LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

ทำไมการพูด “ขอโทษ” ถึงยากจัง? เพราะเราหลอกตัวเองว่าไม่ได้ทำอะไรผิด หรือแค่ไม่กล้ายอมรับนิสัยไม่ดีของตัวเอง

คำพูดแสนธรรมดาอย่าง “ขอโทษนะ” ยังคงเป็นสิ่งที่หลายคนอยากได้ยินเวลาเกิดเรื่องบาดหมาง หรือขุ่นเคืองใจกับอีกฝ่าย ที่อาจทำให้อุณหภูมิความหัวร้อนของเราลดลงได้บ้าง เพราะว่ากันว่าคำขอโทษที่จริงใจ แม้จะไม่สามารถหักลบความผิดที่อีกฝ่ายทำกับเราได้ทั้งหมดเหมือนกดปุ่มรีสตาร์ต แต่อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะประคับประคองความสัมพันธ์ให้ยังเดินร่วมทางกันต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม นั่นอาจใช้ได้แค่กับบางคน เพราะยังมีอีกหลายคนที่กลัวที่จะขอโทษ ไม่กล้าที่จะขอโทษ และมองว่าการขอโทษแต่ละทีเป็นเรื่องยาก (ยากเสียกว่าการทำผิดเสียอีก)

ความปากหนักที่จะเอ่ยคำขอโทษสามารถแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องเร่งทำลายความสัมพันธ์ให้พังลงเร็วขึ้น และเบื้องหลังว่า ทำไมการขอโทษถึงเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน กำลังสะท้อนจิตใจของมนุษย์ที่มักหาความสบายใจให้กับตัวเองก่อนเสมอ แม้ว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายทำผิดก็ตาม

บางทีคนเราก็ชอบหลอกตัวเองว่าไม่ได้ทำอะไรผิด นักจิตวิทยา คาริน่า ชูแมนน์ (Karina Schumann) ศึกษาเกี่ยวกับคำขอโทษ หนึ่งสิ่งที่เธอพบคือ การขอโทษสำหรับบางคนนั้นเป็นภัยต่อภาพลักษณ์ที่มองตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลุคคนดี เอาใจใส่ หรือมีศีลธรรม และความผิดที่เราไปก่อไว้อาจทำให้เรารู้สึกไม่ดีต่อตัวเอง ต่อภาพลักษณ์ หรือต่อตัวตนที่เราอยากจะเป็น

“บางสิ่งบางอย่างที่คุณทำอาจคุกคามภาพลักษณ์ของตนเอง (self-image) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคน (ที่คิดว่า) มีศีลธรรม หรือเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดี การขอโทษจะทำให้คุณอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และเรียกความสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับแง่มุมเชิงลบต่อพฤติกรรมของคุณเอง” ชูแมนน์ กล่าว อธิบายให้เข้าใจง่าย ก็คือการขอโทษอาจเหมือนการย้ำว่าคุณไม่ได้ดีเด่เหมือนภาพลักษณ์ที่คุณมองตัวเองนั่นแหละ แต่แล้วยังไง คนเราผิดพลาดกันได้ อยู่ที่ว่าเราจะรู้ตัวไหมว่าตัวเองทำผิด หรือสำนึกความผิดที่ตัวเองก่อไว้มากน้อยแค่ไหนมากกว่า

การยอมรับผิด หรือพูดขอโทษสำหรับบางคน ก็เหมือนการยอมรับว่าตัวเองไม่ได้เป็นแบบที่ตัวเองคาดหวัง และทำให้รู้สึกแย่กับตัวเอง นักจิตวิทยา ดร.โรเบอร์ตา บาบบ์ (Dr Roberta Babb) บอกว่า “มันสามารถรู้สึกเหมือนเป็นภัยคุกคามความรู้สึกของตัวเองได้ และสามารถนำไปสู่อารมณ์ต่างๆ เช่น ความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด ความละอาย หรือความเศร้า ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เราค่อนข้างจะหลีกเลี่ยงมัน”

มันเลยต้องใช้ความกล้าหาญประมาณหนึ่งที่จะผ่านความเจ็บปวด หรือทำลายล้างสิ่งที่เราเชื่อกับตัวเองไว้ เพื่อพ่นคำว่าขอโทษออกมา แต่ท้ายที่สุดเหมือนที่ ดร.บาบบ์ ว่า “การขอโทษอาจรู้สึกเหมือนเป็นการยอมรับความล้มเหลว หรือเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ แต่ในความเป็นจริง มันเป็นสัญญาณของความแข็งแกร่งต่างหาก” เพราะนั่นหมายความว่าเรากล้าหาญที่ยอมรับว่าตัวเองผิดพลาดตรงไหน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงตัว หรือพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

