LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

อยากร้องไห้ แต่ไม่มีน้ำตา ความเศร้าที่ปราศจากหลักฐาน อาจไม่ได้ทุกข์น้อยไปกว่าการร้องไห้หนักๆ

หลักฐานของความเศร้าที่คนคุ้นชิน ปรากฏในรูปแบบร่องรอยของคราบน้ำตาบนใบหน้า ร้องไห้ แปลว่าเจ็บปวด ร้องไห้แปลว่าเสียใจ ส่วนใครไม่ร้องออกมาสักหยด บางครั้งคนก็ตัดสินกันไปเองว่าพวกเขาช่างแข็งแกร่ง มูฟออนเร็ว หรือคงไม่เศร้าอะไรเท่าไร ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ก็ไม่เห็นว่าจะผิดตรงไหน แต่อีกด้านใครจะรู้เล่าว่าการไม่ร้องไห้ไม่ได้แปลว่าไม่เสียใจ หรือตัดสินได้เลยว่าคนคนนี้เฉยชาต่อความรู้สึก ยังมีหลายคนที่ผ่านเรื่องแสนเศร้ามา และอยากระบายความเศร้าผ่านการร้องไห้ ทว่ากลับไม่มีน้ำตาออกมาแม้แต่หยดเดียว

นี่คืออาการ “อยากร้องไห้ แต่ไม่มีน้ำตา” ว่าแต่ทำไมถึงไม่มีล่ะ? ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ คงต้องเริ่มกันที่เหตุผลที่ผู้คนพยายามจะร้องไห้กันก่อน ซึ่งส่วนมากคนที่อยากร้องไห้มักจะมีอารมณ์เศร้า เหงา ซึม ติดค้างอยู่ในใจ เพียงแต่เค้นมันออกมาไม่หมด จึงต้องการระบายอารมณ์เหล่านั้นออกมา ก็ต้องบอกว่ามาถูกทาง เพราะการร้องไห้จะช่วยหลั่งฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ออกซิโทซิน และเอ็นดอร์ฟิน ที่บรรเทาความเจ็บปวดทางกาย และใจ แถมยังช่วยลดฮอร์โมนความเครียดอย่าง ฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคทรอปิกได้ นอกจากนี้ ไมเคิล เฉิน (Michael Chen) แพทย์ และผู้อำนวยการแพทย์ประจำ One Medical กล่าวว่า “การร้องไห้สามารถช่วยด้านอารมณ์ของเราได้ ทั้งการพัฒนาการนอนหลับ ลดการอักเสบของร่างกาย และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน”

แม้การร้องไห้จะดีต่อกาย ดีต่อใจ แต่เมื่อร้องไห้ไม่ออก ย่อมทำให้เกิดความอึดอัด ซึ่งสาเหตุของมันก็มีตั้งแต่ด้านสังคม ด้านกลไกทางร่างกาย และด้านจิตวิทยา ที่หล่อหลอมให้คนคนหนึ่งแม้จะเศร้าหมองแค่ไหน แต่กลับไม่ร้องไห้ออกมา

- หรือสังคมคาดหวังให้คนเข้มแข็ง และการร้องไห้ถูกตีตราว่าอ่อนแอ? เข้มแข็งแค่ไหนก็อ่อนแอได้ และแม้จะอ่อนแอ ก็ไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นจะมาต่อว่า กล่าวโทษ ในอดีต หรือปัจจุบันเอง ยังมีคนที่บอกกับคนที่กำลังเศร้าว่า อย่าร้องไห้เลย ต้องเข้มแข็ง แม้บางคนจะมีเจตนาที่ดีอยากเชียร์ให้ลุกขึ้นออกจากจุดเดิม แต่ค่านิยมร้องไห้ = อ่อนแอ และ อ่อนแอ = ผิด มันฝังลึก และแทรกซึมอยู่ในสังคมจนทำให้คนไม่กล้าร้องไห้ เพราะกลัวถูกตัดสินไม่ว่าจะจากคนใกล้ตัว หรือไกลตัว เหมือนเราเป็นผู้แพ้ในสนามนี้ โดยลืมไปว่า เราจำเป็นต้องลงแข่งวัดระดับความนิ่งเฉยต่อเรื่องเศร้าโศกกับใครด้วยงั้นเหรอ

