LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

เมื่อผู้หญิงต้องต่อสู้ผ่านชุดทำงาน ตั้งแต่เรื่องส้นสูง กระโปรง ยันเมกอัพและคอนแทคเลนส์

ยูนิฟอร์ม หรือกฎการแต่งตัวไปทำงานอาจจะเวิร์กสำหรับบางองค์กร แต่สำหรับคนสวมใส่ หลายครั้งก็ต้องเผชิญความยากลำบาก โดยเฉพาะเมื่อกฎระเบียบนั้นมาพร้อมกับกรอบจำกัดเรื่องเพศ

กฎบางข้อ อย่างเช่นการบังคับสวมส้นสูง การบังคับใส่คอนแทคเลนส์ การแต่งหน้า ไปจนถึงการกำหนดให้ใส่กระโปรงในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ความไม่สะดวกสบาย ความเสี่ยงอันตรายและปัญหาสุขภาพที่ก่อตัวเรื้อรัง ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคลื่นการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบผู้หญิงถูกจุดขึ้นทั่วโลก หลายการเรียกร้องถูกตอบรับ เราลองมาดูกันว่ามีความเปลี่ยนแปลงไหนที่น่าสนใจบ้าง

หนึ่งในกรณีศึกษาที่ระสบความสำเร็จอย่างงดงาม คือกรณีพนักงานหญิงชาวอังกฤษนิโคลา ทอร์ป (Nicola Thorp) ที่ออกมาร้องเรียนหลังเธอถูกส่งตัวกลับบ้าน ขณะไปทำงานเป็นพนักงานต้อนรับชั่วคราวในบริษัท PwC เมื่อปี ค.ศ. 2016 เนื่องจากไม่สวมรองเท้าส้นสูง 

ตามรายงานของ The New York Times กล่าวว่าข้อบังคับเรื่องการสวมรองเท้าส้นสูง 2-3 นิ้ว ตลอดทั้งวัน และบังคับให้พนักงานหญิงแต่งหน้ามาจากบริษัท Portico ที่ทำงานให้กับ PwC หลังจากเธอร้องเรียนกฎระเบียบที่สะท้อนการกีดกันทางเพศ (sexist) ก็ทำให้บริษัท Portico เขียนระเบียบเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายใหม่

ไม่เพียงคลื่นการเปลี่ยนแปลงในฝั่งตะวันตก เมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2019  Business Insider Japan ได้ตีพิมพ์บทความของเรโกะ ทาเคชิตะ (Reiko Takeshita) เผยแพร่ผลการสำรวจพนักงานหญิงญี่ปุ่นกว่า 1,400 คน ซึ่งพบว่าพนักงานหญิงจำนวนมากถูกสั่งห้ามให้ใส่แว่น เนื่องจากมองว่าการใส่แว่นจะให้ความรู้สึกเย็นชามากกว่าการเปิดเผยดวงตา บทความดังกล่าวจุดประกายให้เกิดการเรียกร้องสิทธิการสวมแว่นตาเฉกเช่นเดียวกับพนักงานชายผ่านแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #メガネ禁止 ซึ่งหมายถึงแว่นตาเป็นสิ่งต้องห้าม 

ในปีเดียวกันผู้หญิงญี่ปุ่นยังเรียกร้องการหยุดบังคับเรื่องการสวมรองเท้าส้นสูงผ่านแฮชแท็ก #kutoo ซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากมูฟเมนต์เรื่อง #metoo และเล่นคำระหว่าง kutsu ซึ่งหมายถึงรองเท้ากับคำว่า kutsuu ความเจ็บปวด

กระแสของการเรียกร้อง #kutoo เกิดขึ้นครั้งแรกผ่านการทวีตของยูมิ อิชิกาวา (Yumi Ishikawa) นักแสดง และนักเขียนอิสระ ที่ระบายความในใจถึงความไม่สะดวกสบายของผู้หญิงที่จะต้องทำตามธรรมเนียมประเพณีธุรกิจ ที่กำหนดให้ผู้หญิงจะต้องใส่รองเท้าส้นสูง 5-7 เซนติเมตร เป็นระยะยาวนานตลอดทั้งวัน เพื่อความสง่างามและเป็นมืออาชีพ ทั้งที่ระเบียบพวกนี้เพิ่มความเสี่ยงที่พวกเธอจะเกิดอุบัติเหตุและไม่สะดวกต่อการทำงานเอาเสียเลย 

