ต้องยอมรับว่ากระแส Nostalgia ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีหนังและซีรีส์ยอดฮิตในอดีตกลับมาฉายใหม่ สร้างใหม่กันมากมายหลายเรื่อง แต่การกลับมาของหนังหลายเรื่องก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายหรือได้รับกระตอบรับดีเหมือนในอดีต เมื่อโลกเปลี่ยน คนดูเปลี่ยน ความตระหนักในการเสพความบันเทิงก็เปลี่ยนตามไปด้วย และอาจจำเป็นต้องกลับมาทำความเข้าใจมันใหม่อีกครั้งสำหรับการดูด้วยเลนส์ของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
เช่นเดียวกับในช่วงที่ผ่านมานี้ มีข่าวว่าหนังแวมไพร์ Twilight Saga จะถูกนำมา Reboot ใหม่ในรูปแบบของทีวีซีรีส์ โดยช่อง Lionsgate อเมริกา ซึ่งครั้งหนึ่งหนังที่อิงจากนิยายชุดของสเต็ปฟานี ไมเออร์ (Stephanie Meyer) และถูกนำมาสร้างเป็นหนังแฟรนไชส์ระหว่างปี 2008 - 2012 เรื่องนี้เคยทำรายได้ทั่วโลกกว่า 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บวกกับความฮิตสุดๆ ของมันในตอนนั้น ก็อาจเรียกว่าได้ Twilight Saga เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่ความสำเร็จที่ว่าอาจไม่ได้เป็นตัวการันตีถึง ‘ความดีงาม’ ของเนื้อหาสักเท่าไร
เพราะถ้าหากใครกลับมาดูหนัง Twilight Saga อีกครั้งในตอนนี้ ก็น่าจะพบว่ามีหลายประเด็นที่เป็นปัญหาซ่อนอยู่ไม่น้อย กับพล็อตเรื่องราวความรักระหว่างแวมไพร์หนุ่มอายุร้อยกว่าปีกับเด็กสาวมัธยมปลาย และเมื่อมันกำลังจะถูกนำมาทำใหม่ คนดูอย่างเราจึงอยากตั้งคำถามว่าบริบทที่เกิดขึ้นในหนังเหล่านั้นยังจะ ‘เวิร์ก’ กับโลกปัจจุบันอยู่หรือเปล่า
อย่างแรกเลยคือหนังวัยรุ่นช่วงต้นปี 2000s มักจะนำเสนอคาร์แรกเตอร์ของเด็กสาวผู้มีความขบถ แปลกแยกจากสังคม เพื่อให้รู้สึกว่าตัวละครนี้มีความ ‘แตกต่าง’ และความแตกต่างนี้ก็ทำให้พวกเธอโดดเด่นกว่า เหนือกว่าเด็กสาววัยรุ่นคนอื่นๆ เช่นเดียวกับนางเอกของเรื่อง เบลลา สวอน (Bella Swan) ซึ่งพอมองกลับไปด้วยเลนส์ของคนยุคนี้ เราต่างมีความเข้าใจเรื่องของ My body, my choice ที่ทุกคนต่างก็ ‘มีดี’ ในแบบของตัวเองทั้งนั้น สาวแต่งหน้าเยอะ แต่งตัวจัด ชอบเข้าสังคม ไม่ได้จำเป็นต้องบ่งบอกว่าเป็นผู้หญิง Bitchy เป็นตัวร้าย หรือสาวแต่งตัวบอยๆ หน้าไม่แต่ง ไม่ทำตามกรอบของสังคม ก็ไม่ได้หมายความว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ใครเหนือกว่าใคร เพราะในโลกแห่งความหลากหลาย ผู้หญิงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ 2 ไทป์นี้ การกล่อมเกลาคนอ่านหรือคนดูด้วยนัยยะที่ว่า ‘ฉันดีกว่าเธอ เพราะฉันแตกต่างจากเธอ’ ของ Twilight Saga จึงอาจเป็นได้ทั้งการเหยียดและกดทับผู้หญิง (โดยผู้หญิงด้วยกันเอง) ซึ่งอาจใช้กับโลกปัจจุบันไม่ได้อีกแล้ว