“การร้องไห้คือภาพสะท้อนของการตอบสนองทางชีวภาพในมนุษย์ส่วนใหญ่ต่อสภาวะทางอารมณ์ เช่น ความเศร้า ความโกรธ และความสุข เมื่อมนุษย์เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เราเรียนรู้ที่จะจัดการ และตอบสนองต่อการร้องไห้ของเราผ่านการเรียนรู้ และผ่านความสัมพันธ์เชิงลบกับคนในสังคม เช่น ความน่าอับอาย และความคาดหวังทางวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลทำให้คนคนหนึ่งอาจร้องไห้ได้ง่ายเมื่อเทียบกับอีกคนหนึ่ง” ไมเคิล เฉินกล่าว ซึ่งอาจแปลความหมายสั้นๆ ได้ว่า ประสบการณ์ที่คุณเจอในสังคมที่โตมา อาจมีผลต่อการร้องไห้ บางคนเจอเพื่อน หรือครอบครัว ที่คอยปลอบประโลมความเศร้า และเผยแง่คิดเชิงบวกว่าการร้องไห้นั้นไม่ผิด คนเรามีสิทธิ์เศร้าได้ ก็อาจจะร้องไห้ได้มากกว่า คนที่ถูกคนรอบตัวคอยบังคับให้เข้มแข็งตลอดเวลาจนพอมีช่วงให้ร้องไห้จริงๆ ก็ร้องไม่ออกแล้ว

เราก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่า การกลั้นร้องไห้ในระยะยาวสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวลได้ โดยแมรี่ จอย (Mary Joye) นักบำบัด อธิบายว่าที่ระยะยาวน้ำตาเราจะไม่ไหลหากถูกกดเอาไว้เป็นเพราะ ระบบลิมบิก (Limbic System) ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกันกับส่วนอื่นๆ ของสมองที่ประมวลผลทางอารมณ์ จะสามารถถูกรบกวน และทำให้การทำงานของระบบประสาทที่แข็งแรงของเราบกพร่อง ซึ่งเธอก็บอกว่า “ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าการไม่รู้สึกอะไรอีกเลย” ก็น่ากังวลไม่ใช่น้อย

- หรือบางคนมีกลไกป้องกันตนเอง ต่อความโศกเศร้า? ดร.เจนิกา เองเลอร์ (Jenicka Engler) นักจิตวิทยา นักประสาทวิทยา และนักวิจัยโรคซึมเศร้า พูดถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “บางคนพัฒนาความรู้สึกของตัวเองต่อระยะห่างทางอารมณ์ และความชินชา จากอารมณ์ของพวกเขา นี่คือกลไกการป้องกันทางจิต หรือ Defense Mechanism” ข้อนี้อาจบอกได้ว่า หลายครั้ง เพื่อที่จะใช้ชีวิตต่อไปให้รวดเร็วที่สุด เราจำเป็นต้องกดอารมณ์ตัวเองไว้ในส่วนลึก เพราะโลกเราแทบจะบังคับว่าหากเศร้าวันนี้ พรุ่งนี้ยังไงก็ต้องไปทำงานต่อ ยิ่งถ้ามีงานสำคัญในวันรุ่งขึ้น ผู้คนยิ่งต้องทำตัวเองให้เป็นปกติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจากที่รู้ตัวว่าข่มอารมณ์ไว้ ทำไปนานๆ เข้าอาจพัฒนากลายเป็นทำโดยไม่รู้ตัว หรือร่างกายจำได้แล้วว่าต้องทำ

“มันเป็นกลไกการรับมือที่ค่อนข้างไม่เหมาะสม ที่จะสร้างกำแพงกั้นกลางระหว่างประสบการณ์ทางอารมณ์ที่อยู่ข้างในของคุณ และมันจะไม่เป็นผลดีเมื่อเวลาผ่านไป” ดร. เองเลอร์เสริม

- หรือกำลังช็อกกับสิ่งที่เกิดขึ้นจนทำตัวไม่ถูก และส่งผลต่อสุขภาพจิต? เราคงเคยเห็นประสบการณ์ของคนรอบตัวกันมาบ้าง เวลาที่เจอเรื่องสะเทือนใจมากๆ แต่ทำตัวไม่ถูก มึน งง สับสน แล้วผ่านไปสักระยะเพิ่งจะรู้สึกเศร้าขึ้นมา ภาวะนี้เกิดจากอารมณ์ช็อก เพราะคุณอาจไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์นั้นมันจะเกิดขึ้น ทำให้บางคนมีภาวะซึมเศร้า เป็น PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) หรือความผิดปกติหลังเกิดบาดแผลทางใจ ดร.จาเมกา วู้ดดี้ คูเปอร์ (Jameca Woody Cooper) อธิบายว่า “บาดแผลทางใจสามารถทำให้บุคคล และสมองของเขาชัตดาวน์ลง ราวกับว่าอยู่ในโหมดป้องกัน” นำไปสู่ความรู้สึกชาทางอารมณ์ที่ไม่สามารถร้องไห้ออกมาได้

