ถ้าคุณเกิดและโตทันในช่วงรอยต่อขณะที่อินเทอร์เน็ตกำลังกลายเป็นสิ่งสามัญประจำบ้าน, ทันรู้จักคำศัพท์ที่แสนเฉพาะตัวของยุคอย่างคำว่า Y2K และแฟชั่นสุดจี๊ดของวัยรุ่นมิลเลนเนียลส์ ก็คงไม่แปลกอะไรหากคุณจะชอบบทเพลงของ รินะ ซาวายามะ นักดนตรีสาวชาวญี่ปุ่น-อังกฤษที่มาแรงที่สุดในขวบปีนี้ โดยเธอถูกยกให้เป็นหนึ่งในหัวเรือของการ 'ปลุกผี' ความเฟื่องฟูยุค 2000s ให้กลับมาตื่นขึ้นอีกครั้ง
ความที่ซาวายามะเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กที่ญี่ปุ่นก่อนจะย้ายตามครอบครัวไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่ออายุครบห้าขวบ การเติบโตมาท่ามกลางการผสมผสานกันทางวัฒนธรรมเช่นนี้ บวกกันกับอิทธิพลดนตรี J-Pop ที่เรืองอำนาจตั้งแต่เธอยังเล็กๆ ทำให้เพลงของซาวายามะโดดเด่นที่ซาวนด์แปลกหูจัดจ้านของซินธ์ป๊อป กับกลิ่นอายนู-เมทัลอันเป็นดนตรีที่เฟื่องฟูสุดขีดในยุค 2000s อันจะเห็นได้จาก Sawayama (2017) อัลบั้มสตูดิโอเปิดตัวของเธอที่เลือกเปิดด้วยแทร็ก Dynasty เล่าถึงความเจ็บปวดและบาดแผลร่วมสมัยของคนรุ่นเธอ และการเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความรู้สึกแปลกแยกจากเชื้อชาติ
STFU! ซิงเกิลหลักของอัลบั้มถัดมา โดยมิวสิกวิดีโอบอกเล่าถึงประสบการณ์น่าหงุดหงิดที่ซาวายามะเคยเผชิญในชีวิตจริง เมื่อชายผิวขาวที่เธอออกเดตด้วยเอาแต่พูดแพล่มไม่หยุดอยู่ฝ่ายเดียว หรือการแสดงความประหลาดใจที่เห็นเธอพูดภาษาอังกฤษคล่อง (แม้เธอจะย้ำนักย้ำหนาว่าเธอโตที่อังกฤษ), จำนักแสดงหญิงเชื้อสายเอเชียสลับกันด้วยความไม่ใส่ใจ, ล้อเลียนดวงตาชั้นเดียวแบบคนเอเชีย, ละเลยวัฒนธรรมญี่ปุ่นแม้พวกเขาจะกำลังกินอาหารญี่ปุ่นกันอยู่ก็ตาม ทั้งยังจงใจเรียกเธอผิดๆ ว่า วากะมามะ ซึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นร้านหนึ่งในอังกฤษ
กับประเด็นนี้ ซาวายามะมารู้ทีหลังว่าคนที่เรียกเธอในเชิงล้อเลียนว่า วากะมามะ คือหนึ่งในคนจากค่ายเพลง และด้วยความเดือดดาล เธอจึงเขียนสตอรี่บอร์ดและร่วมกำกับเอ็มวีเพลง บอกเล่าประสบการณ์การถูกดูถูก, เหมารวมและล้อเลียนที่เคยเผชิญ "คนคนนั้นไม่ได้เรียกฉันว่าวากะมามะต่อหน้าหรอก แต่มีทีมงานคนหนึ่งไปได้ยินว่าเขาเรียกฉันแบบนี้" เธอบอก "ฉันเดาว่าใครก็ตามในอุตสาหกรรมดนตรีที่มีนามสกุลแปลกหูจากคนพวกนี้คงโดนล้อเหมือนกันหมดแหละ”
"ฉันไม่รู้หรอกว่าพวกนั้นพูดถึงฉันยังไงบ้าง อาจจะแย่กว่านี้ก็ได้ แต่นี่มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะปล่อยผ่านให้มันกลายเป็นสิ่งปกติไปได้เลย จะให้พวกเขามาล้อเลียนความเป็นญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบนี้ต่อไปไม่ได้หรอก คนเรามันไม่มีความเคารพต่อคนอื่นๆ ขนาดนี้ได้ยังไงกันล่ะ และนี่แหละคือสารที่ฉันใส่ไว้ในอัลบั้มนี้น่ะ" (อย่างไรก็ตาม ซาวายามะบอกว่าเธอพยายามตามเอาเรื่องคนจากค่ายเพลงปากแจ๋วคนที่ว่า แต่เรื่องราวก็หลุดหายไปกับสายลมเสียแล้ว)
