เป็นชัยชนะที่น่ายินดี เมื่อพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรค ‘ก้าวไกล’ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ชนะผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ นั่นแปลว่าพิธาในตอนนี้ ได้กลายเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย หากจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และสิ่งนี้ได้มอบความหวังให้ประชาชนอีกครั้งที่จะเห็นชีวิตของตัวเองและประเทศพัฒนาไปทิศทางที่ดีขึ้นในเร็ววัน เพราะทั้งตัวพิธา และพรรคก้าวไกลเองต่างต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาอย่างเข้มข้น และนั่นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง
ทว่า แม้จะเป็นนักการเมืองฝั่งประชาธิปไตย แต่ประชาชนคนไทยก็ควรมีสิทธิตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือวัฒนธรรมการ ‘บูชาบุคคล’ และการสร้างวัฒนธรรมแฟนด้อมบางอย่างที่ได้วนมาถึงแวดวงนักการเมืองเป็นที่เรียบร้อย มีการสร้างภาพลักษณ์ให้นักการเมือง ‘โพผัว’ / ‘มัมหมี’ (แม่ที่มองนักการเมืองเป็นลูกน้อย) หรือภาพลักษณ์อื่นๆ ที่เป็นบุคคลที่รักจนอยากปกป้อง ซึ่งอาจจะรักเขาเพราะผลงานทางการเมืองที่เฉียบคม ทัศนคติต่อผู้คนที่ดี หรือกระทั่งประกอบกับรูปลักษณ์และคาริสม่าของเขาก็ตาม
จริงๆ ก็ไม่ได้ผิดอะไร ถ้าเราจะรัก และชื่นชอบนักการเมืองมากๆ ตราบใดที่มันไม่ได้สร้างผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองเรื่องตัวบุคคล แต่จะมีปัญหาทันที เมื่อบางคนเริ่มอินเกิน เช่น การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับพิธา ซึ่งแม้เขาจะเป็นผู้ชาย ก็ไม่สมควรถูกพูดจาทางเพศใส่ หรือการปกป้องพิธาเมื่อใครก็ตามยกเรื่องพฤติกรรมในอดีตขึ้นมาพูด เช่น เรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีมูลความจริง (และเขาเองก็ยังไม่ได้ออกมาเคลียร์ชัด) แต่กลับมีแฟนคลับหลายคนไปรังควานคนรอบตัวในชีวิตของเขาอย่าง ต่าย-ชุติมา อดีตภรรยาของเขา จนไม่สนใจความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในแวดวงการเมืองเลยแม้แต่นิดเดียว
“คุณแม่ได้โปรดอย่าลืมอดีตที่ตัวเองไปสัมภาษณ์ออกทีวีแล้วก็ให้ฝ่ายชายเสียๆ หายๆ นะคะโปรดจำสิ่งตรงนั้นด้วยค่ะ ได้แค่หน้าที่แม่พอไม่ควรเป็นหน้าที่เมียค่ะ ไปต่อคิวก่อน จะมาอยากได้อะไรตอนที่เขาจะได้เป็นนายกฯ คะ อยู่ตั้งนานทำไมถึงไม่ได้อยากได้คะ เลิกกันไปดีๆ ไม่ว่าเลยนะคะอันนี้ไม่ใช่ค่ะ คุณฟ้องเขาด้วยแล้วคุณก็หาว่าเขาทำร้ายร่างกายคุณ คุณไม่ได้ดูชนะนะคะคุณดูแบบ พูดได้ไหม จะฟ้องหรือเปล่าจะโดนฟ้องหรือเปล่าคะ ประชาชนเขาจำได้นะคะว่าคุณสัมภาษณ์อะไร ใน YouTube สื่อสังคมต่างๆ ภาพนั้นมันก็ยังจำอยู่ค่ะ มองบนก่อน อย่ามาคะ” —หนึ่งในคอมเมนต์ที่ต่ายเผชิญ จนเธอต้องตอบกลับว่า “เรื่องแบบนี้ไม่มีใครลืมลงค่ะ และไม่ได้ต่อคิวค่ะ ไม่ต้องเหนื่อยคิดแทนนะคะ”
