ผู้ปกครองไทยหลายบ้านชินกับการตีเพื่อสั่งสอน มากกว่าอธิบายเหตุผลว่าสิ่งที่ลูกทำมันผิด หรือถูกอย่างไร และแปลกเข้าไปอีกที่พ่อแม่ไทยแทบจะไม่เคารพร่างกายเด็ก สิทธิเด็ก ราวกับอ้างตนเป็นเจ้าของชีวิต ทว่าการที่ลูกฟังเพราะกลัว กับการฟังเพราะเข้าใจ มันต่างกัน
“ฉันเติบโตมาแบบนี้ ยังดีได้เลย” สำหรับใครที่กำลังจะแย้งขึ้นมา วง-วงศธรณ์ ทุมกิจจ์ และ เจ-เจษฎา กลิ่นพูล สองนักจิตวิทยาการปรึกษาจาก ‘เก้าอี้นักจิต’ บอกว่ายินดีกับพวกคุณด้วย แต่น่าเศร้าเหลือเกินที่คุณมองเรื่องนี้เป็นปกติ ทั้งๆ ที่มีเด็กจำนวนหนึ่งเติบโตมาอย่างทุกข์ทรมาน ต้องเข้ารับการรักษาอาการทางจิต หรือบางรายพยายามจบชีวิตตัวเอง และคงไม่มีโอกาสมาเล่าให้คุณฟัง
“ไม่มีใครเลี้ยงลูกได้สมบูรณ์แบบ เพราะทุกคนต่างไม่สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งสำคัญคือ ถ้าวันนี้รู้แล้วว่าความรุนแรงที่ใช้กับลูกมันผิด คุณควรหยุดการกระทำ เดินเข้าไปขอโทษลูก และคิดหาวิธีสอนลูกที่ไม่ทำร้ายเขา แต่ถ้ายังมองว่ายุ่งยาก ขี้เกียจคิด คุณก็ไม่ควรมีลูกตั้งแต่แรก เพราะคุณกำลังเห็นแก่ตัว อยากจบปัญหาไวๆ มากกว่าดูแลเขาด้วยความรัก”
วง และเจ ชวนมองในมุมนักจิตวิทยาการปรึกษา ถึงเหตุที่พ่อแม่ไทยชอบตี ตีแล้วส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมเด็กอย่างไร ความกลัวจะพัฒนาลูกให้เป็นผู้ใหญ่แบบไหน แล้วถ้าไม่ตี จะสอนเขาอย่างไรดีล่ะ ลองเปิดใจแล้วไปอ่านกัน
“ตีเพราะห่วง หรือตีเพราะมักง่าย” หยุดสร้างความชอบธรรมที่จะทำร้ายลูก
จากประสบการณ์ที่คุยกับผู้รับบริการหลายคน วง และเจ พบว่าคนที่เข้ารับการปรึกษา แม้วันนี้จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่พวกเขายังจำได้ดีคือการถูกบุพการีไล่ฟาด จนเป็นความทรงจำที่บางคนแทบไม่อยากพูดถึงมัน เพราะแผลยังเจ็บ เหมือนเกิดขึ้นเมื่อวาน
คิดว่าทำไมพ่อแม่ไทยถึงเลือกใช้วิธี ‘ตี’ ในการสอนลูก?