ทิศทางดนตรีของซาวายามะนั้นน่าสนใจ เธอย้ายไปอยู่ที่อังกฤษตั้งแต่ห้าขวบก็จริง แต่เข้าเรียนและใช้ชีวิตวัยเยาว์ในโรงเรียนญี่ปุ่น ฟังเพลงจากนักดนตรีญี่ปุ่นซึ่งส่งอิทธิพลต่อเธอมหาศาล ("แต่ฉันก็พลาดอะไรต่อมิอะไรอย่าง Spice Girls น่ะนะ" เธอบอก) และกลายเป็นฐานรากสำคัญในงานที่ทำให้เพลงของซาวายามะผิดแผกแปลกหูไปจากดนตรีอังกฤษ ยังไม่นับรวมการเล่าเรื่องชีวิตประจำวันที่ผูกพันกับอินเทอร์เน็ตอย่างแยกไม่ขาด "ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นที่มีความสัมพันธ์แปลกๆ กับอินเทอร์เน็ตน่ะ เราคือคนรุ่นสุดท้ายที่ได้โตมาโดยไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตและเห็นกับตาตัวเองว่ามันกลายเป็นสิ่งสำคัญของโลกในเวลาต่อมาได้อย่างไร ส่วนคนรุ่นหลังๆ เรานี่เกิดมาก็รู้จักอินเทอร์เน็ตกันแล้ว เราเข้าใจนะ แต่ทั้งอย่างนั้นก็ยังรู้สึกแปลกๆ กับมันอยู่ดีเพราะก็ยังจำได้ว่าโลกก่อนหน้าที่จะมีอินเทอร์เน็ตมันเป็นยังไง" เธอบอกธีมสำคัญของการทำเพลง
ซาวายามะหวนกลับมาอีกครั้งกับ Hold the Girl (2022) อัลบั้มลำดับที่สองซึ่งเพิ่งปล่อยออกมาเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา กับซิงเกิลหลัก This Hell ที่เนื้อหาเข้มข้นแสบสันด้วยการก่นด่าคนที่โจมตีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (ในอังกฤษ มีกลุ่มคนที่อ้างเรื่องศาสนาทำร้ายกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอยู่เป็นระยะ) เช่นท่อนที่ว่า 'พระเจ้าเกลียดเรานักหรือ ได้! ขึ้นรถแล้วคาดเข็มขัดเลย เดี๋ยวได้เจอกันแน่' หรือท่อนฮุคติดหู 'ขุมนรกดูดีเมื่อมีเธอด้วย เรามอดไหม้ไปด้วยกันนะที่รัก'
และนอกเหนือจากงานดนตรีจัดจ้าน แฟชั่นของซาวายามะยังฉูดฉาดไม่แพ้กัน เธอมักแต่งตัว (รวมทั้งย้อมผมเป็นสีส้มสด) ด้วยโทนสีร้อน แต่งหน้าด้วยอายแชโดว์สีฟ้าหรือเหลืองสะดุดตากับริมฝีปากแดงจัด ไปจนถึงเสื้อผ้าที่เหมือนหลุดมาจากนิตยสารยุค 2000 ที่ให้รสชาติเผ็ดกว่า ซึ่งนี่ไม่เพียงแต่สะท้อนเซนส์ด้านแฟชั่นอันโดดเด่นของเธอ แต่มันยังทำให้เธอหลุดออกจากกรอบทัศนคติเก่าแก่ที่ว่าผู้หญิงเชื้อสายเอเชียนั้นต้องสุภาพ น่ารักและเรียบร้อย ถึงขั้นที่มีบทความจากวารสาร An Undergraduate Journal of Feminist and Queer Studies วิเคราะห์ว่า 'ซาวายามะใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพาตัวเองออกจากภาพจำของผู้หญิงเอเชียที่ถูกตรึงไว้ด้วยสายตาของชายผิวขาวที่ครองอำนาจนำมาเป็นเวลานาน และอาจจะนับได้ว่านี่เป็นคลื่นลูกใหม่ของเฟมินิสต์ฝั่งเอเชียด้วยซ้ำ'
ดังนั้น หากจะมองจากภาพรวม ก็คงพบว่าความเป็นซาวายามะมักหมายถึงการโยงเรื่องความเป็นหญิงเข้ากับโลกออนไลน์เข้าด้วยกัน "อินเทอร์เน็ตมันเป็นพื้นที่ประหลาดนะ มันทำให้คนจากทั่วทุกมุมโลกมาแสดงความเห็นแย่ๆ ใต้ภาพที่คุณโพสต์ได้ และในทางกลับกัน มันก็มีคำชม -ไม่ว่าจะจากใจจริงหรือปลอมๆ ก็ตามอะนะ- ด้วยเหมือนกัน แล้วคำชมเหล่านี้ก็มักมาจากผู้หญิงเสียด้วย"
"เพราะฉะนั้น ฉันเลยคิดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงได้มีพื้นที่ในการสร้างพลังให้แก่กัน แล้วมันก็มีกลุ่มคนอีกมากมายที่พร้อมจะสนับสนุนศิลปินหญิง และคนแบบนี้แหละที่ดึงดูดฉันมากๆ เลย (เธอเคยไปถ่ายแบบและให้สัมภาษณ์ในนิตยสารหัวเล็กๆ ที่โดดเด่นเรื่องการใช้ทีมงานหญิงล้วน หรือเล่าเรื่องราวของความเป็นผู้หญิง) น่ามหัศจรรย์ใช่ไหมล่ะ คือแน่ล่ะว่าการสนับสนุนผ่านโลกออนไลน์ กับการลงมือเพื่อผลักดันเพื่อนหญิงพลังหญิงในโลกออฟไลน์มันยังมีช่องว่างอยู่ อันนั้นก็แน่นอน" เธอบอกอย่างเข้าใจธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตดี