ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือที่ยังไม่คอนเฟิร์ม หรือแม้กระทั่งคอนเฟิร์มแล้วว่าศิลปินเดตกัน แทบทุกครั้งเราจะเห็นแฟนคลับบางคนออกมาโวยวายต่อความสัมพันธ์นั้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมคู่จิ้นต่างๆ หรืออุตสาหกรรมไอดอลเกาหลี บ้างก็ด่าสาดเสียเทเสีย เหมือนพวกเขาทำผิดกันมาก ทั้งๆ ที่นั่นเป็นชีวิตส่วนตัวของเขาล้วนๆ และแม้เขาอาจจะเซอร์วิสคุณ หรือได้เงินจากคุณ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นเจ้าของชีวิตของเขาไม่ใช่หรือ
เพื่อไขเบื้องหลังปรากฏการณ์ อาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสำหรับจักรวาลการติ่งศิลปิน หรือไอดอลยุคนี้ เราจะเห็นวัฒนธรรมการวางบทบาท หรือ ‘โพซิชัน’ ให้ตัวเอง และตัวศิลปินกันมากขึ้น บางคนหลงรักคาริสม่าของไอดอลจนมองเขาเป็นโพฯ แฟนหนุ่ม แฟนสาว บางคนเอ็นดูความน่ารัก มองไอดอลเป็นลูกน้อย และเรียกตัวเองว่ามัมหมี หรือกับบางคนรู้สึกถูกจริตไอดอลคนนี้เหมือนเป็นเพื่อนซี้คนหนึ่ง ทั้งหมดไม่ได้ผิดอะไร หากเราไม่ได้เอาวัฒนธรรมที่ใช้กันในกลุ่มแฟนคลับไปทำให้ศิลปินอึดอัดใจโดยตรง เพราะการได้ติ่ง หรือชื่นชอบศิลปินคนโปรดสำหรับบางคนแล้วนับเป็นความสุขอย่างหนึ่ง และเขา หรือเธอคนนั้นก็อาจเข้ามาเป็นแรงบันดาลใจในหลายๆ ด้านให้ตัวเรามีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริงๆ
ทว่าการรู้สึกอินมากๆ กับตัวศิลปิน หรือไอดอล จนเกิดเป็นความผูกพันทางใจ และรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา มีชื่อเรียกว่า ‘Parasocial Relationships’ ที่ให้ทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีคือ เขาจะเป็นกำลังใจสำคัญ และมอบความสุขให้เราได้ผ่านการเสพผลงาน หรือไลฟ์สไตล์ต่างๆ แต่ข้อเสียจะผุดขึ้นมา เมื่อพวกเขาไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง ดังจะเห็นได้จากการที่ไอดอลมีข่าวเดต แล้วแฟนคลับบางคนวีนแตก เพราะรับไม่ได้กับความจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากตัวเองติดอยู่กับจินตนาการที่เขาเป็นบางอย่างในชีวิต และยังแยกแยะไม่ได้
“Parasocial relationships เกิดขึ้นเมื่อบุคคลคิดว่าตัวเองเป็นแฟนคลับ หรือชื่นชมคนที่มีชื่อเสียง เช่น คนดัง ศิลปิน หรือนักการเมือง แล้วลงทุนความสนใจ เวลา และแม้แต่อารมณ์ให้กับไอดอลของพวกเขา” จอห์น เฟลิกซ์ (John Felix) นักจิตวิทยาคลินิกในกรุงมะนิลา อธิบาย เขาเสริมว่า ความเหงาเป็นตัวแปรหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์แบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเป็นติ่งทุกคนเหงา แต่เมื่อผู้คนไม่ได้รับความใกล้ชิด หรือมีความสัมพันธ์แบบที่พวกเขาปรารถนาจากคนรอบข้าง หลายครั้งก็นำไปสู่การมองหาพื้นที่ และพัฒนาความสัมพันธ์ในตัวเอง ซึ่งการได้เห็นชีวิตประจำวันของไอดอลที่ชอบ ทำให้แฟนๆ รู้สึกราวกับว่าพวกเขาแบ่งปันชีวิตในแบบที่เพื่อนแท้ทำกัน และนั่นก็ทำให้แฟนๆ รู้สึกเชื่อมโยงกับคนดังเป็นที่เรียบร้อย