“ผู้ปกครองหลายบ้านมองว่าการตีเป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้ลูกของตัวเองอยู่ในลู่ทางที่ตัวเองต้องการ ก็แค่ออกแรงที่มือหนักๆ ตีเสร็จปุ๊บ เด็กเจ็บ เด็กก็หยุดทำ เพราะคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ทำแล้วจะโดนตี โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องมานั่งอธิบายเหตุผลเยอะแยะ ผู้ใหญ่ก็เลยชอบทำกัน แต่พวกเขาไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับลูก” วงพูด
“การตีเป็นวิธีเร็วๆ ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งหยุดทำบางอย่างโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องเสียเวลาคุยนานกว่าจะเข้าใจ พอมองแบบนี้มันก็คือการมักง่ายที่จะหาทางลัด ซึ่งที่ทำให้หลายบ้านมีชุดความคิดแบบนี้ล้วนเกิดจากความเคยชิน ตัวพ่อแม่รู้สึกว่าวิธีการตี คือการสั่งสอนแบบหนึ่ง เพราะตัวเขาเองอาจเคยถูกตีมาก่อนตอนเด็กๆ โตมาจึงใช้วิธีการเดียวกัน รักลูกให้ตี ตีแล้วจะจำ เลยกลายเป็นสูตรสำเร็จการเลี้ยงลูกในสังคมไทยที่แทบทุกบ้านเชื่อเหมือนกัน” เจเสริม
ประสบการณ์ของพ่อแม่ที่เคยถูกตี ถูกสอน ถูกเลี้ยงดูมาอย่างเจ็บปวด นำมาสู่การสร้างความชอบธรรมที่จะตีลูกของตนที่นักจิตวิทยาการปรึกษาทั้งสองมองว่า นี่คือการคิดเข้าข้างตัวเองว่าวิธีการตีมันเวิร์ก เพราะตัวเองยังโตมาได้ แถมคนที่ตีบางคนยังคิดว่าเป็นการแสดงความรัก ตามค่านิยม “ก็ฉันเป็นพ่อแม่ ฉันจะทำอะไรก็ได้” เหมือนในคลิป #ตีจนไม้หัก
“บางคนบอกว่าก็ฉันตีลูกตัวเอง ไม่ได้ไปตีลูกคนอื่น ยิ่งทำให้เห็นว่าเพราะเป็นลูก พ่อแม่เลยทำอะไรก็ได้ ซึ่งถ้าคุณมองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง อาจเข้าใจว่าคนคนนี้ไม่ควรเป็นสนามอารมณ์ของใคร ซึ่งบางทีมันเกิดขึ้นโดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง บางคนหงุดหงิด เหนื่อยจากเรื่องอื่นมา เลยไม่อยากมาเหนื่อยกับลูกอีก ซึ่งการได้ออกแรงมันคือการระบายอารมณ์ อย่างในเชิงจิตวิทยาก็บอกว่า คนที่ลึกๆ ชอบทำร้ายร่างกายคนอื่น มักมองหาความชอบธรรมในการระบายสิ่งนั้น ด้วยการเอาไปลงกับบางสิ่ง เช่น ต่อยมวย จะได้ต่อยอย่างถูกกฎหมาย และการมาลงกับลูกก็ดูจะชอบธรรม เพราะสังคมเรายังมองว่าไม่ผิดเยอะ” วง และเจ กล่าว
“ลูกเชื่อฟัง หรือแค่กลัว” การหาทางรอดจากพ่อแม่ที่เด็กเผชิญ
ความหมายของการสั่งสอนที่ดี คือการทำให้เด็กเรียนรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด รู้ว่าสิ่งไหนเป็นอันตรายต่อตัวเขา และผู้อื่น แล้วพ่อแม่แน่ใจหรือเปล่าว่า ‘ตี’ คือวิธีการสอนที่จะช่วยพัฒนาลูกได้จริงๆ
“มันน่าแปลกที่เด็กต้องกลัวพ่อแม่ แทนที่จะเรียนรู้ว่าการรักพ่อแม่เป็นยังไง ทำไมเราต้องกลัวคนที่เรารู้สึกรักไปพร้อมกันด้วย บางคนกลัวพ่อแม่มากกว่าที่จะรักซะอีก”
