ ทีกัซแมน กล่าวในแถลงการณ์
อาสนา ทาบาสซัม เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกโดยสภามหาวิทยาลัยจากจำนวนนักศึกษาผู้ลงสมัครเป็นตัวแทนกล่าวสุนทรพจน์ทั้งหมดกว่า 100 คนที่ต้องมีคะแนน GPA แตะ 3.98 หรือมากกว่านั้น แต่หลังจากประกาศว่าเธอได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีจบการศึกษาที่จะถึงนี้ ทาบาสซัมกลับถูกกลุ่มทั้งคนในและนอกมหาวิทยาลัยโจมตีอย่างดุเดือด กล่าวหาว่าเธอเป็นฝ่ายสนับสนุนปาเลสไตน์ จากการแสดงออกอย่างชัดเจนในโซเชียลมีเดียของเธอ ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยไป ‘กดไลค์’ กลุ่มผู้เรียกตัวเองว่า ‘Tov’ หรือกลุ่มต่อต้านชาวยิวที่สนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังต่อคนเชื้อชาติยิว อีกทั้งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Trojans for Israel ในมหาวิทยาลัย USC ก็ได้เรียกร้องให้พิจารณาตัวแทนกล่าวสุนทรพจน์อย่างอาสนา ทาบาสซัม อีกครั้ง โดยอ้างว่าเพราะทาบาสซัมเป็นพวกที่ชอบใช้วาทกรรมที่เป็นการต่อต้านยิว (Antisemitism) และเป็นหนึ่งในลัทธิต่อต้านไซออนิสต์ (Anti-Zionism) หรือกลุ่มคนที่ต่อต้านการมีอยู่ของรัฐอิสราเอล
ด้านนักศึกษาชาวมุสลิมผู้ถูกกล่าวหาอย่างทาบาสซัมก็ได้แสดงความรู้สึกผิดหวังไม่น้อย เธอกล่าวว่านี่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัว เพื่อนๆ และอาจารย์ของเธอควรได้ยินดีกับความสำเร็จ แต่มหาวิทยาลัยเองกลับทอดทิ้งเธออย่างไม่ไยดีให้เผชิญกับการที่ทั้งกลุ่มต่อต้านมุสลิม และกลุ่มต่อต้านปาเลสไตน์ ใช้เธอเป็นเครื่องมือในการสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ เพียงเพราะอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่เธอมีต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน
“เห็นได้ชัดแล้วว่าความพยายามกีดกันไม่ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมได้เกิดขึ้นจริงๆ ในงานพิธีจบการศึกษา” ทาบาสซัมกล่าว “ฉันรู้สึกทั้งช็อกทั้งผิดหวังกับการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยที่ยอมจำนนต่อความเกลียดชัง และเลือกที่จะปิดปากฉัน ฉันไม่แปลกใจว่าทำไมผู้คนถึงตกเป็นเหยื่อของการเผยแพร่ความเกลียดชังนี้ สิ่งที่ฉันแปลกใจคือการที่มหาวิทยาลัยที่เป็นเหมือนบ้านของฉันมาตลอด 4 ปี ทอดทิ้งฉันมากกว่า”
เช่นเดียวกับกลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ รวมถึงองค์กรอิสลาม-อเมริกันแห่งลอสแอนเจลิสที่ออกมาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัย USC คืนอำนาจแก่ทาบาสซัม ในการมีสิทธิ์กล่าวสุนทรพจน์อย่างเสรีอีกครั้งในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
“มหาวิทยาลัยไม่สามารถซ่อนความขี้ขลาดตาขาวด้วยการอ้างเรื่องความปลอดภัยแบบไม่จริงใจนี้ได้หรอก” ฮัสซัม ไอยลูช (Hussam Ayloush) ผู้อำนวยการองค์กรอิสลาม-อเมริกันแห่งลอสแอนเจลิส กล่าว
และการที่นักศึกษาสาวถูกสั่งห้ามกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ ยังสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการประท้วงโดยกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ท่ามกลางผู้เข้าร่วมงานเฟสติวัลกว่า 150,000 คน พร้อมใจกันให้กำลังใจทาบาสซัม และเรียกร้องความเป็นธรรมจากมหาวิทยาลัย USC
“ทาบาสซัมกำลังถูกปิดปาก เรากำลังอยู่ในโลกที่สั่งให้พวกเราเงียบต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็กำลังเกิดขึ้น” โจดี้ อีแวนส์ (Jodie Evans) ผู้ก่อตั้ง CODEPINK องค์กรอิสระท้องถิ่นที่ทำงานเรียกร้องสันติภาพเพื่อผู้หญิงและเป็นเจ้าภาพในการประท้วงครั้งนี้กล่าว
กลุ่มผู้ประท้วงยังคาดหวังให้เซเลบริตี้เชฟคนดังอย่าง โฮเซ่ แอนเดรส (Jose Andrés) ผู้เคยออกมาพูดสนับสนุนยุติการยิงในเขตฉนวนกาซาออกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับทาบาสซัมด้วย หลังจากสมาชิกในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร World Central Kitchen ที่เขาก่อตั้ง ถูกคร่าชีวิตไปถึง 7 คน จากการโจมตีทางโดรนของอิสราเอลในเขตฉนวนกาซาเมื่อไม่นานมานี้
นอกจากนั้นกลุ่มผู้ประท้วงยังคาดหวังให้คนดังอีกหลายคนออกมาแสดงจุดยืนต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับทาบาสซัมให้มากกว่านี้เพื่อให้เสียงของพวกเขาแข็งแรงขึ้นอีกด้วย ซึ่ง โจดี้ อีแวนส์ ผู้ก่อตั้ง CODEPINK และผู้นำการประท้วงเชื่อว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของทาบาสซัมไม่น่าจะก่อให้เกิดความรุนแรงหรือความไม่ปลอดภัยใดๆ ต่อเธออย่างแน่นอน
...
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัย USC ยังคงยืนกรานว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นเรื่องของความมั่นคงและความปลอดภัยเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับว่าผู้กล่าวสุนทรพจน์คือใคร หรือเคยทำอะไรบ้างที่ผ่านมา และยืนยันว่ามหาวิทยาลัยได้รับการคุกคามแทบจะทุกช่องทาง ทั้งอีเมล โทรศัพท์ รวมถึงจดหมายตั้งแต่เปิดเผยชื่อผู้กล่าวสุนทรพจน์ นั่นทำให้มีความกังวลว่าการกล่าวสุนทรพจน์อาจยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
อาจต้องกลับมาดูกันต่อไปว่าการตัดสินใจลิดรอนอิสระทางการแสดงออกของนักศึกษาชาวมุสลิมในครั้งนี้ของมหาวิทยาลัย USC จะยิ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชัง และทำให้ความขัดแย้งทางเชื้อชาติทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีกหรือไม่
HOT TOPICS
...
...