สำหรับคนทำงาน การได้ไปเที่ยวออกเดินทางคือรางวัลชุบชูใจที่กำลังเหนื่อยล้าให้กลับมาลุยต่อไหว นอกจากความรู้สึกที่ทุกคนคงสัมผัสได้ข้างในแล้วยังมีตัวอย่างงานวิจัยยืนยันว่าช่วยได้จริง อย่างเช่นงานวิจัยของ Etzion (2003) ที่เปรียบเทียบความเครียดและภาวะหมดไฟในกลุ่มคนทำงานที่ไปเที่ยวประจำปีและไม่ไป พบว่าการมีวันหยุดประจำปีช่วยชะลอภาวะหมดไฟให้กลับมาช้าลงได้ หรือการศึกษาระยะยาวของ Gump และ Matthews (2000) ที่พบว่าความถี่ในการไปเที่ยวประจำปีสัมพันธ์กับการลดลงของความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในกลุ่มตัวอย่างชายวัยกลางคนที่เสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจ
ดังนั้นจะบอกว่าการได้ออกไปเที่ยวช่วยให้เรามีพลังใช้ชีวิตมากขึ้นทั้งภายนอกและภายในก็คงไม่เกินจริง แต่พอเราต้องกลับสู่โลกการทำงาน ผลลัพธ์จากการไปเที่ยวไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป มีตัวอย่างงานวิจัยปี 2010 ที่ศึกษาในกลุ่มคนทำงานชาวดัตช์ที่ไปเที่ยวในช่วงกีฬาหน้าหนาวพบว่า ระหว่างวันหยุดกลุ่มตัวอย่างมีสุขภาวะดีขึ้น (วัดผ่านตัวบ่งชี้ 5 อย่าง ได้แก่ สถานะสุขภาพ อารมณ์ ความตึงเครียด ระดับพลังงาน และความพึงพอใจ) แต่ภายในสัปดาห์แรกที่กลุ่มตัวอย่างกลับมาทำงาน ทุกอย่างก็กลับสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนไปเที่ยวอย่างรวดเร็ว
ในรอยต่อของการกลับมาทำงาน บางรายอาจประสบภาวะ Post-Vacation Depression ซึ่งอาการไม่ได้มีแค่ความซึมๆ เซาๆ ไม่อยากทำงาน แต่ยังอาจรู้สึกเครียด กังวล หงุดหงิด เสียสมาธิ หรือแม้แต่มีอาการนอนไม่หลับ เพราะทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าสภาพแวดล้อมการทำงานแต่ละคนมีสิ่งกระตุ้นความเครียดแตกต่างกันไป แต่ปัญหาอาจเกิดต่อเนื่องไปอีกหากเรารู้สึกผิดหรือขัดใจตัวเองที่ทำงานไม่ได้เต็มที่ทั้งที่เพิ่งไปชาร์จแบตมา สำหรับบางคนมันอาจหมายถึงการเสียวันทำงานไปฟรีๆ หรือสูญเสียรายได้ของวันนั้น ทำให้ยิ่งเครียดและรู้สึกกดดัน ปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ควรมองข้าม
ดังนั้นประเด็นแรกที่ผู้เขียนอยากบอกคือ เมื่อรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในสภาวะอารมณ์ของเรา หรือไม่สามารถทำตามความคาดหวังของตัวเองขณะนั้นได้ ชวนกลับมาให้เวลาตัวเองได้ปรับตัว และเตรียมตัวเพื่อกลับมาทำงานสักหน่อย ไม่จำเป็นว่าทันทีที่ถึงบ้านหรือออฟฟิศแล้วจะต้องทำทุกอย่างให้ได้อย่างที่คิดว่า ‘ควร’ เป็น เพราะนี่คือภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติสำหรับคนทำงานแทบทุกคน แทนที่จะรีบกระโจนสู่สมรภูมิการทำงาน ให้เวลาตัวเองเตรียมพร้อมและวางแผนการทำงานก็จะช่วยบรรเทาความรู้สึกท่วมท้นได้