คำพูดคมๆ ของเจ นอกจากจะกระแทกใจคนเป็นลูกหลายคน ยังโยงไปถึงทฤษฎีจิตวิทยา เรื่อง Stages of Moral Development ของ ลอเรนซ์ โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) ที่สามารถเทียบเคียงการสั่งสอนลูกในครอบครัวเอเชียได้ วง และเจ อธิบายพร้อมยกตัวอย่างให้ฟังว่าเด็กต่ำกว่า 9 ขวบ ไม่สามารถเข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงห้ามให้ออกไปเล่นกับเพื่อนนานๆ และไม่เข้าใจว่าที่พ่อแม่บอกว่าจะมีคนมาลักพาตัวคืออะไร จึงควรอธิบายให้เขาฟัง หรือถ้าเด็กยังไม่เข้าใจอีก อาจต้องบอกว่า ถ้าเล่นนานเกิน จะไม่พามาเล่นอีก เพื่อหาจุดตรงกลางโดยไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน แต่พ่อแม่บางคนกลับเลือกวางอุบาย เดี๋ยวผีจะพาไปอยู่ หรือตีให้จบเรื่อง กลายเป็นว่าใช้ความกลัวเข้ามาแทน
สำหรับเด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไป คือวัยที่เริ่มมีจริยธรรมรับรู้เหตุผล ถ้าเกิดพ่อแม่สอนด้วยการตี เด็กจะกลัวแค่ว่า ฉันจะไม่ทำผิด เพราะฉันกลัวถูกลงโทษ ไม่ใช่เพราะรับรู้ว่าการกระทำของตัวเองผิดพลาดตรงไหน เช่น เมื่อโตไปอาจคิดว่าการฝ่าไฟแดงเป็นเรื่องที่ไม่ดี ไม่ฝ่าเพราะกลัวโดนลงโทษ แต่พอไม่มีตำรวจอยู่ ก็คิดจะฝ่า เนื่องจากไม่มีชุดความเข้าใจว่าจะทำให้คนอื่นบาดเจ็บ หรือสร้างความเดือดร้อน
“ถ้ามัวแต่สอนว่าห้ามทำผิด ไม่งั้นโดนตี พัฒนาการตามอายุจะชะงักลง พวกเขาจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ที่ต้องไม่ทำผิดเพราะกลัวคนอื่นเป็นทุกข์ กลัวทำให้คนอื่นลำบาก แต่เป็นเพราะกลัวถูกลงโทษ แถมการตีจะได้ผลแค่ระยะสั้น เขาจะหยุดแค่ต่อหน้าพ่อแม่ เวลาที่ไม่เห็นว่าพ่อแม่อยู่ตรงนั้น เขาอาจจะทำพฤติกรรมแบบเดิม นั่นทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะโกหก มีอะไรไม่บอก พ่อแม่ก็หลงดีใจว่าลูกเป็นไปตามที่คาดหวัง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เด็กจะทำอะไรลับหลัง จะออกไปข้างนอกโดยหลอกว่าไปอ่านหนังสือ เกิดความกลัวมากกว่าความเคารพ”
“บ้านไม่ใช่เซฟโซน” นิยามความรักที่เปลี่ยนไป และผลกระทบต่อใจพังๆ
เด็กบางคนรับมือกับความกลัวด้วยการเรียนรู้ที่จะโกหก แต่เด็กบางคนยืนกรานจะดื้อต่อ สู้กลับ หรือ เด็กบางรายด้านชาไปเลย ไม่กลัวที่จะถูกตี เพราะคิดว่าช่างมัน ทำผิดมากสุดแค่โดนด่า โดนตี ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในระยะสั้น และระยะยาวมากมาย นักจิตวิทยาการปรึกษาทั้งสองสรุปคร่าวๆ ดังนี้
ระยะสั้น เด็กจะเครียด เสียใจ ไม่สบายตัว ร้องไห้จนเจ็บคอ บางรายเป็นแผลตามตัว และหยุดทำพฤติกรรมนั้นๆ แต่ในบางคนจะเลือกหลีกเลี่ยงพฤติกรรมด้วยการแอบทำ เพราะเขาไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อย่างแท้จริง
ระยะยาว ผลจากความกลัวจนไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง ทำให้ความไว้ใจที่มีต่อพ่อแม่ลดลง และเมื่อผู้ปกครองไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เด็กจะไม่รู้สึกว่าได้รับความรักจากคนเหล่านี้ ถึงแม้ปัจจุบันพ่อแม่จะเปลี่ยนไปจากอดีต เลิกทำร้ายแล้ว แต่บาดแผลในใจลูกยังลบไม่ออก ทำให้ความสัมพันธ์จางลง เช่น เมื่อนึกถึงอดีตว่าเคยโดนตีเพราะไปเที่ยวกับเพื่อน ปัจจุบันไปเที่ยวกับแฟนจึงไม่อยากเล่า
“การอยู่กับความทรงจำเลวร้าย ทำให้เด็กบางคนที่เคยโดนตีหนักๆ ตอนเด็ก มีแนวโน้มทำร้ายคนอื่นตอนโต เพราะเขาเข้าใจว่า การตีหมายถึงการถูกรัก นิยามความรักของเขาเลยมองการทำร้ายกัน คือความรักรูปแบบหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถเข้าใจความหมายของความรักได้เลย” วงยังเสริมต่อว่ายังมีเด็กหลายคนโตขึ้นไปแล้วหยุดวัฏจักรความคิดแบบนี้ได้ และตั้งใจว่าจะไม่ทำแบบนั้นกับลูกของตัวเอง แต่บางครั้งอาจเผลอทำโดยไม่ตั้งใจ ตามความเคยชิน