นอกจากนั้นการเหยียดผิวและเชื้อชาติยังเป็นอีกประเด็นที่ถูกพูดถึงใน Twilight Saga ด้วยเหมือนกัน จากตำนานของ Quileute ชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันที่มีตัวตนอยู่จริงในแถบรัฐวอชิงตันของสหรัฐฯ ซึ่งถูกใช้เป็นเส้นเรื่องให้กับตัวละคร เจค็อบ แบล็ก (Jacob Black) เพื่อนชายอีกคนที่ตกหลุมรักนางเอกเบลล่า สวอน ด้วยความที่เขาคือผู้สืบเชื้อสายตำนานหมาป่ามาจากบรรพบุรุษ ตัวละครเจค็อบ แบล็ก จึงถูกตีความให้มีภาพลักษณ์ของ ‘คนป่า’ ที่มีความดุดันอยู่ตลอดเวลา แม้จะสร้างให้คาร์แรกเตอร์ของเขาดูมีความอ่อนโยน แต่เวลาที่เขาต้องการแสดงความรักต่อนางเอก ก็ยังไม่สามารถควบคุมสัญชาติญาณในตัวเองได้ สะท้อนมุมมองที่ผู้เขียนและผู้สร้างหนังมีต่อชายผิวสี กับวิธีการที่คนเหล่านั้นปฏิบัติต่อผู้หญิงผิวขาวได้เป็นอย่างดี และไม่ว่าคนเหล่านั้นจะพยายามเบลนด์ตัวเองให้กับสังคมคนขาวมากแค่ไหน ก็ยังถูกทรีตอย่างคนชายขอบอยู่ดี
บทความบางชิ้นบอกว่าถ้าแวมไพร์หนุ่มเอ็ดเวิร์ด คัลเลน (Edward Cullen) อยู่ในชีวิตจริงล่ะก็ คงโดนเเจ้งตำรวจจับไปนานแล้ว เพราะไหนจะแอบย่องเข้าบ้านนางเอกในยามวิกาล ตามไปดูเธอนอนหลับ พยายามแยกเธอออกจากสังคมเพื่อนฝูงและครอบครัว หรืออาการหึงหวงเธอกับเพื่อนชายคนอื่นอย่างรุนแรง แต่ Twilight Saga กลับทำให้พฤติกรรมรุนแรงและคุกคามระหว่างเขากับนางเอกสาวกลายเป็นเรื่องสวยงาม การแสดงความรัก ความโรแมนติกเร่าร้อน ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นการสนับสนุนแนวคิดเพศชายเป็นใหญ่อยู่ในที นี่ยังเป็นรูปแบบของการ Romanticize พฤติกรรม Toxic Relationship ที่ค่อนข้างอันตราย หากไอเดียเหล่านี้ยังคงถูกส่งต่อและผลิตซ้ำให้กับคนดูรุ่นใหม่ๆ ต่อไป
“ฉันคิดว่าสตูดิโอหรือผู้สร้างเพียงแค่ต้องการคว้ากระเเสเทรนด์ Nostalgia ด้วยการเอาใจคนเจนเนอเรชั่นหนึ่ง โดยที่ไม่มีความเข้าใจเลยว่าไอ้คัลเจอร์หรือบริบทอันนั้นมันเอามาเล่าซ้ำไม่ได้แล้วในยุคนี้” อายัน อาร์ทาน (Ayan Artan) นักเขียนบทและนักเขียนด้านวัฒนธรรมกล่าว
สุดท้ายแล้วการกลับมาอีกครั้งของ Twilight Saga จะได้กลับมาในบริบทใหม่หรือไม่ หรือจะกลายเป็นแค่อีกหนึ่งคัลเจอร์ที่ถูก Cancel ก็เป็นหน้าที่ของเราในฐานะคนดูแล้วว่าจะตัดสินและมองเรื่องนี้อย่างไร
อ้างอิง
https://www.glamourmagazine.co.uk/article/twilight-reboot-toxic-relationships
Author