ไอดอลหญิงเกาหลีใต้หลากหลายวง หลากหลายค่าย ถูกส่งไปแสดงโชว์ตามค่ายทหาร โรงเรียนชายล้วน หรืองานกีฬา ที่ห้อมล้อมไปด้วยสายตาผู้ชาย แน่นอนว่านี่คงไม่ใช่สถานการณ์ที่สบายๆ สำหรับผู้หญิงทุกคน ลองคิดดูขนาดคนธรรมดาเดินผ่านกลุ่มผู้ชายหลักสิบคน ยังรู้สึกอึดอัด บ้างก็รู้สึกเหมือนถูกคุกคาม แล้วการอยู่ท่ามกลางผู้ชายเป็นร้อย เป็นพันคน โดยที่บางค่ายละเลยการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย พวกเธอจะรู้สึกอย่างไร?
หนึ่งภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ที่โด่งดังเป็นพลุแตก แทบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คือ อุตสาหกรรม ‘ไอดอล’ ทีนี้ เกาหลีใต้ก็ยังมีอีกภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างชัดเจนจากข่าว หรือกฎหมาย ที่บอกว่าประเทศยังหมุนรอบการ ‘เหยียดเพศ’ หรือ ‘ชายเป็นใหญ่’ นั่นจึงไม่แปลกที่เรื่องการเหยียดเพศ จะวนมาสู่การกระทำ หรือการดูแลศิลปิน ‘หญิง’ หนึ่งในนั้นคือการส่งพวกเธอไปแสดงต่อหน้าผู้ชายมากมายเพื่อ ‘สร้างขวัญกำลังใจ’ ที่ถูกตั้งคำถามว่ามันถูกที่ถูกทางจริงหรือไม่ อย่างเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้ ก็เพิ่งมีข่าวเกิร์ลกรุ๊ปวง aespa โดนคุกคามทางเพศจากการไปแสดงที่โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง
วันที่ 2 พฤษภาคม 2022 เกิร์ลกรุ๊ปวง aespa จากค่าย SM Entertainment ได้รับเชิญไปแสดงในโรงเรียนมัธยมปลายชายล้วน Kyungbock ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ ลี ซูมาน (Lee Soo-man) ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าโปรดิวเซอร์ของ SM เคยเรียนอยู่ เหตุการณ์แย่ๆ เกิดขึ้นกับ aespa หลายอย่าง ตั้งแต่ เด็กผู้ชาย 4 คน กระโดดขึ้นเวทีโดยพลการ และขอถ่ายรูปเซลฟี่กับพวกเธอ และมีรายงานว่ามีนักเรียนบางคนพยายามเอื้อมมือไปสัมผัสร่างกายของหนึ่งในสมาชิก แถมยังมีนักเรียนหลายคนพยายามจะจับมือ aespa ขณะเซลฟี่ โดยที่พวกเธอไม่คอนเซนต์
แม้จะมีครูเตือนว่า “ระวังถูกแจ้งความข้อหาล่วงละเมิดทางเพศนะ ที่ไปจับตัวพวกเขา” แต่นักเรียนชายก็ไม่ได้รู้สึกสลด เพราะหนึ่งในสี่ของนักเรียนที่กระโดดขึ้นเวทีไปคุกคามพวกเธอ โพสต์ภาพพร้อมแคปชั่นต่างๆ เช่น “ผมทำเกือบทุกอย่าง ยกเว้นสัมผัสพวกเขา”, “แฟนผมมาแล้ว ฮ่าๆ หุ่นพวกเธอช่างน่า…(fucking banging)”, “เซ็กซ์”
เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ไม่นาน ในโซเชียลก็เกิดกระแส SECURE THE SAFETY OF AESPA ที่เหล่าแฟนคลับ และชาวเน็ตจำนวนมากไม่พอใจต่อสิ่งที่ aespa ถูกคุกคาม พร้อมวิจารณ์ SM ที่ไร้ซึ่งมาตรการดูแลความปลอดภัยของศิลปิน เพราะพบเห็นเพียงสตาฟฟ์หญิงแค่ ‘คนเดียว’ ที่พยายามปกป้องสาวๆ แม้โรงเรียนจะออกมาขอโทษ แต่กลับอ้างว่าเป็นคนนอกโรงเรียนที่แฝงตัวเข้ามาทำแบบนั้น ไม่ได้มีบทลงโทษอะไรต่อนักเรียนที่กระทำผิดเลย ซึ่งนับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผิดจุด เพราะนักเรียนไม่ได้มีการถูกสั่งสอนว่า “การคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปกติที่ทำได้”