เรามองว่าพื้นที่การเป็นติ่งมันคือพื้นที่ที่หลายคนสร้างขึ้นมาเพื่อมอบเวลา และความสุขที่ต้องการให้กับตัวเอง เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย เราอาจจะชอบฟังเพลงแนวนี้ เพราะฟังแล้วรู้สึกอารมณ์ดี ชอบดูหนังเรื่องนั้นเป็นพิเศษ เพราะมันทำงานกับใจเราได้มาก การเป็นติ่งก็เหมือนกัน นี่คือความชอบที่ช่วยพัฒนาความสุขที่เริ่มได้ด้วยตัวเองอย่างหนึ่ง โดยไม่ต้องพึ่งพาความสัมพันธ์รอบตัว
เฟลิกซ์ย้ำว่า การเป็นแฟนคลับไม่มีอะไรต้องกังวลใดๆ แต่ในที่สุดหากลงทุนทางอารมณ์ หรือให้ใจศิลปินมากเกินไป จนลืมไปว่าบางครั้งคนดังเหล่านั้นก็ทำบางสิ่งให้เราเห็นเพราะเป็นส่วนหนึ่งของงาน (การเซอร์วิสแฟนๆ, ทำท่าทาง หรือพูดจาถูกใจเรา, มาไลฟ์ให้เห็นชีวิตประจำวันนอกเหนืองานเพลง ฯลฯ) แฟนคลับก็เสี่ยงที่จะหมกมุ่นอยู่กับไอดอล จนแยกแยะความเป็นจริงจากจินตนาการไม่ออก นั่นทำให้เวลาที่ไอดอลทำอะไรนอกเหนือความคาดหมาย คุณจะรู้สึกสูญเสีย และรู้สึกถูกทรยศ เพราะนั่นคือการทำลายภาพลวงตาในความสัมพันธ์ที่เราแบกไว้
ซึ่งเราจะเห็นว่าบางครั้งแฟนคลับก็ทำเหมือนรู้จักศิลปินดีมากพอ แต่อาจจะต้องพูดตรงๆ ว่า เราอาจจะรู้จักเขาเพียงเสี้ยวเดียว หรือไม่รู้จักนิสัยใจคอและตัวตนจริงๆ ของเขาเลยก็ได้
เจนน่า กิ๊บสัน (Jenna Gibson) Korea specialist ประจำมหาวิทยาลัยชิคาโก วิเคราะห์ปรากฏการณ์ ‘ห้ามเดต’ ที่เกิดขึ้นกับแฟนคลับไอดอลเกาหลีหลายคนว่า “อุตสาหกรรมเคป๊อปได้สร้างตัวตนขึ้นมาอย่างชาญฉลาดด้วยการสร้างฐานแฟนที่มีความอุทิศตนอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งแฟนๆ ที่มีเวลาเพียงพอจะสามารถมองไอดอลที่ชอบผ่านรายการเพลงในวันจันทร์ งานแฟนไซน์ในวันอังคาร การบันทึกรายการวิทยุในวันพุธ และต่อๆ ไป…ชุมชนแฟนคลับยังมีหน้าที่รับผิดชอบส่วนตัวในการโปรโมตวงที่พวกเขาชื่นชอบ และรักษาภาพลักษณ์ให้ใสสะอาด”
อาจพูดให้เข้าใจง่ายว่า เมื่อแฟนคลับบางคนรู้สึกตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของศิลปิน ทุ่มเทอย่างหนักเพื่อศิลปิน และหวังว่าจะได้รับสิ่งตอบแทนกลับมา ในที่นี้อาจจะเป็นความเสมอต้นเสมอปลายของอะไรก็แล้วแต่ แต่พอศิลปินจะมีแฟนขึ้นมาจริงๆ พวกเขาอาจรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง ที่ทุ่มเทไปดูเสียเปล่า ถึงขนาดมีหลายบ้านแฟนเบส ที่ปิดตัวลงเพราะไม่โอเคกับการที่ศิลปินมีแฟน หรือแต่งงาน ซึ่งคงน่าเศร้าไม่น้อย ที่แค่ศิลปินจะขอมีเวลาส่วนตัวบ้าง ยังเป็นปัญหา และหากคิดกลับกัน ขนาดแฟนคลับยังมีศิลปินเป็นที่พึ่งทางใจ แล้วตัวศิลปินจะไม่อยากมีที่พึ่งทางใจเวลาทำงานเหนื่อยๆ เหมือนกันหรือไง
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทต่างๆ ที่ทำให้เรื่องการมีแฟนดูเป็นเรื่องใหญ่มาตั้งแต่แรก ทำให้ยิ่งผลิตซ้ำความคิดนี้ไปสู่แฟนคลับ ซึ่งกิ๊บสันบอกว่า “หากพวกเขาเปิดเผย และซื่อสัตย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ และนำเสนอความสัมพันธ์ราวกับว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ โดยทั่วไปแล้วข่าวอาจได้รับในเชิงบวก” ซึ่งปัจจุบันก็มีบางคู่ที่ออกมายอมรับว่าคบกันอย่างตรงไปตรงมา และมีชีวิตรักที่แฮปปี้ดี แม้บางคู่จะมีเสียงโวยวายจากแฟนคลับอยู่บ้างก็ตาม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาต้องจิตใจเข้มแข็งและจับมือคบกันท่ามกลางเสียงวิจารณ์อยู่ดี และถ้าคิดอีกมุม การไม่บอกว่าคบกัน ก็ไม่ได้ผิดสักหน่อย เพราะนั่นก็คือเรื่องส่วนตัวของพวกเขา
