Free Bleeding คือการปล่อยให้เมนส์ไหลออกมาโดยไม่ใช้ผ้าอนามัยหรือถ้วยอนามัยใดๆ มาซึมซับหรือรองรับไว้ นี่เป็นมูฟเมนต์เล็กๆ ของคนที่ต้องการปลดแอกเมนส์ จากการถูกตีตราว่าเป็นของต่ำ และ “การเป็นเมนส์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เมนส์เลอะก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรู้สึกผิด” รวมถึงส่งเสียงออกไปว่าผลิตภัณฑ์รองรับประจำเดือน มีทั้งผลกระทบด้านสุขภาพสำหรับบางคน และเป็นภาระทางค่าใช้จ่ายสำหรับใครอีกหลายคนด้วย
Free Bleeding ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อย่างไรก็ยังห่างไกลจากความนิยมกระแสหลักอยู่มาก เพราะไม่ว่าจะเป็นคนมีเมนส์หรือไม่ และต่อให้จะเข้าใจดีว่ามันก็เป็นเพียงเลือดตามปกติ ไม่ใช่เลือดที่สกปรก หลายคนก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะรู้สึกถึงความเลอะเทอะเหนอะหนะ พูดง่ายๆ ก็คือมันยากที่จะปฏิบัติในชีวิตจริง เพราะการมีเลือดเลอะอยู่กับตัวไม่ว่าจะออกมาจากช่องทางไหน ก็ย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตไม่มากก็น้อย
วันนี้เราจึงอยากพูดถึงคนที่กระทำการ Free Bleeding อย่างจริงจังตั้งใจ และความตั้งใจของพวกเธอนั้นนับว่าน่าสนใจมากทีเดียว
ไคแรน คานธี (Kiran Khandi) คือผู้หญิงที่ตั้งใจ Free Bleed ในการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 2015 เธอวิ่งไปตามเส้นทางโดยสวมเพียงกางเกงชั้นในและกางเกงวิ่ง เลือดไหลออกมาตามขาของเธอท่ามกลางสายตาผู้คนมากมาย จนเธอถูกก่นด่าว่า ‘อุบาทว์’ หรือ ‘ไม่เป็นผู้หญิงเอาซะเลย’ แต่เธอหาได้แคร์ไม่
เมนส์เธอมาในคืนก่อนการแข่งขัน และเธอพบว่าการใช้ผ้าอนามัยพร้อมกับการวิ่งมาราธอน 2 ไมล์ นั้นมันไม่สะดวกสบาย และมันก็ไม่ยุติธรรมเลยที่ใครสักคนต้องพลาดโอกาสที่ตั้งใจไว้เพียงเพราะการเป็นเมนส์ เธอจึงตัดสินใจ Free Bleed “เพื่อพี่สาวน้องสาวชาวเรา ที่ต้องทุกข์ทนจากการเป็นเมนส์”
คานธียังเสริมอีกว่า “ร่างกายผู้หญิงไม่ได้มีไว้เพื่อให้สังคมวิจารณ์หรอกนะ” เธอย้ำว่าผู้หญิงทุกคนสามารถสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับร่างกายตัวเองได้ด้วยตัวเอง และการ Free Bleed ของเธอในครั้งนั้นก็ยืนยันถึงอำนาจที่ว่าได้เป็นอย่างดี
อีกคนที่อยากพูดถึงก็คือเชย์ลิน เวด (Shaylyn Wade) ที่ปัจจุบันอายุ 30 ปี เธอระบุว่าเธอไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์รองรับประจำเดือนใดๆ มานานกว่า 15 ปีแล้ว
เธอเป็นเมนส์ครั้งแรกตอนอายุ 14 และพออายุ 15 ปีก็ต้องเข้าไปอยู่ในสถานกักกัน ซึ่งที่นั่นไม่อนุญาตให้ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด (เพราะเคยมีคนกลืนมันลงไปเพื่อฆ่าตัวตาย) สิ่งที่ใช้ได้คือผ้าอนามัยแบบแผ่น ซึ่งเวดเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ทั้งเป็นผื่นแดงและคันยิบๆ เธอจึงตัดสินใจไม่ใส่มันเสียเลย
เธอใช้ชีวิตในสถานกักกัน 3 ปี เมื่อออกมาแล้วเธอก็ยังคง Free Bleed อยู่ เพราะเธอพบว่ามันทำให้รู้จักและเชื่อมโยงกับร่างกายตัวเองได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังประหยัดเงินด้วย เวลาเป็นเมนส์ หากอยู่บ้าน เธอจะคอยอยู่ไม่ไกลจากห้องน้ำ เมื่อรู้สึกได้ว่าลิ่มเลือดกำลังจะไหลก็เข้าไปล้าง “มันจะมาเป็นระลอกน่ะ” นอกจากนั้นก็แต่งชุดอยู่บ้านสบายๆ ตามปกติ เมื่อจำเป็นต้องออกไปข้างนอก เธอก็จะพกเสื้อแขนยาวไว้มัดรอบเอวเพื่อกันไม่ให้รบกวนสายตาคนที่ไม่อยากเห็น แม้เธอจะรู้ดีว่าจริงๆ แล้วเธอไม่จำเป็นต้องอายด้วยซ้ำ
ตัวอย่างที่ยกมานับเป็นความกล้าหาญและการก้าวผ่านการถูกตีตราครั้งใหญ่ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะทำได้หรือรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำ แต่เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าความสุดโต่งเหล่านั้น มีส่วนช่วยในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเมนส์ได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง
https://www.healthline.com/health/free-bleeding#pads-and-panty-liners
https://www.insider.com/free-bleed-period-15-years-detention-center-banned-tampons-2022-7
https://people.com/celebrity/kiran-gandhi-period-runner-speaks-out-against-critics/