และแน่นอน ยังมีอีกหลายคอมเมนต์ที่พุ่งเป้าไปที่เธอ ไม่ว่าจะเพราะความรู้สึกใดๆ ต่อพิธา จนอาจหลงลืมไปว่าเธอเองเป็นคนหนึ่งที่ยังมีสถานะเป็นแม่ของลูก และมีสิทธิจะแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่เคยมีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 Nation TV ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ต่าย ถึงประเด็นดังกล่าว ที่มีหลายคนคิดว่าเธอจะรีเทิร์นรักกับพิธา เธอยืนยันแน่ชัดว่า จะเป็นแค่ “คุณพ่อ คุณแม่ของพิพิม” เท่านั้น และเสริมถึงเหตุการณ์ในอดีตต่างๆ ว่า “เหมือนเรามีแฟน มันเป็นความสัมพันธ์ของคนสองคน มันจะให้บอกว่าเขาเป็นแบบนี้ มันก็แบบ เรื่องมันจะลึกเกิน…บางทีคนเราที่เป็นคนไม่ดี หรือทำไม่ดีกับเรา เขาอาจจะเป็นคนดีกับคนอื่นก็ได้ นึกออกปะคะ หมายถึงว่า บางคนเป็นศัตรูกับเรา แต่เขาเป็นเพื่อนสนิทของคนอื่นได้ เขาคงไม่ได้ทำไม่ดีทุกวัน ทั้งวัน ก็อยากให้แยกแยะ อย่าไปเหมารวมเรื่องแบบนี้อะค่ะ อันนี้มันเป็นเรื่องของเราสองคน แต่ถ้าในแง่ของการทำงาน ก็อยากให้ไปโฟกัสการที่เขาทำงานกับประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน มันคนละหมวดกัน”
การที่ต่ายออกมาให้สัมภาษณ์ ทำให้เธอโดนโจมตีไม่เว้นวัน ทั้งความคิดเห็นเชิงเหยียดเพศที่อยากให้ผู้หญิงอยู่เงียบๆ ไร้สิทธิ ไร้เสียง “อีกคนเป็นทั้งพ่อ และต้องเตรียมตัวขึ้นเป็นนายกของประเทศ แต่อีกคนยังมีชีวิตแค่มานั่งโพสเล่นๆทำตัวเหมื่อนทารก ที่ไม่คิดอะไรมากมาย” หรือ ความคิดเห็นแง่ลบ “เธอไม่ฉลาดเลยนะต่าย ทำไมต้องมาพูดเวลานี้ พูดยังไงก็ไม่มีผล คุณพิธาเป็นคนของประชาชนไปแล้ว” / “ผู้หญิงคนนี้ไม่มีความเหมาะสมกับคุณทิมเลย โชคดีแล้วที่ผู้ชายเลิก” ฯลฯ
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการบูชานักการเมืองมากจนเกินไป จนทำให้แตะต้องไม่ได้ เพราะไม่อยากให้นักการเมืองที่รักต้องเสียชื่อเสียง ทั้งๆ ที่เรื่องของการเมืองเป็นเรื่องของประชาชน ประชาชนทุกคนควรช่วยการสอดส่องพฤติกรรมของนักการเมืองอยู่ตลอดเวลา และเป็นหูเป็นตาให้กับทุกปัญหาในสังคมที่เจอ กรณีของต่าย นี่ก็ถือเป็นปัญหาสังคมที่เรื่องการโทษเหยื่อ ที่เธอกำลังเผชิญอยู่เช่นกัน
หากย้อนกลับไป กรณีพิธา-ต่าย แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่ก็ได้ไต่สวนออกมาแล้วว่ามีการทำร้ายร่างกายจริง แต่ไม่ถึงกับเป็นความรุนแรงในครอบครัว แต่มันกระทบจิตใจฝ่ายหญิง จนกังวลในการอยู่ร่วมกัน
