ตอนแรกก็มั่นใจว่าตัวเองไม่ผิด แต่พอเขาเล่นบทโศกพูดให้เรารู้สึกผิด (ทั้งๆ ที่เราอาจไม่ได้ทำอะไรผิด!) ก็แพ้น้ำตา กับบทสนทนาชวนสงสารจนต้องไปง้อ หรือยอมทำตามในสิ่งที่เขา ‘ต้องการ’ มันอาจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรืออาจเป็นแผนของอีกฝ่าย นี่เป็นอะไรที่ยากแท้หยั่งถึง ลึกล้ำสำหรับทุกความสัมพันธ์เสียเหลือเกิน
คู่รักบางราย ทำร้ายร่างกายตัวเอง เพื่อรั้งอีกคนไว้ไม่ให้ไปไหน
เพื่อนบางคน ใช้ความเป็นเพื่อนมาทำให้เราต้องช่วยทำบางสิ่งอย่างไม่เต็มใจ
พ่อแม่บางบ้าน ทนไม่ได้ที่ลูกไม่เป็นอย่างใจ จนต้องทวงบุญคุณในฐานะผู้ให้กำเนิด
สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Guilt Trip หรือการใช้ความรู้สึกผิดของผู้อื่น มาเป็นเครื่องมือในการกดดัน เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ควบคุมอารมณ์ และการกระทำของคน ให้เป็นแบบที่ตัวเองต้องการมากที่สุด ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยที่ผู้กระทำตั้งใจหรืออาจไม่รู้ตัว แต่ก็ถือเป็นการล่วงละเมิดทางอารมณ์ (Emotional Abuse) รูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้หลายครั้งผู้คนอาจตัดสินใจทำตามใจบางคน แทนที่จะทำตามสิ่งที่เราแน่วแน่ไว้ตั้งแต่แรกเสมอ เพราะแค่ ‘รู้สึกผิด’
“อย่างี่เง่าได้ไหม รู้ไหมวันนี้เราไปเจออะไรมาบ้าง เราไม่อยากเหนื่อยกับเธออีก” นี่คือตัวอย่าง Guilt Trip แบบหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง (Conflict Avoidance) ที่ใช้ความรู้สึกผิดเพื่อปัดปัญหาที่เกิดขึ้นออกไป ในกรณีคู่รักบางคู่ มีการเอาความเหนื่อย หรือความยากลำบากจากชีวิตประจำวัน มาใส่ในบทสนทนาตอนทะเลาะกัน เพื่อให้อีกฝ่ายหยุดพูด แม้เรื่องนั้นจะร้ายแรงและกระทบจิตใจกันมากก็ตาม ซึ่งวิธีนี้ แน่นอน ไม่เวิร์กต่อความสัมพันธ์แน่ๆ เพราะยิ่งซุกปัญหาไว้เท่าไหร่ ยิ่งเร่งวันแตกสลายให้เข้ามาใกล้ขึ้นเท่านั้น มีอะไรคุยกันดีกว่านะ อย่าลืมว่าตอนนี้คุณไม่ได้ใช้ชีวิตตัวคนเดียว
“อย่าทิ้งเราไปได้ไหม ถ้าเธอไป เราจะทำร้ายตัวเอง” นี่คือตัวอย่างของ Guilt Trip แบบการแสวงหาความเห็นอกเห็นใจ (Elicit Sympathy) อีกฝ่ายจะพยายามทำให้คุณรู้ผิด โดยสวมบทบาทผู้ที่ได้รับอันตรายจากการกระทำของคุณ จนคุณต้องคล้อยตามเขา และน่าเศร้าที่บางคน เอาการทำร้ายตัวเอง หรืออาการป่วยทางจิตเวชมารั้งใครบางคนไว้ให้เขารู้สึกผิด สงสาร ทั้งๆ ที่อาจจะหมดรักกันแล้วก็ได้ จนสุดท้ายปลายทางความสัมพันธ์ของทั้งคู่คง Toxic มากๆ จนส่งผลเสียกันไปใหญ่
ความรู้สึกผิดที่มากเกินไปจะทำให้เกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า บางรายอาจเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ นอนไม่หลับ และขืนปล่อยไว้นานๆ จะกลายเป็นความละอายใจ มองตัวเองเป็นคนที่แย่ นำไปสู่การแยกตัวออกจากสังคม
“ไหนบอกจะไม่กลับไปหามัน ถ้าเลิกกับมันอีกไม่ต้องมาให้กูปลอบนะ” นี่คือตัวอย่าง Guilt Trip แบบหลอกล่อ (Manipulation) ให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่ไม่ต้องการทำ หลายคนต้องจบความสัมพันธ์กับแฟนเก่าที่กลับมามีซัมธิงกันอีกครั้ง เพราะเพื่อนไม่อยากเป็น ‘หมา’ เนื่องจากเจ้าตัวกลัวการถูกเพื่อนทิ้ง หรือหากเลือกกลับไปหาแฟน แล้วเลิกกันอีกครั้งจริงๆ เพื่อนอาจจะเทให้เราเสียใจคนเดียวหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่นี่คือชีวิตรักของเรา แล้วชีวิตก็แสนสั้นเหลือเกิน
“ถ้าแกแต่งตัวแบบนั้นแล้วเป็นอะไรไป ฉันคงเสียใจที่เลี้ยงลูกให้เป็นแบบนี้” นี่คือตัวอย่าง Guilt Trip แบบการเรียนรู้ด้านศีลธรรม (Moral Education) คือการทำให้ตัวเองมีศีลธรรมมากกว่า หรือถูกต้องมากกว่า ที่เรายกเรื่องการแต่งตัวขึ้นมา เพราะต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกบ้านที่จะเปิดกว้างให้ทุกสมาชิกมีอิสระในการใช้ชีวิต และหลายครั้งผู้หลักผู้ใหญ่มองเป็นเรื่องที่ผิด รับไม่ได้ ที่ลูกจะแสดงความเป็นตัวเอง โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่า หากลูกเป็นอันตรายเข้าจริงๆ นั่นคือความผิดของลูก หรือของผู้ที่ทำร้ายลูกกันแน่
ทำไมคนเราถึงต้อง Guilt trip คนอื่น?
