เมื่อก่อนเรามีคำว่า ‘ศิราณี’ ไว้ใช้อธิบายคาแรกเตอร์เพื่อนที่มักเป็นที่ปรึกษาปัญหาใจ คนที่มีความศิราณีในตัวสูงคือคนที่มีทักษะรับฟัง จิตใจเปิดกว้างต่อการฟังเรื่องปวดใจของคนใกล้ตัว ที่สำคัญคือให้คำแนะนำปรึกษาได้ เวลาใครเป็นอะไร (โดยเฉพาะปัญหาความรัก) เพื่อนที่ครองตำแหน่งศิราณีก็จะเป็นที่นึกถึง ผู้เขียนและคนรอบตัวที่มีคาแรกเตอร์ลักษณะนี้มักจะพูดกันเล่นๆ ว่า วันนี้มีคนมาใช้บริการอีกแล้ว
ถ้าชาวศิราณีคือผู้ให้คำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการในหมู่เพื่อนฝูง ในแวดวงสุขภาพจิตก็มีคำว่า Peer Counselor หรือ ‘เพื่อนผู้ให้คำปรึกษา’ ที่น่าจะเทียบเท่ากันได้ (คำว่า peer แปลว่า เพื่อน, คนที่อยู่ในอายุหรือสถานะทางสังคมเดียวกัน) เพื่อนผู้ให้คำปรึกษาไม่ใช่จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา แต่เป็นคนธรรมดาที่มีธรรมชาติในการช่วยเหลือและรับฟังผู้อื่น ผ่านการฝึกอบรมให้มีทักษะการให้คำปรึกษาพื้นฐานที่ถูกต้องตามหลักการ และทำงานภายใต้การดูแลของหน่วยงานและทีมนักจิตวิทยา ในบางกรณีอาจเป็นผู้เคยมีประสบการณ์หรือประสบปัญหาคล้ายคลึงกับผู้รับบริการปรึกษามาก่อน
โดยทั่วไปหากเรามีปัญหาอยากปรึกษาใครสักคน เราอาจจะนึกถึงคนในเครือข่ายสนับสนุน (social support) ของเรา เช่น ครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก แต่นอกเหนือจากบุคคลเหล่านี้ ปราการด่านหน้าอีกกลุ่มก็คือเหล่า Peer Counselor ที่สามารถเข้ามาบรรเทาความกลัดกลุ้มใจ เหมือนแผนกห้องพยาบาลประจำถิ่นของเรา เพื่อป้องกันไม่ให้ความทุกข์กัดกินใจยาวนานจนกลายเป็นแผลเรื้อรัง ระบบเพื่อนที่ปรึกษาจึงมีได้ในหลายบริบท ทั้งในระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย บริษัทหรือองค์กร ชุมชนหมู่บ้าน และโรงพยาบาล เนื้อหาที่พูดคุยก็มีได้ตั้งแต่ปัญหาในชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ การทำงาน ไปจนถึงการพูดคุยเรื่องสุขภาพ การเจ็บไข้ได้ป่วย และความตาย
จากการค้นคว้า ผู้เขียนมองว่าระบบเพื่อนที่ปรึกษามีจุดเด่นที่น่าสนใจหลายอย่าง อย่างแรกคือสถานะการเป็นคนในระดับเท่าๆ กันทำให้กระบวนการช่วยเหลือเข้าถึงผู้คนมากขึ้น อย่างเช่นสำหรับกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เปิดกว้างจะพูดคุยรับฟังกับคนอายุไล่เลี่ยกันมากกว่า การมีเพื่อนที่มีข้อมูลและทักษะที่ถูกต้องให้เดินไปหา ก็น่าจะช่วยให้กล้าบอกเล่าเรื่องราวมากขึ้น เดี๋ยวนี้เราจึงเริ่มเห็นหลายโรงเรียนเสาะหา Youth Counselor หรือนักเรียนที่มีสกิลศิราณีมาเป็นแผนกประคับประคองจิตใจเพื่อนๆ
ในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยทำงาน หากมีปัญหาในบริษัท การได้เล่ากับคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานเดียวกันก็น่าจะช่วยให้รู้สึกได้รับความเข้าอกเข้าใจมากขึ้น หรือหากเป็นปัญหาสุขภาพ ใครเล่าจะเข้าใจกันได้ดีเท่าคนที่ผ่านเรื่องราวหนักหนาคล้ายๆ กันมา โดยเฉพาะในโรคและภาวะที่กระทบจิตใจได้มาก เช่นโรคมะเร็ง โรคเอดส์ (หรือเป็นผู้มีเชื้อ HIV) ที่ปรึกษาในกลุ่มนี้อาจจะเคยเจ็บไข้ได้ป่วยเอง หรือมีประสบการณ์รับมือและดูแลอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวก็ได้ นอกจากรับฟังให้ทุกข์บรรเทาและช่วยในการปรับตัว กระบวนการช่วยเหลืออาจช่วยสร้างความหวังในผู้ป่วยและส่งผลดีต่อการรักษาต่อไป