และเราต้องบอกว่าไม่ใช่แค่กับพิธาที่ต้องตรวจสอบได้ นักการเมืองทุกคน ไม่ว่าจะฝั่งประชาธิปไตยหรือไม่ ก็ต้องถูกตรวจสอบได้ และนั่นเป็นหน้าที่ของประชาชน เช่น กรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อปี 2019 ซึ่งโดนขุดคุ้ยออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในปีนี้ ตอนนั้นเขาได้พูดว่า “ผมได้ตำแหน่งหมอสูติฯ จากท่านประธานยุทธศาสตร์ครับ ไม่รู้ท่านมองผมในมุมไหน เจอกันเมื่อไหร่ก็หมอสูติฯ หมอสูติฯ ตลอด หมอสูติฯ นี่จริงๆ ก็ทำไปนะครับ มันมีข้อที่พิสูจน์อย่างหนึ่ง พวกเราเนี่ยหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินใช่ไหมครับ แต่หมอสูติฯ เนี่ย หลังสู้ไฟฟ้า หน้าสู้เพอริเนียม” และเล่าเรื่อง dirty joke การตรวจภายในคนไข้ของเพื่อนที่เป็นหมอสูติฯ พร้อมทำท่าประกอบ ที่ชี้ไปชี้มาบริเวณช่องคลอดผู้หญิง ซึ่งนับเป็นทัศนคติแฝงการเหยียดเพศที่ควรปรับปรุงตัวโดยด่วน เพราะหากนักการเมืองยังมีทัศนคติไม่ดีต่อเพศใดๆ ก็แล้วแต่ คงไม่แปลกที่ประชาชนบางส่วนจะตั้งคำถามขึ้นมา
หรือแม้แต่ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากพรรคเพื่อไทย ที่เคยนำกระโปรงเข้าไปในรัฐสภา และโชว์ขึ้นมา พร้อมอภิปรายว่า “ให้ประยุทธ์เอาไปใส่ เพราะยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์” และย้ำว่า ประยุทธ์ ทิ้งคนแก่ดูแลพรรค ให้เอา “กระโปรง” ไปใส่ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า หลายครั้งที่ผู้ชายโดนด่าไม่ว่าจากผู้ชายด้วยกัน หรือจากเพศอื่นๆ ทำไมคำด่าที่แฝงอคติทางเพศต่อผู้หญิง ถึงกลายเป็นคำด่ายอดนิยมที่ใช้เพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกโดนดูถูก? ถ้ามันไม่ได้มาจากการมองทุกเพศไม่เท่ากันแต่ต้น
ฉะนั้น เราเข้าใจดีว่าบางคนรัก และยกย่องนักการเมือง ซึ่งก็ดีแล้วที่เราช่วยกันซัพพอร์ตนักการเมืองที่สู้เพื่อประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามหากวันนี้ หรือในอนาคต มีนักการเมืองคนใดแสดงพฤติกรรมที่สังคมมองเห็นว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะกับเรื่องเพศ เพราะหากความเท่าเทียมทางเพศไม่เกิดขึ้น เราก็คงเรียกประเทศว่าประชาธิปไตยได้อย่างไม่เต็มปาก ซึ่งเราทุกคนก็ควรพูดเรื่องนี้กันอย่างตรงๆ โดยถอดเกราะปกป้องเขาออกไปก่อน เพราะถ้ารักเขาจริง ย่อมควรเห็นเขาปรับปรุงไปในทางที่ดี และนั่นไม่ใช่จะเป็นประโยชน์ต่อใคร ก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยนั่นแหละ
อ้างอิง:
https://www.brighttv.co.th/entertain/tye-tim-ques
https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_7657597
https://www.thairath.co.th/entertain/news/1574295
https://youtu.be/qG53c3QHE2U
https://youtu.be/qUyDdK0U8vA