“เราทำสิ่งนี้ เพราะเราพยายามสนับสนุนให้เขาทำพฤติกรรมที่เราอยากเห็นมากที่สุด และเรามักจะทำกับคนที่เราให้ใจไปแล้ว” เนด เพสนอล (Ned Presnall) นักสังคมสงเคราะห์คลินิก และศาตราจารย์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าว และชี้ว่าใครคนนั้นอาจเลือกใช้คำเหล่านั้นที่บั่นทอนจิตใจโดยไม่รู้ตัว แม้คุณจะปฏิเสธเขาไปในครั้งแรก แต่เขาจะพูดจนกว่าคุณจะรู้สึกผิด และหลอนในคำพูดของอีกฝ่ายไปโดยปริยาย
แล้วทำไมหลายคนต้องยอมทำตาม?
“ความรู้สึกผิดสามารถเป็นเครื่องมือที่เลวร้ายที่สุดของคนเห็นแก่ตัว ที่ใช้ความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจของคุณเพื่อให้ได้รับความชอบธรรมจากคุณ พวกเขาจะทำให้คุณตอบตกลง เมื่อคุณต้องการปฏิเสธ” แมรี่ จอย (Mary Joye) ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต กล่าวพร้อมเสริมว่าอาการรู้สึกผิดนั้นสามารถตอบได้ในเชิงชีววิทยาเกี่ยวกับระบบร่างกายที่เกี่ยวเนื่องกับเส้นประสาทวากัส ซึ่งเป็นระบบประสาทที่กระตุ้นเมื่อมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ ทำให้ตอนคุณรู้สึกผิด เส้นประสาทนี้จะส่งสัญญาณให้คุณรู้สึกตึงที่ไหล่และคอ หัวใจเต้นรัว หรือคลื่นไส้ออกมาได้…อย่างว่า ร่างกายคุณยังทำอะไรไม่ถูก ใจคุณเลยยากที่จะปฏิเสธความต้องการของเขา
นอกจากนั้นแล้ว “เรามักจะรู้สึกผิดเมื่อเราพูดว่า ‘ไม่’ กับใครบางคน หรือปฏิเสธคำขอร้องจากเขา สิ่งสำคัญคือคุณต้องเรียนรู้วิธีปฏิเสธ และไม่รู้สึกผิดในการแคร์ตัวเองก่อน ลึกๆ คุณอาจจะอยากอยู่บ้าน ดูทีวี หรือผ่อนคลายจิตใจ แต่บ่อยครั้งที่เลือกทุบตีตัวเอง และรู้สึกว่าไม่ควรปฏิเสธ คิดแทนคนอื่นว่าคนนี้กำลังผิดหวัง คนนั้นกำลังเจ็บปวด” ดร.แคนเดซ วี เลิฟ (Candace V. Love) นักจิตวิทยาคลินิก และอธิบดีประจำ North Shore Behavioral Medicine ว่าแบบนั้น
ไม่ผิดที่คุณอาจกำลังหลงลืมที่จะแคร์ตัวเอง และไม่ผิดที่คุณอาจกำลังรักคนอื่นมากกว่ารักตัวเอง เราเข้าใจเสมอว่าความคิดคนมันห้ามยาก และเข้าใจยาก ยิ่งกว่าโจทย์คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ หรือเคมี
แต่เราอยากบอกคุณทิ้งท้ายว่า หากคุณไม่ได้มีเจตนาทำร้ายใครเลยแม้แต่น้อย คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดที่จะปฏิเสธพวกเขา โปรดรู้สึกผิด ในเรื่องที่ผิดจริงๆ โปรดแคร์ในเรื่องที่คุณสมควรแคร์ และอย่าลืมแคร์ตัวเองกันด้วย :)
อ้างอิง:
https://carleton.ca/cognitivescience/wp-content/uploads/Humeny.pdf
https://upjourney.com/guilt-trip-what-is-it-examples-how-to-spot-and-respond
https://www.verywellmind.com/what-is-a-guilt-trip-5192249