ที่ผ่านมามีอดีตไอดอลหลายคนออกมาเล่าถึงการเดตในวงการเคป๊อปเหมือนกัน เรายกตัวอย่าง Tina อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป Blady ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับยูทูบเบอร์ชาวอเมริกัน แอนโธนี่ พาดิลลา (Anthony Padilla) ว่า แม้แฟนๆ และบริษัทจะระวังเรื่องการออกเดต แต่ไม่น่าแปลกใจที่มันยังคงมีการออกเดตเกิดขึ้นอยู่ดี และบางครั้งต้นสังกัดก็รู้ด้วย
“ฉันแค่จำที่บริษัทพูดได้ว่า แค่อย่าให้ถูกจับได้ พวกเขาจะบอกประมาณว่า ถ้าคุณกำลังออกเดต อย่าให้เราจับได้เลย” เธอกล่าว และอธิบายต่อว่า นั่นเป็นเหตุให้ไอดอลหลายคนหาวิธีในการ ‘แอบเดต’ เพื่อให้ไม่ถูกจับได้ เช่น ออกเดตตอนกลางคืน เพราะตารางแน่นไปแล้วในตอนกลางวัน หรือออกนอกกรุงโซลไปเดตกันตอนกลางคืน (ถ้าใครเคยดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง Sh**ting Stars จะเห็นฉากหนึ่งที่ไอดอลหาวิธีแอบเดตกันแบบนี้เป๊ะเลย)
“ไอดอลก็เหมือนสินค้า คุณกลายเป็นสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของต้นสังกัด และคุณเป็นผู้สร้างเงินให้พวกเขา หากคุณเริ่มออกเดต บางครั้งแฟนๆ ก็ทิ้งคุณไป ฉันคิดว่านั่นคือสิ่งที่บริษัทต่างๆ กลัวมากที่สุด” Tina กล่าว
ขณะที่ค่ายสร้างศิลปินออกมาเพื่อให้แฟนคลับรัก และเกิดความสัมพันธ์แบบ parasocial relationships อย่างเป็นธรรมชาติ พวกเขาหลงลืมไปว่าชีวิตส่วนตัวของศิลปินนั้นมีอยู่จริงเหมือนมนุษย์ทั่วไป มีความรู้สึก มีชีวิตจิตใจ รู้สึกแย่ได้ รู้สึกดีได้ ไม่ใช่คนในอุดมคติที่อยู่แค่ในฝัน บนโปสเตอร์ ในมิวสิกวิดีโออย่างเดียว
งานวิจัยของ ทูคาชินสกี้ ฟอร์สเตอร์ (Tukachinsky Forster) นักวิชาการด้านจิตวิทยา และคณาจารย์ใน Chapman's School of Communication ผู้คนประมาณ 80% รายงานว่า มีความสัมพันธ์ที่ตกหลุมรักศิลปินแบบ parasocial relationships ซึ่งโดยรวมแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่ทำให้แฟนๆ รู้สึก productive และเกิดผลดีต่อพวกเขาได้จริงๆ เหมือนที่เราบอกตั้งแต่ต้นว่า การติ่งช่วยทำให้ชีวิตผู้คนมีความสุขได้
แต่ถ้าเมื่อไหร่อินมากเกิน จนแยกระหว่างจินตนาการ และความจริงไม่ได้ หรือไปทำลายศิลปินที่รัก หรือเคยรัก เพราะเขาไม่เป็นอย่างใจหวัง เนื่องจากมีแฟน หรือมีความสัมพันธ์ นอกจากแนะนำให้ไปพบแพทย์แล้ว คุณต้องระลึกไว้เสมอว่า คุณคือตัวอันตรายในชีวิตของศิลปิน
“คนที่ชอบไม่ได้ทำให้ผู้คน (แฟนคลับ) เป็นคนอันตราย แต่คนอันตรายต่างหากที่ไปชอบเขา” ทูคาชินสกี้ ฟอร์สเตอร์ กล่าว
ท้ายที่สุด ในเมื่อศิลปินเข้ามาเป็นความสุขให้กับเรา เหตุใดถึงอยากทำลายคนที่เป็นความสุขนั้นทิ้งเสียล่ะ? ให้เขามีชีวิตที่เป็นของเขาไม่ดีกว่าหรือ
อ้างอิง:
https://edition.cnn.com/2018/09/21/entertainment/kpop-dating-hyuna-edawn-music-celebrity-intl/index.html
https://www.koreaboo.com/news/kpop-idols-date-according-former-idol/
https://news.chapman.edu/2021/11/12/crushed-on-a-celebrity-youre-not-alone-says-chapman-researcher/
https://www.vice.com/en/article/k7wnkn/celebrity-kpop-fans-parasocial-relationship-psycholoogy