“ผู้คนมักจะใช้คำอธิบายแทนคำขอโทษ พวกเขาพยายามหาเหตุผลให้การกระทำของตัวเองแทนที่จะยอมรับความผิดพลาดจริงๆ ซึ่งมันคือการทำลายฟังก์ชั่นของการขอโทษ” สิ่งที่ ดร.บาบบ์ พูด สะท้อนหลายๆ สถานการณ์ที่เรามักเห็นคนเลือกจะอธิบายตัวเอง หรือเคลียร์ว่าตัวเองไม่ผิดก่อนเป็นอันดับแรก แม้ตัวเองจะผิดจริงๆ หรือกระทั่งรู้ตัวว่าตัวเองผิดนั่นแหละ แต่ก็พยายามหาเหตุผลอย่างอื่นมาอธิบายให้อีกฝ่ายคล้อยตามว่าการทำผิดนั้นมีเหตุมีผล เพื่อลดความผิดให้เหลือครึ่งหนึ่ง ซึ่งบางครั้งมันก็เหมือนกับการที่เรากำลังคิดแทนคนอื่น หรือบีบให้คนอื่นให้อภัยในสิ่งที่ตัวเองทำ มากกว่าเห็นใจคนที่โดนตัวเองทำร้าย และมันคงแปลความหมายได้อีกว่า คุณไม่อยากยอมรับว่าตัวเองเป็นคนผิดจริงๆ อีกอยู่ดี

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้คนไม่พูดขอโทษ นักจิตวิทยา ดร.ทีน่า มิสตรี้ (Dr Tina Mistry) เสริมว่า “เราอาจรู้สึกว่าการขอโทษจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เราอาจไม่สนใจบุคคลที่เราควรขอโทษ หรือบ่อยครั้งที่เรากังวลว่าการขอโทษจะส่งผลต่อวิธีที่คนอื่นมองเรา และที่เรามองตัวเอง”

ประโยคขอโทษอาจจะเปลี่ยนแปลง หรือไม่เปลี่ยนอะไรเลยก็ได้ แต่การไม่ขอโทษก็ถือเป็นการันตีได้เลยว่า ความสัมพันธ์ของคุณกับอีกฝ่ายอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดแผลในใจ

ประโยคขอโทษอาจไม่ถูกพูดออกมาหากคุณไร้เยื่อใย หรือไม่แคร์อีกฝ่ายเลย แต่นั่นอาจทำให้คุณเป็นคนที่ตัวเองไม่ชอบ และถ้าลองคิดดูหากมีคนทำผิดกับคุณแล้วไม่ขอโทษ คุณก็คงไม่ชอบเหมือนกันนั่นแหละ

ส่วนสำหรับบางคนที่ไม่รู้จริงๆ ว่าตัวเองผิดตรงไหน ถ้าหากเพื่อน หรือคนรักออกปากบอกว่าไม่ชอบบางพฤติกรรมของคุณ การรับฟัง และพยายามไตร่ตรองว่ามันเมคเซ้นส์หรือเปล่า เราไปทำให้เขาไม่สบายใจเพราะเหตุผลใด อาจช่วยให้คุณรู้ตัวว่าคุณกำลังทำผิดอยู่หรือเปล่า และหาทางลงได้ในที่สุด

ไม่ว่าประโยคขอโทษจะทำให้อีกฝ่ายมองคุณเป็นคนยังไง แต่สิ่งที่สำคัญคือคุณจะได้เรียนรู้ว่า วันนี้คุณกล้าที่จะยอมรับผิด และพร้อมจะปรับปรุงตัวเพื่อไม่ให้พลาดอีกในอนาคตได้ ซึ่งเรามองว่ายังไงก็เป็นประโยชน์กับตัวคุณเอง ถ้าอยากรักษาความสัมพันธ์ลองกล้าๆ ขอโทษดู เผื่ออะไรจะดีขึ้น แต่ถ้าขอโทษแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น อย่างน้อยคุณก็ได้พยายามถึงที่สุดแล้ว เพราะการยอมรับผิดน่าจะเท่กว่าการหัวรั้นไม่เรียนรู้ความผิดของตัวเอง

อ้างอิง:

https://www.mindful.org/why-is-it-so-hard-to-apologize/ 

https://www.stylist.co.uk/life/sorry-apologise-hard-psychology-relationships/584667
 

Author

PATCHSITA PAIBULSIRI

Content Creator

Related Stories

ทำไมการพูด “ขอโทษ” ถึงยากจัง? เพราะเราหลอกตัวเองว่าไม่ได้ทำอะไรผิด หรือแค่ไม่กล้ายอมรับนิสัยไม่ดีของตัวเอง

culture

ทำไมการพูด “ขอโทษ” ถึงยากจัง? เพราะเราหลอกตัวเองว่าไม่ได้ทำอะไรผิด หรือแค่ไม่กล้ายอมรับนิสัยไม่ดีของตัวเอง

MIRROR'sGuide

ราคาสินค้าอาจแตกต่างตามช่วงเวลาและโปรโมชั่น
โปรดอ้างอิงจากราคาปลายทางของร้านค้าขณะสั่งซื้อ