ไม่ใช่แค่ aespa แต่ในปี 2016 เกิร์ลกรุ๊ปวง April ที่ไปทำการแสดงต่อหน้าทหารจำนวนมาก ก็ถูกโอบชิดแนบตัว โดยที่สีหน้าเธอไม่สู้ดี ซึ่งยังมีอีกหลายวงที่ต้องไปแสดงโชว์ ถูกสายตาจับจ้อง หรือถูกคุกคามทางเพศ รวมกรณีที่ไม่ได้ออกข่าว หรือไม่ออกมาพูดว่าไม่สบายใจตรงๆ
การที่ไอดอลหญิงจะออกมาพูดความรู้สึกตัวเองว่าไม่รู้สึกปลอดภัยในการถูกส่งไปแสดงต่อหน้าผู้ชายเยอะๆ โดยเฉพาะค่ายทหาร มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสังคมชายเป็นใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้ที่เข้มข้นหนักมาก มักจะต่อว่าพวกเธอว่า คิดมากไปเอง เยอะสิ่ง และน่ารำคาญ
ครั้งหนึ่ง ยุน (Yoon) จากเกิร์ลกรุ๊ปวง STAYC เคยอ่านคอมเมนต์ระหว่างไลฟ์กับแฟนคลับบนแพลตฟอร์ม V Live และเจอคอมเมนต์ว่า “ผมเป็นทหาร และได้ฟัง ASAP มากกว่า 3 รอบต่อวัน รักนะ ได้โปรดมาแสดงในกองทัพเพื่อสร้างขวัญกำลังใจด้วยเถอะ” สิ่งที่เธอตอบกลับช่วงแรกก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เธอตอบกว้างๆ ว่า “ดูเหมือนว่าพวกเราก็ชอบกองทัพนะ พ่อของฉันก็เป็นทหารค่ะ ขอบคุณนะคะ ถ้าไม่ใช่เวลานี้ พวกเราคงจะได้ไปแสดงคอนเสิร์ต เราอยากแสดงแต่ทำไม่ได้ค่ะ”
คำว่าคอนเสิร์ตของยุน คือการตอบกว้างๆ ไม่ได้พูดตรงๆ ว่าคอนเฟิร์มว่าจะไป ซึ่งก็มีคอมเมนต์ของแฟนคลับจำนวนมากแสดงความเป็นห่วง เช่น “ทำไมคุณถึงขอให้ผู้เยาว์ไปแสดงในกองทัพล่ะ?" ตัวยุนเองตอบกลับแฟนคลับว่า “อ่า ทุกคน ฉันไม่ได้หมายถึงการสร้างขวัญและกำลังใจในกองทัพนะ ที่ฉันพูดมันแค่ไป “แสดง” (โดยทั่วไป) ไม่ต้องกังวลค่ะ”
เป็นไปตามคาด เมื่อเธอคอนเฟิร์มว่าอยากไปแค่แสดงคอนเสิร์ตเฉยๆ ไม่ได้อยากไปเซอร์วิสผู้ชายในกองทัพ ยุนก็ต้องเจอกับคอมเมนต์รุนแรงมากมาย ราวกับว่าพวกเขามองผู้หญิงเป็นสิ่งที่ต้องเซอร์วิสตลอดเวลา แม้จะอึดอัดใจก็ตาม
"ฉันไม่ชอบวงนี้ แต่ ASAP เคยอยู่ในเพลย์ลิสต์ของฉัน แต่ฉันจะลบออกเดี๋ยวนี้แหละ"
“ถามจริง เธอคิดว่าเรากำลังขอให้เธอขึ้นเวทีเพื่อแสดง Sex appeal เหรอ ฮ่าๆ”
“อะไรคือการเชื่อมโยงระหว่างผู้เยาว์กับทหาร โชว์บนเวทีเหรอ? ไม่มีสมอง นัง Bitches”
“เพลงของพวกเธอก็เพื่อพวกคนกากๆ (Fuckers) งั้นก็ไปแสดงแค่มหาลัยสตรีบางแห่งเถอะ”
ชาวเน็ตบางคนยกตัวอย่างเกิร์ลกรุ๊ปวง Brave Girls ขึ้นมา ที่โด่งดังจากการแสดงเพื่อเพิ่มขวัญและกำลังใจ พร้อมทั้งตำหนิ STAYC ว่ากังวลมากไป พร้อมเหน็บว่า “ผู้หญิงคิดว่าการแสดงเพื่อเพิ่มขวัญและกำลังใจเกี่ยวกับอะไร?”
