ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งใหญ่ไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ สิ่งที่ปรากฏอยู่ในพาดหัวข่าวของสื่อหลายๆ แห่งจึงเป็นประเด็นที่ว่าด้วยพรรคที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง ทิศทางการร่วมรัฐบาล ตลอดจนที่ทางของนโยบายหลายหลากที่จะนำพาประเทศไปยังทิศทางใหม่ๆ และอีกไม่น้อย ที่พูดถึงเหล่า (ว่าที่) ส.ส.หญิงที่ได้เข้าไปทำงานในสภาฯ ทั้งยังน่าสนใจที่นักการเมืองหน้าใหม่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ 'ล้มยักษ์' หรือนักการเมืองเก่าที่ยึดครองพื้นที่มานานหลายปีได้เกือบทุกคน
ที่น่าสนใจคือ คำศัพท์ที่สื่อหลายแห่งใช้พาดหัวเรียกนักการเมืองหญิงนั้น ไม่มากก็น้อยบ่งบอกทัศนคติบางประการที่ตัวสื่อเองมีต่อผู้หญิง และการทำงานการเมือง เช่น 'สร้างสีสัน' หรือ 'ยลโฉม'
ลักษณะเช่นนี้ชวนนึกถึง อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ หรือที่มักถูกเรียกสั้นๆ ว่า AOC นักการเมืองจากพรรคเดโมแครตชาวอเมริกันที่เป็นผู้หญิง, อายุยังน้อย (เธอเป็นผู้แทนที่อายุน้อยที่สุดในสภาคองเกรส) และที่สำคัญคือ 'ล้มยักษ์' จากพรรครีพับลิกันจากเขตเลือกตั้งรัฐนิวยอร์กได้ ชนิดว่าเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการเลือกตั้ง ชื่อของโอคาซีโอ-คอร์เทซกับเรื่องราวที่ว่าเธอเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเปอร์โตริโก ผู้เคยทำงานด้านการศึกษา และเป็นอดีตพนักงานเสิร์ฟ ก็ปรากฏอยู่ในพาดหัวของสื่อใหญ่ทั้งในและนอกสหรัฐฯ
นับตั้งแต่การช่วงหาเสียงจนถึงได้รับเลือกให้เข้าไปทำงานในสภาฯ โอคาซีโอ-คอร์เทซเผชิญหน้ากับถ้อยคำดูถูกที่วางอยู่บนฐานะ และเพศของเธออยู่เนืองๆ "มีอยู่เหมือนกันที่โดนดูถูก แต่ฉันก็มักจะยืนจังก้าใส่ถ้อยคำเหล่านั้น 'ไม่เว้ย ฉันจะไม่ให้คำพูดพวกคุณมาทำให้ฉันรู้สึกแย่หรอก' และนี่แหละที่สั่นสะเทือนคนพูดสุดๆ" เธอว่า "มันทำให้พวกนั้นรู้สึกว่า 'เดี๋ยวสิ ทำไมหล่อนไม่หยุดเพราะคำพูดพวกนั้นล่ะ ปกติแล้วต้องหงอไปเลยไม่ใช่เหรอ' แต่นี่แหละ ยิ่งพวกนั้นล้อ มันยิ่งทำให้พวกเขาดูไม่มีวุฒิภาวะน่ะ"
"บอกเลยนะว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ และนี่ก็เป็นปัญหาด้วย มันไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวโดดๆ แต่มันเป็นวัฒนธรรมด้วยซ้ำ วัฒนธรรมที่ยอมรับความรุนแรงและการใช้คำพูดแย่ๆ ต่อผู้หญิง ซึ่งมีโครงสร้างอำนาจในสังคมหนุนหลังอยู่"
หนึ่งในความ 'ปัง' ของโอคาซีโอ-คอร์เทซ คือ เมื่อหลังได้รับการเลือกตั้ง เธอทำคลิปสอนแต่งหน้าแบบที่เธอแต่งประจำวันลงชาแนลยูทูบของ Vogue และขณะที่เธอสอนวาดอายแชโดว์ไปพลาง เธอก็พูดเรื่องภาวะปิตาธิปไตยในสภาฯ และการเมืองสหรัฐฯ ไปพลางแบบที่คงไม่ได้เห็นในคลิปสอนแต่งหน้าของคนอื่นๆ "ก็ถ้าการตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วได้แต่งหน้ามันทำให้คุณรู้สึกมีชีวิตชีวา งั้นก็ยอดชะมัด แต่งหน้าไปเลย
"แต่ก็นะ เราก็มักจะได้ยินกันบ่อยเกินไปด้วยซ้ำ —เหมือนมีผลสำรวจด้วยนะว่าผู้หญิงที่แต่งหน้า หรือแต่งหน้าบางๆ— หรือแต่งตัวหน่อยมาทำงานในออฟฟิศ มักจะได้เงินมากกว่าคนที่ไม่ได้แต่ง แล้วเนี่ยแหละที่ทำให้การแต่งหน้ามันไม่ได้เป็นเรื่องของการเลือก (ว่าจะแต่งหรือไม่แต่ง) แต่เป็นเรื่องของปิตาธิปไตยแทน แบบว่าถ้าเราดูดึงดูดในสายตาผู้ชาย เราก็จะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น ซึ่งสำหรับฉันแล้ว สิ่งนี้มันโคตรจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็นเลย มันควรจะเป็นเรื่องของแต่ละคนสิ แล้วทั้งหมดทั้งมวลเนี่ย พวกเราไม่ได้รับค่าแรงเท่าผู้ชายด้วยซ้ำ" เธอบอกไปพลาง กรีดอายไลเนอร์ไปพลาง "เราอยู่ในสังคมที่สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกใจให้ผู้ชาย ขณะเดียวกันก็กดทับผู้หญิง และชาวเควียร์แท้ๆ เหลือเกิน"
อย่างไรก็ตาม ท่าทีไม่ประนีประนอมในสภาฯ ของโอคาซีโอ-คอร์เทซ ก็ทำให้เธอถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพวกสุดโต่ง (radicals) อยู่ประปราย "ก็นะ ฉันว่าจะมีก็แต่พวกที่ถูกเรียกว่าสุดโต่งนี่แหละที่จะเปลี่ยนประเทศนี้ได้" เธอบอก "อับราฮัม ลินคอล์น (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ก็ตัดสินใจในสิ่งที่ดูสุดโต่งอย่างการลงนามในการประกาศเลิกทาส (Emancipation Proclamation) ใช่ไหมล่ะ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ก็เคยตัดสินใจอะไรที่ดูสุดโต่งอย่างการจัดตั้งหลักประกันสังคม (Social Security) เลยนี่" เธอว่า "เพราะงั้น ถ้านี่หมายถึงความสุดโต่งละก็ เรียกฉันว่าเป็นพวกสุดโต่งก็ได้นะ"
สำหรับการเมืองไทย จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชาย และการพัฒนา (GDRI) และขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) พบว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น มี ส.ส.หญิงที่ได้เข้าสภาฯ ทั้งหมด 96 คน หรือคิดเป็น 19.2 เปอร์เซ็นต์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สักวันหนึ่งสื่อไทยจะเลิกเรียกนักการเมืองหญิงเหล่านี้ด้วยถ้วยคำที่วางอยู่บนเพศสภาพเสียที เพราะเช่นเดียวกับนักการเมืองคนอื่นๆ คือพวกเธอมาทำงาน ไม่ได้มีหน้าที่มา ‘สร้างสีสัน’ ใดให้สภาฯ