บนโลกทุนนิยมที่คนเกิดมามีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน และความเหลื่อมล้ำสูง ไม่เว้นแต่ในที่ทำงาน เหล่าพนักงานออฟฟิศ หรือลูกจ้างหลายบริษัท ต่างต้องผันตัวเป็นไฟต์เตอร์ แข่งกันทำงานหนักเกินเวลา มีเป้าหมายพิสูจน์ตัวเอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับ หรือเชิดชูจากเจ้านาย จนกลายเป็นความปกติ (ที่ไม่ควรปกติ) ในหลายๆ บริษัท เพราะเมื่อไหร่ที่ไม่ได้รับคำชม อาการกลัวถูกทิ้งอาจตีตื้นขึ้นมาในความรู้สึก
“โห เมื่อคืนทำงานจนถึงเที่ยงคืนเลยเหรอ เจ๋งมาก”
“พี่ขอบคุณมากนะ ที่รักงานขนาดนี้”
ค่านิยมทำงานเยอะแล้วดูคูล ดูเท่ ดูทุ่มเท ไม่ได้เพิ่งจะมี แต่รากเหง้าของปรากฏการณ์นี้โผล่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ซึ่งชาวโปรเตสแตนต์ผิวขาวในยุโรปปลูกฝังค่านิยมว่าการทำงานหนัก และแสวงหาผลกำไร คือการมีคุณธรรม หรือที่เรียกว่า ‘Protestant work ethic’
วัฒนธรรมการทำงานหนักเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีชื่อเรียกวัฒนธรรมการอวยยศคนทำงานหนักว่าเป็นคนมีเกียรติว่า ‘Karoshi’ (過労死) ซึ่งมีความหมายว่าความตายจากการทำงานหนัก โดยมีที่มาเริ่มแรกจาก วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 ญี่ปุ่นปรับโครงสร้างแรงงานของประเทศโดยมองว่าการทำงานมากกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเรื่องปกติ จนทำให้ช่วงปี 1990 เริ่มมีพนักงานเสียชีวิตเพราะทำงานหนัก ส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง หรือบางรายตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถทนต่อความกดดันจากหัวหน้างานได้
ตรงกับการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environment International เขียนโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ตีพิมพ์ในปี 2021 นี้ว่า ในแต่ละปีจะมีสามในสี่ของหนึ่งล้านคน เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองจากการทำงานเป็นเวลานาน และมีคนเสียชีวิตจากการทำงานหนักมากกว่าคนเป็นโรคมาลาเรียเสียอีก
องค์การอนามัยโลก ระบุว่า คนที่ทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานตามมาตรฐานการทำงาน (35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และในการศึกษาครั้งแรกในปี 2016 ทางหน่วยงานพบว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 745,000 คนจากการทำงานหนักเกินไป
นอกจากจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแล้ว ยังทำให้หลายคนเกิดภาวะหมดไฟ ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดภาวะนี้เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน โดยไม่สามารถจัดการได้ มีลักษณะอ่อนล้าทางกายและใจ รู้สึกแง่ลบเกี่ยวกับงาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง นำไปสู่การตั้งคำถามว่า “มาทำงานที่นี่ทำไมแต่แรก”
แต่เมื่อโลกหมุนไป สังคมถูกขับเคลื่อน ชาวนิวยอร์กที่เคยมี ‘a cult’ (ลัทธิ) หรือชื่อเรียกผู้อุทิศตนเพื่อองค์กรเนื่องจากหลายคนโรแมนติไซซ์การทำงานหนักเป็นเรื่องตื่นเต้น แสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าตัวเองเป็นคนเก่ง คนมีความรู้ ผ่านโพสต์บนอินสตาแกรมว่าเรากำลังทำงานหนัก โดยเฉพาะคนชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง การศึกษากลับพบว่า สหรัฐอเมริกามีประชากรน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังต้องเผชิญกับชั่วโมงทำงานแสนยาวนาน
วัฒนธรรมการทำงานหนักเกินจนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจึงตกไปเป็นของคนงานวัยกลางคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในนั้นจ้า) และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ส่วนคนยุโรปกลับมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากทุกคนต่างสนุกกับการเฉลิมฉลองวันหยุดยาว และให้ความสำคัญกับเวลาพักผ่อน แถมยังออกกฎหมายห้ามพนักงานทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ขืนไทยแลนด์ยังเป็นแดนทำงานหนัก แต่ค่าแรงต่ำ บริษัทที่มีวัฒนธรรมแปลกๆ แบบนี้ คงจะยกย่องคนทำงานหนักเกินเวลาว่าเป็นตัวปังในออฟฟิศ เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษบางอย่างมากขึ้น จนเหล่าแรงงานกลายเป็นนักสะสมคำชม ดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองดูดีในสายตาคนรอบข้าง แม้จะลางานเพื่อพัก แต่อีกใจยังกลัวคนอื่นคิดว่าอู้ หรือสงสารเพื่อนร่วมงาน สุดท้ายเป็นลมล้มตึง ป่วยเข้าโรงพยาบาลจริงๆ เป็นแน่ แล้วเจ้านายก็อาจจะไม่ได้มารับผิดชอบชีวิตแรงงานตัวเล็กๆ ด้วยน่ะสิ
มันคุ้มกับที่แหกขี้ตาทำงานหนักไหมเนี่ย
เราเชื่อว่ายังมีบริษัทไทยที่ไม่ซื้อวัฒนธรรมองค์กรกดขี่แรงงานอยู่บ้าง และคุณอาจจะต้องเอาค่านิยมเดิมๆ ออกจากหัว เพราะทำงานหนักจนสภาพร่างกายเริ่มจะเป็นซอมบี้ สภาพจิตใจเหมือนดอกไม้เฉาๆ มันไม่ปกติ และไม่เคยปกติ
ดังนั้น ใครกำลังเผชิญสภาวะนี้ ลองพิจารณาดูอีกทีก็ได้นะ! ก่อนคุณจะตุยเย่
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/worklife/article/20210507-why-we-glorify-the-cult-of-burnout-and-overwork
https://www.bbc.com/worklife/article/20210518-how-overwork-is-literally-killing-us
https://www.npr.org/2021/05/17/997462169/thousands-of-people-are-dying-from-working-long-hours-a-new-who-study-finds
https://observatory.tec.mx/edu-news/karoshi-phenomenon
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0160412021002208
https://www.wired.co.uk/article/karoshi-japan-overwork-culture