คงยากจะปฏิเสธว่าชื่อของ วิลโลว สมิธ (Willow Smith) เป็นที่รู้จักจากครอบครัวของเธอในฐานะลูกสาวของ วิลล์ และ เจดา พินเก็ตต์ สมิธ สองนักแสดงฮอลลีวูดแถวหน้า เข้าวงการครั้งแรกด้วยการรับบทสมทบเล็กๆ ใน I Am Legend (2007) หนังที่ทำรายได้ถล่มทลายไปที่ 500 ล้านเหรียญฯ ซึ่งวิลล์ สมิธผู้เป็นพ่อของเธอแสดงนำ ทว่า หลังจากนั้น เธอก็เหมือนมุ่งเป้ามายังงานดนตรีเป็นหลัก Whip My Hair ซิงเกิลแรกในปี 2010 ไต่ชาร์ตไปถึงอันดับที่ 11 ของบิลบอร์ด แจ้งเกิดวิลโลว สมิธในฐานะนักดนตรีน่าจับตาของอเมริกา
จนถึงเวลานี้ เธออยู่ในวงการดนตรีมาร่วมทศวรรษและยากจะปฏิเสธว่าถือเป็นหนึ่งในนักดนตรีป๊อป-อาร์แอนด์บีที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยมากที่สุดคนหนึ่ง Meet Me at Our Spot (2020) ซิงเกิลที่เธอทำร่วมกับ ไทเลอร์ โคล ในนามของดูโอ้ the Anxiety ที่แม้หลังปล่อยตัวจะเงียบๆ อยู่ปีกว่า แต่มันก็ไปดังระเบิดระเบ้อเอาอีกทีเมื่อการแสดงสดของทั้งคู่กลายเป็นไวรัลในแอพลิเคชั่น TikTok จนคนแห่ตัดออกมาทำเป็นวิดีโอสั้น และส่งบทเพลงกระโจนขึ้นทุกชาร์ตเพลงแทบจะในทันที รวมทั้งล่าสุด เธอเพิ่งจะขึ้นแสดงที่เทศกาลดนตรี Coachella พร้อมสารพัดเพลงฮิต
แน่นอนว่าความสำเร็จของวิลโลว สมิธนั้นด้านหนึ่งก็มาจากพื้นฐานชื่อเสียงของครอบครัวเธอด้วย สมิธบอกว่า "ฉันไม่ค่อยสนหรอกว่าคนอื่นจะมองฉันยังไง ถ้าคุณชอบฉันนั่นก็ดี แต่ถ้าคุณเกลียดฉัน นั่นก็สุดยอด มันไม่ใช่ธุระกงการอะไรของฉันเลย" เธอบอก "ฉันอยู่บนโลกนี้ด้วยความหวังว่าจะทำให้ชีวิตใครสักคนดีขึ้นมาได้ด้วยงานศิลปะและคำพูดคำจาของฉัน เรื่องมันก็เท่านี้ ฉันรู้สึกแบบนี้ ส่วนคนอื่นจะรู้สึกยังไงนี่ฉันไม่สนอะไรเลย"
ในวัย 17 ปี สมิธปล่อยอัลบั้ม The 1st (2017) กับแทร็ค Romance ที่มีท่อนหนึ่งร้องว่า "ฉันจินตนาการถึงประวัติศาสตร์ที่ต่างไปจากนี้ ที่ที่ผู้ชายกับผู้หญิงเท่าเทียมกันเสมอมา ที่ที่สังคมไม่ประณามคนที่แตกต่างไปจากคนอื่น" และเธอยังเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Dazed ถึงวิธีคิดที่เธอมีต่อความเป็นหญิงในโลกโซเชียลมีเดียซึ่งคนรุ่นเธอเติบโตมาด้วยว่า "มันยากอยู่นะ โดยเฉพาะกับการเป็นผู้หญิงในโซเชียลมีเดียเนี่ย เพราะเราถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศ (sexualised) อย่างหนักเลย ประมาณว่า 'ว้าว เมื่อไหร่กันนะที่เรากับคนอื่นๆ จะมองเห็นตัวเองในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่ในฐานะวัตถุ' อะไรแบบนี้"