- หรือคุณเป็นโรคตาแห้งโดยไม่รู้ตัว?! เหตุผลที่หลายคนนึกไม่ถึงอาจไม่ได้มาจากสุขภาพจิตอย่างเดียว บางทีสุขภาพกายของเรานี่แหละ ที่เราไม่ได้ตรวจเช็กดูอย่างถี่ถ้วน ซึ่งก็มีภาวะที่ชื่อ Keratoconjunctivitis Sicca ที่ยับยั้งการผลิตน้ำตา ดวงตาผลิตน้ำตาในปริมาณที่น้อย เศร้าแค่ไหนคุณก็ร้องไห้ไม่ออก ซึ่งก็ควรลองสังเกตอาการดูกันด้วยนะ

ถ้าลองสำรวจตัวเองแล้วพบว่า น่าจะเกี่ยวเนื่องกับสภาพจิตใจ แรงกดดันจากสังคม หรือกลไกการป้องกันตัวเองที่ทำให้เราต้องชะงักความรู้สึก ดร.เองเลอร์ แนะนำว่าวิธีที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่งที่จะปลดปล่อยอารมณ์ และร้องไห้ออกมาได้คือการ ‘พูดคุย’ กับคนอื่น พูดออกมาเลยดังๆ อาจทำให้กำแพงในใจคุณตื้นลงได้ ส่วนถ้าใครไม่อยากจะคุยกับใครเลยช่วงเศร้าๆ แต่ยังอยากร้องไห้ อีกทางหนึ่งที่เบสิกมากๆ คือการดูหนังเศร้า หรืออ่านหนังสือเศร้า โดย ดร. วู้ดดี้ คูเปอร์ กล่าวว่า "มีความเชื่อมโยงระหว่างภาพยนตร์เน้นอารมณ์ กับการปล่อยฮอร์โมนออกซิโตซินในสมอง" ซึ่งออกซิโตซินเป็นฮอร์โมน ‘การกอด’ ที่จะเพิ่มความรู้สึกไว้วางใจ และรู้สึกสบายใจมากพอที่จะร้องไห้ เพราะหากสังเกตดีๆ ก็มีเพื่อนรอบตัวหลายคนเหมือนกัน ที่เลือกดูหนังเศร้าๆ ตอนที่อยากร้องไห้

แต่ถึงอย่างไร ในมุมมองของนักบำบัดอย่าง แมรี่ จอย เธอมองว่าการดูหนังเศร้า การอ่านหนังสือเศร้า หรือการฟังเรื่องเศร้าของคนอื่น…“บางครั้ง การร้องไห้จากเรื่องราวความเจ็บปวดของผู้อื่นนั้นดูจะง่ายกว่าการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดของเราเอง ถึงกระนั้น มันก็ช่วยระบายอารมณ์ที่ถูกกักขังไว้ได้บ้าง” แต่หากปลายทาง ทำทุกหนทางแล้วก็ยังรู้สึกร้องไห้ไม่ออก และคิดว่ามันเป็นปัญหาที่กระทบชีวิตประจำวันของเรา การได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยตรง อาจช่วยบรรเทาความรู้สึก และปลดล็อกบางอย่างในตัวคุณได้

สิ่งที่อยากบอกกับผู้อ่านอันเป็นที่รักของเราในย่อหน้าสุดท้ายนี้ มีเพียงกำลังใจเล็กๆ ที่ขอให้ทุกคนผ่านพ้นทุกเรื่องไปได้ น้ำตา และการร้องไห้ อาจเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานความเศร้า แต่ใช่ว่าคนที่ไม่ร้องไห้ หรือร้องไห้แค่ไม่กี่วันจะไม่รู้สึกอะไร ใครเล่าจะรู้ความรู้สึกข้างในได้ดีกว่าตัวเราเอง จริงไหมล่ะ

อ้างอิง:

https://www.mindbodygreen.com/articles/why-cant-i-cry/

https://www.wellandgood.com/why-you-struggle-cry/ 

Author

PATCHSITA PAIBULSIRI

Content Creator

Related Stories

อยากร้องไห้ แต่ไม่มีน้ำตา ความเศร้าที่ปราศจากหลักฐาน อาจไม่ได้ทุกข์น้อยไปกว่าการร้องไห้หนักๆ

wellness

อยากร้องไห้ แต่ไม่มีน้ำตา ความเศร้าที่ปราศจากหลักฐาน อาจไม่ได้ทุกข์น้อยไปกว่าการร้องไห้หนักๆ

MIRROR'sGuide

ราคาสินค้าอาจแตกต่างตามช่วงเวลาและโปรโมชั่น
โปรดอ้างอิงจากราคาปลายทางของร้านค้าขณะสั่งซื้อ