แผลใจที่ฝังลึกส่งผลให้บางรายพัฒนาเป็นอาการทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า และไบโพลาร์ เนื่องจากครอบครัวที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่กดดัน แต่ในบางรายอาจรับมือกับอาการเก็บกดได้ โดยไม่พัฒนาเป็นอาการทางจิตตอนโตขึ้น เพราะได้รับการซัพพอร์ตทางอื่นๆ จากคนรอบข้าง (คนที่ไม่ได้ลงมือตี) หรือคนที่ตีแสดงความรักมากกว่าทำร้าย
“เราเคยถูกตีมาก่อน เลยเข้าใจคำถามดีว่าบางคนถูกตีแล้วทำไมถึงโตมาเป็นปกติ จะบอกว่ามันไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีอาการทางจิตอะไรเลย เพียงแต่ว่ายังไม่ถึงขั้นป่วยเท่านั้น ทุกคนมีอาการบางอย่างลึกๆ เช่น คิดมาก กลัว ระแวง ไม่กล้าเล่าอะไรให้ใครฟัง” เจว่าแบบนั้น
“รักลูกให้ถูก รักลูกไม่ตี” วิชาแสดงความรักที่พ่อแม่ควรเข้าใจ
เราบอกเป็นข้อๆ ไม่ได้ว่าการรักลูกที่ดีเป็นอย่างไร แต่พ่อแม่สามารถตระหนักรู้ได้ว่าการรักลูกแบบไหนที่ไม่เป็นประโยชน์ และควรแก้ไข
“การแสดงออกตรงๆ บอกไปเลยว่าทำแบบนี้เป็นห่วงนะ คือการแสดงความรักอย่างตรงไปตรงมา และถูกวิธีที่สุด เช่น ลูกเล่นเกมทั้งวัน ทำให้แม่เป็นห่วง ควรตกลงหาตรงกลางกับลูก บางทีลูกอาจจะเรียนได้ปกติพร้อมๆ กับเล่นเกมที่ลูกชอบได้ ซึ่งมันดีกว่าเดินเข้าไปแล้วด่า ตี เด็กจะงงว่า ทำไมแม่ต้องพรากความสุขจากการเล่นเกมของฉันไป” วงพูดจบ เราก็เอ่ยปากถามทันทีว่า ถ้าอธิบายแล้วลูกยังไม่ฟัง พ่อแม่ควรทำอย่างไร
“ถ้าเตือนบ่อยๆ แล้วยังเป็นแบบเดิม ครั้งหน้าผู้ปกครองอาจต้องทำข้อตกลงการลงโทษ แต่การลงโทษต้องไม่ใช่การตี หรือสิ่งที่จะทำให้เขาเจ็บทางร่างกาย และควรกำหนดขอบเขตการลงโทษ ชี้แจ้งรายละเอียดว่าจะโดนอย่างไรบ้าง”
วิธีแรก ‘การเอาเข้า’ คือการเพิ่มสิ่งที่เด็กไม่ชอบ เช่น เด็กหายไปโดยไม่บอก อยู่เฉยไม่ได้ อาจสั่งให้ทำการบ้าน ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ หรือถ้าเด็กไม่ชอบออกกำลังกาย ก็ให้ออกกำลังกายตามเวลาที่ตกลงกันไว้
วิธีที่สอง ‘การเอาออก’ คือการเอาสิ่งที่เขาสนใจออก เช่น เด็กบางคนชอบการ์ตูน และของเล่น เมื่อเด็กเล่นซน ผู้ปกครองอาจสร้างข้อตกลงว่าหากทำแบบนี้จะไม่ให้ดู หรือเอาของเล่นไปเก็บ ตามเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม การลงโทษควรเป็นวิธีสุดท้ายที่ทำ และพ่อแม่ควรเรียนรู้ที่จะชม หรือให้รางวัลลูกบ้างแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ตาม อีกทั้งหากเริ่มเข้าใจความผิดพลาดของตัวเอง การขอโทษลูกก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะขอโทษคนอื่นได้เหมือนกัน หรือถ้าคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดีตอนนี้ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กก็เป็นเรื่องที่ควรทำนะ
“การที่พ่อแม่ตีลูกมันไม่ได้บอกว่าเด็กมีปัญหา แต่ตัวพ่อแม่นั่นแหละที่มีปัญหาในการเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ และเห็นแก่ตัวโดยใช้การทำร้ายมาเป็นข้ออ้าง ดังนั้น อย่าละเลยความรู้สึกของลูกอีกเลยครับ” ทั้งคู่ทิ้งท้าย