นอกจากปรับตัวและจัดระเบียบงาน นักวิชาการเองก็มีคำถามถัดมาเช่นกันว่าถ้าอย่างนั้นจะมีวิธีไหนไหมที่ช่วยยืดอายุผลลัพธ์ดีๆ จากการไปเที่ยวให้อยู่กับเรานานขึ้น แทนที่จะจำกัดอยู่แค่ 1-3 สัปดาห์อย่างที่เคย การศึกษาพบว่าการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพและได้ออกแรงใช้ร่างกายระหว่างไปเที่ยวช่วยยืดอายุผลลัพธ์ได้ดีกว่า ตรงกับการศึกษาที่พบว่าการทำกิจกรรมที่ได้ขยับเนื้อขยับตัว เช่น ยืดเหยียดและออกกำลังกายเบาๆ กับกิจกรรมฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย (relaxation techniques) ในช่วงพักเบรกระหว่างวัน ช่วยเติมพลังได้ดีกว่าการพักทั่วไป คนทำงานจึงไม่ควรมองข้ามคุณค่าของช่วงเวลาพัก ลองเติมกิจกรรมที่ช่วยดูแลตัวเองลงไปดู
อีกกิจกรรมหนึ่งที่พบว่าช่วยได้เช่นกันคือการฝึกสติ ซึ่งมีการศึกษาจำนวนมากระบุว่า เป็นกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดและดูแลจิตใจได้ดี สำหรับผู้ไม่นับถือศาสนาหรือไม่ใช่ชาวพุทธ ผู้เขียนอยากเสนอว่ากิจกรรมฝึกสติในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องทำภายใต้หลักแนวคิดทางศาสนาเสมอไป แต่ชวนมองเป็นกิจกรรมดูแลตัวเองที่มีผลการศึกษาเชิงประจักษ์รับรอง มีตัวอย่างงานวิจัยปี 2021 ของ Blasche, deBloom, Chang และ Pichlhoefer ที่ศึกษาผลจากการผสมผสานกิจกรรมฝึกสติเข้าไปในวันหยุด พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้ฝึกสติระหว่างวันหยุดมีระดับสติ (mindfulness) และสุขภาวะทางอารมณ์ (emotional well-being) ที่สูงขึ้น ทั้งยังมีระดับความเหนื่อยล้าน้อยกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไปเที่ยวตามปกติ แม้จะกลับมาจากการพักผ่อนเป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์แล้วก็ตาม
ถ้าอยากเริ่มทำกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อดูแลตัวเอง คำแนะนำแบบกันเองจากผู้เขียนคือให้ลองทำแบบไม่ต้องเล่นใหญ่ ไม่ต้องฝืนทำอย่างเข้มข้นเพื่อให้เห็นผลลัพธ์เป๊ะปัง ลองทำทีละเล็กละน้อยสั่งสมไป ค่อยๆ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมตามความสนใจ วันไหนไม่ไหวก็ฟังความต้องการตัวเองและมีกิจกรรม self-care ในรูปแบบอื่นๆ ถัดมาคือคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ให้รู้ว่าร่างกายและจิตใจของเราตอบรับกิจกรรมแบบไหน อะไรช่วยให้ผ่อนคลายและมีพลังงานในแบบของเรา
การกลับมาสอบถามตัวเองเรื่อยๆ แบบนี้ช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันและซึมซับพลังงานจากการดูแลตัวเองได้เต็มที่ ทั้งในยามที่ไปเที่ยวและกลับมาแล้ว ทดไว้ในใจว่าเราไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดหรือเพื่อให้เรา productive มากขึ้นเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลตัวเองอย่างยั่งยืน ขอแค่เราเริ่มใส่ใจตัวเองและไม่ทอดทิ้งตัวเองอย่างเคยก็เป็นก้าวแรกที่ดีมากแล้ว
อ้างอิง
https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/10615806.2003.10382974 https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11020089/ https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/02678373.2010.493385 https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0246038
Author
นักเขียน นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา MASTERPEACE