กรณีของ Brave Girls เป็นประเด็นที่น่าพูดถึงเหมือนกัน เพราะทำให้เห็นว่าแฟนคลับทหารนั้นมีหลากหลายรูปแบบ และการแสดงต่อหน้าทหาร หรือผู้ชายก็ไม่ได้แย่เสมอไป ตราบใดที่มีความปลอดภัย และคนดูมีเจตนาที่ดี ไม่ได้มาเพื่อคุกคาม แถมแฟนคลับที่เป็นทหารยังช่วยส่งเสริมให้วงโด่งดังมากยิ่งขึ้นโดยไม่ได้มีเรื่องเพศของแฟนคลับมาเกี่ยว
Brave Girls เดบิวต์ตั้งแต่ปี 2011 ว่ากันตามตรงอายุวงก็ร่วม 10 ปีแล้ว ซึ่งพวกเธอเคยคิดจะละทิ้งความฝัน เพราะวงยังได้รับความนิยมไม่มากเท่าที่ควร แต่เมื่อมีช่องยูทูป Viditor ได้อัปโหลดคลิปการแสดงของสาวๆ Brave Girls ที่เคยได้ไปแสดงที่กองทัพทหารอยู่หลายครั้ง ซึ่งเต็มไปด้วยแรงเชียร์ดังกระหึ่ม เหล่าทหารร้องตามได้คล่อง แถมเต้นท่าทางตามได้โดยไม่กระอักกระอ่วน โดยตัดสลับกับความคิดเห็นของชาวเกาหลีใต้ที่ซัพพอร์ตพวกเธอ ทำให้เพลง Rollin' ที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 2017 ขึ้นอันดับหนึ่งในเกาหลีใต้ในปี 2021 และขึ้นอันดับ 1 ของ Billboard K-pop 100 ในสหรัฐอเมริกา ทำให้พวกเธอเลือกที่จะไปต่อ และรู้สึกเป็นเหมือนปาฏิหาริย์
“เมื่อต้นปี ฉันนึกว่ามันจะจบลงแล้ว” คิม มินยอง (Kim Min-young) นักร้องนำกล่าว
“ที่ผ่านมารีแอ็กชั่นต่อเพลงของเรานั้นเงียบสงัดมาโดยตลอด ดูเหมือนไม่มีใครอยากเห็นเราบนเวทีแล้ว” เธอเสริม ก่อนจะบอกว่า “ฉันไม่กล้าพอที่จะยอมแพ้ต่ออาชีพการงาน หรือเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ และฉันคิดว่าถ้าฉันจะจากไปจริงๆ มันก็คงเป็นจุดจบของ Brave Girls ดังนั้นฉันจึงอยากให้ทีมอยู่ด้วยกันจนจบ”
“เหมือนมีบางสิ่งที่มหัศจรรย์มากๆ และอธิบายไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเรา” ลี ยูนา (Lee Yu-na) หนึ่งในสมาชิกกล่าว
วัฒนธรรมการสร้างขวัญกำลังใจที่ไอดอลหญิงต้องเข้าไปแสดงต่อหน้าผู้ชายนั้น ไม่ว่าเจตนาของค่ายที่ส่งไปจะคืออะไร แต่ปลายทางอยู่ที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับศิลปิน บางคนไม่ได้รู้สึกอึดอัด บางคนอึดอัดแต่กล้าพูด บางคนอึดอัดแต่ไม่กล้าพูด ทำนองเดียวกับผู้ชายที่เป็นผู้รับชม ที่มีทั้งแฟนคลับดีๆ มาเพื่อเชียร์อัพ และส่งกำลังใจให้ไอดอลที่เขารัก อีกด้านหนึ่งก็มีแฟนคลับแย่ๆ ที่คอยจะคุกคามทางเพศไอดอลอย่างปฏิเสธไม่ได้
หากมองในมุมกลับ ถ้าศิลปินชาย ถูกส่งไปโรงเรียนหญิงล้วนเพื่อ ‘ให้ขวัญกำลังใจ’ ต่อนักเรียน หรือแสดงต่อหน้าผู้หญิงจำนวนมาก พวกเขาอาจจะถูกแฟนคลับหญิงคุกคามได้เหมือนกัน แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ที่สุดแล้วตัวเลข ‘ผู้หญิง’ ก็ยังถูกคุกคามทางเพศมากกว่าอยู่ดี ดังนั้น เรื่องแบบนี้อยู่ที่ความสบายใจของตัวศิลปิน เขาไม่ผิดถ้าจะสบายใจ แล้วก็ไม่ผิดถ้าจะไม่สบายใจ ตัวค่ายเองควรถามความสมัครใจต่อตัวศิลปิน และสิ่งสำคัญอยู่ที่ความปลอดภัยที่เคร่งครัดนั้นควรเกิดขึ้นในทุกๆ การแสดง
และที่น่าคิดที่สุดคือ ทำไมอำนาจของชาย และหญิงในเกาหลีใต้ถึงไม่เท่ากันขนาดที่ว่า ศิลปินที่แค่พูดว่าไม่ได้อยากไปสร้างขวัญกำลังใจ กลับโดนรุมด่า ทหารบางคนที่คุกคามทางเพศไอดอล ไม่ได้ถูกลงโทษแต่อย่างใด หรือการที่โรงเรียนชายล้วนพยายามผลักความผิดของเด็กโรงเรียนตัวเองให้คนนอกที่ไร้ตัวตน ยิ่งสะท้อนว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้นั้นแฝงอยู่ในแทบทุกอณูของสังคมเลยทีเดียว
อ้างอิง:
https://forum.allkpop.com/thread/35184-stayc-accused-of-misandry-over-comments-on-performing-at-the-army/
https://news.yahoo.com/aespa-harassed-during-performance-boys-014150664.html
https://www.scmp.com/yp/discover/entertainment/music/article/3128869/video-saved-k-pop-stars-after-years-struggle-brave
https://www.youtube.com/watch?v=OC3KX5BB1DM