ข้อความของเธอเป็นที่นิยม ผู้หญิงจำนวนมากได้ออกมาถ่ายทอดประสบการณ์ความยากลำบากจากการใส่ส้นสูง ทั้งโพสต์รูปรองเท้ากัดจนเลือดออก หรือแผลพุพองจากการเสียดสี หลังจากกระแสบนโลกออนไลน์ที่ได้รับความสนใจ อิชิกาวายังรวบรวมรายชื่อผู้หญิง 18,856 รายชื่อ เพื่อยื่นคำร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ เพื่อให้ผู้หญิงไม่ต้องถูกบังคับให้สวมส้นสูงในสถานที่ทำงาน แต่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากค่านิยมการแต่งกายเพื่อความเป็นมืออาชีพยังฝังรากลึก อย่างไรก็ดี กระแสการเรียกร้องก็เกิดขึ้นและมีกลุ่มคนที่ยังต่อสู้ในกระบวนการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

มาดูที่ไทยกันบ้าง ในพื้นที่ศาลที่เคร่งครัดเรื่องเครื่องแต่งกาย ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อที่ 20 ระบุไว้ว่า “ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ ต่อไปนี้…

(2) ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น”

ข้อบังคับนี้ส่งผลให้ทนายความเพศหญิงทุกคนต้องสวมกระโปรงเมื่อขึ้นว่าความในศาล และหลายครั้งยังรวมไปถึงการทำงานในกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานทนายความ เพื่อป้องกันการถูกตำหนิและตักเตือน 

แต่ท่ามกลางสายธารของความเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้หญิงในสังคมไทย จึงน่าสนใจว่าจำเป็นแค่ไหนที่ผู้หญิงยังต้องใช้กฎระเบียบเมื่อ 36 ปีก่อน ทั้งที่การสวมกระโปรงหรือกางเกงไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ทนายความแต่อย่างใด และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคลฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้” นอกจากนี้กฎระเบียบในองค์กรอัยการ อย่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายของข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2556 ข้อ 26(1)(ง) “กำหนดให้ข้าราชการอัยการหญิงสวมกางเกงปฏิบัติงานได้” ก็ปรับเปลี่ยนให้รับหลักการความเท่าเทียมทางเพศ

ด้วยข้อบังคับที่ว่านี้ ทำให้มีทนายความหญิงในประเทศไทยเรียกร้องให้มีการปรับแก้ระเบียบดังกล่าว จากบทความ “‘กระโปรง’ เครื่องหมายของทนายความเพศหญิง?” ของ The MOMENTUM ให้ข้อมูลว่าสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้รวบรวมรายชื่อทนายความ 126 คนยื่นขอแก้ไขข้อบังคับต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 เพื่อให้ทนายความไทยแต่งกายตามเพศสภาพได้ภายใต้ความสุภาพมาตรฐานแบบสากลโดยไม่จำกัดกรอบเพศให้กับทนายเพียงแค่ชายหญิง 

แต่หลังจากยื่นหนังสือไปแล้วสภาทนายความฯ ได้ตอบกลับแจ้งผลคำสั่งการเสนอขอแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 มีสาระสำคัญว่า “ข้อบังคับสภาทนายความ มิได้ห้ามทนายความหญิงมิให้สวมกางเกงว่าความไว้ ในชั้นนี้เห็นว่ายังไม่มีเหตุอันสมควรในการแก้ไขข้อบังคับ” ผลตอบกลับเช่นนี้จึงน่าเสียดายที่ทำให้ทนายความหญิงหลายคนยังต้องเจอการปฏิบัติที่ไม่เสมอหน้าเรื่องระเบียบการแต่งกายในแต่ละพื้นที่

คลื่นกระแสการเปลี่ยนแปลงเรื่องเครื่องแต่งกายเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมของผู้หญิง แม้ผู้หญิงหลายประเทศจะต้องใช้เวลาและหยาดเหงื่อในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ความพยายามในการเรียกร้องเรื่องเครื่องแต่งกายก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงอีกหลายชีวิตกำลังต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และเป็นสิ่งที่สังคมควรให้พื้นที่เป็นอย่างยิ่ง

อ้างอิง : https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2019/jul/11/why-should-i-have-to-work-on-stilts-the-women-fighting-sexist-dress-codes

https://www.businessinsider.com/sexist-dress-codes-for-women-in-the-workplace-japan-glasses-2019-11

https://publications.parliament.uk/pa/cm201617/cmselect/cmpetitions/291/291.pdf

https://themomentum.co/ruleoflaw-thinktank-genderequality/

https://dlink.me/1P8DD

 

Author

KORNKAMON

Content Creator

Related Stories

เมื่อผู้หญิงต้องต่อสู้ผ่านชุดทำงาน ตั้งแต่เรื่องส้นสูง กระโปรง ยันเมกอัพและคอนแทคเลนส์

culture

เมื่อผู้หญิงต้องต่อสู้ผ่านชุดทำงาน ตั้งแต่เรื่องส้นสูง กระโปรง ยันเมกอัพและคอนแทคเลนส์

BY KORNKAMON 09 MAY 2022

MIRROR'sGuide