ระยะหลัง ดนตรีของสมิธวางตัวอยู่บนเส้นพังค์-ร็อคและเมทัล และทำให้หลายคนเซอร์ไพรซ์ไม่น้อยเมื่อเธอไม่ได้ทำเพลงอาร์แอนด์บี อันเป็นแนวเพลงที่มักพบได้บ่อยในงานของนักดนตรีคนดำ "ว่าไปคนผิวสี ไม่ใช่แค่ในโลกของดนตรีป๊อปหรือแนวอื่นๆ นะ โดยเฉพาะผู้หญิงผิวสี มันไม่ใช่แค่เพลงร็อค —ซึ่งก็เป็นพื้นที่ซึ่งถูกครอบครองด้วยผู้ชายคนขาว— ฉันแค่อยากแสดงออกถึงความกระหาย ความกราดเกรี้ยวของฉันเกี่ยวกับคนผิวสี และผู้หญิงผิวสีซึ่งไม่เคยมีสิทธิในการได้แสดงตัวตนที่แท้จริงที่เราเป็น โดยปราศจากการถูกกังขา ถูกตั้งคำถามต่างๆ นานาเลย"
ในฐานะคนดำ สมิธมีวิธีมองกระบวนการเฟมินิสต์อีกรูปแบบหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยสัมผัสหรือไม่รู้ กล่าวคือ สมิธเข้าใจความรู้สึกของการ 'เป็นอื่น' ของคนดำในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีในอดีตที่มักให้พื้นที่คนขาวเป็นหลัก "เพราะประวัติศาสตร์ของเฟมินิสต์และการถูกกีดกันออกมาจากขบวนการนั้นเป็นสิ่งที่ผู้หญิงผิวดำรู้สึกน่ะ สำหรับฉันนะ เวลาเราพินิจพิเคราะห์แก่นของประวัติศาสตร์เนี่ย ไม่มีทางเลยที่เราจะสำรวจมันโดยปราศจากการพูดถึงเสี้ยวที่ว่าด้วยการเหยียดผิวน่ะ ฉันจึงไม่สนับสนุนการกีดกันผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกันในขบวนการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งปวง แต่ฉันสนับสนุนทุกการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิง—แบบที่หมายถึงผู้หญิงทุกคนเลย
"แล้วแน่นอนว่ามันซับซ้อนแหละ เพราะฉันสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการวูแมนนิสต์ (womanist -หมายถึงกลุ่มเฟมินิสต์ผิวสี โดยเฉพาะเฟมินิสต์ที่เป็นคนดำ กล่าวถึงสิทธิต่างๆ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ที่เหล่าคนดำหรือคนสีผิวต้องเผชิญจากทั่วทุกมุมโลก), การเคลื่อนไหวของขบวนการเฟมินิสต์ และทุกการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนผู้หญิง... แต่มันก็ชวนเจ็บปวดเหมือนกันที่มันยังมีช่องว่างระหว่างผู้หญิงคนขาวกับผู้หญิงคนดำมหาศาลขนาดนี้ ทั้งยังเห็นได้อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์ของทุกวันนี้ด้วย นี่แหละทำฉันใจสลายเสมอเลย"
ทุกวันนี้ พ้นไปจากบทสัมภาษณ์ของเธอที่ท้าทายและตั้งคำถามเพื่อทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีอยู่เป็นระยะแล้ว บทเพลงของสมิธหลายเพลงยังคงพูดถึงพื้นที่และสิทธิของผู้หญิงผิวดำ ตลอดจนสีผิวอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ และขยับขยายขอบเขต ‘ภาพจำ’ ที่ว่าด้วยแนวดนตรีของคนดำที่โลกกระแสหลักเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับแนวเพลงแบบใดแบบหนึ่งไปตลอดอีกด้วย