ถัดมา เพื่อนที่ปรึกษาคือตัวแทนให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสำหรับคนที่ไม่อาจเข้าถึงการปรึกษาเชิงจิตวิทยาได้โดยง่าย เช่นอยู่ไกลตัวเมืองหรือชนบท ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือเฉพาะทาง หรือเป็นผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้มีงานวิจัยพบว่าระบบดูแลกันลักษณะนี้มีประสิทธิภาพในกลุ่มคุณแม่รายได้น้อยในชนบทที่กำลังให้นมบุตร นอกจากจะเข้าใจรายละเอียดยิบย่อยของการให้นมลูก การที่คุณแม่มีน้ำนมให้ลูกมากขึ้นได้ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอีกต่อ แถมลูกก็แข็งแรง ระบบเพื่อนช่วยเพื่อนเลยไม่ได้มีข้อดีแค่การเข้าถึงง่าย ไม่เสียค่าบริการ (เนื่องจากทำในลักษณะอาสาสมัคร) แต่ยังตอบโจทย์ปัญหาโดยตรงได้ด้วย
สุดท้าย ผู้เขียนพบว่ากระบวนการช่วยเหลือในระบบ Peer Counselor ไม่ได้ดีแค่กับผู้มาปรึกษาเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเพื่อนที่ปรึกษาเหล่านั้นด้วย ไม่ต่างจากเวลาที่เพื่อนมาปรึกษาเรา เมื่อเราพยายามกลั่นกรองและถ่ายทอดประสบการณ์ที่อาจเป็นประโยชน์ให้เพื่อนฟัง เราก็ได้มุมมองใหม่ๆ และความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
มีงานวิจัยชื่อ ‘FROM SUICIDE SURVIVOR TO PEER COUNSELOR: BREAKING THE SILENCE OF SUICIDE BEREAVEMENT’ ที่ผู้เขียนอ่านแล้วสนใจมาก งานนี้ศึกษาประสบการณ์ในกลุ่มคนที่สูญเสียคนใกล้ตัวจากการฆ่าตัวตายที่ผันตัวมาเป็น Peer Counselor เพื่อรับฟังคนที่ประสบเหตุลักษณะเดียวกัน คนเหล่านี้พบว่าการทำงานนี้เอื้อให้พวกเขามอบความหมายใหม่ให้ประสบการณ์สูญเสียที่เจ็บปวด การรับฟังไม่ได้ช่วยแค่คนตรงหน้า แต่ยังช่วยให้พวกเขาเติบโตและรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญคือพื้นที่รับฟังตรงนั้นช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดเรื่องที่คนรอบข้างมักหลีกเลี่ยงจะพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา และยังช่วยลดความอ้างว้างโดดเดี่ยวลงได้ในช่วงหลังการสูญเสีย
“การที่คุณอยู่ตรงนั้นเพื่อใครสักคนได้คือการเยียวยาอย่างหนึ่ง…การที่ผมสามารถอยู่ตรงนั้นเพื่อผู้อื่น เพื่อให้พวกเขาได้แบ่งปันความเจ็บปวด เพื่อเปิดประตูการเยียวยาของพวกเขา สิ่งเหล่านี้แหละที่เยียวยาผม” ผู้เข้าร่วมวิจัยรายหนึ่งกล่าวไว้เช่นนั้น
นอกจากการส่งเสริมการตระหนักรู้ในการเข้าใช้บริการกับผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิต ผู้เขียนคิดว่าเราสามารถส่งเสริมการดูแลป้องกันเชิงรุกในลักษณะนี้ไปควบคู่กันได้ โดยเฉพาะในระดับหน่วยงานที่มีงบประมาณจัดการฝึกอบรมให้มีระบบ Peer Counseling อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่วันหนึ่งเราจะดูแลกันและกันในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น และการเยียวยาจะไม่ต้องเกิดขึ้นแค่ในห้องบำบัดเท่านั้น
อ้างอิง
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25223311/
Author
นักเขียน นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา MASTERPEACE