เคยเจอหรือเคยเป็นเองไหม? กับการใช้ชีวิตด้วยเอเนอร์จี้แบบตัวละครเอกอยู่เกือบตลอดเวลา เรื่องที่เราเจอมันมีอะไรพิเศษไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเรื่องรัก เรื่องแค้น เรื่องซวย หรือเรื่องใดๆ คนอื่นต้องใส่ใจหรือจับจ้องชีวิตเราเสมอ บางทีเดินๆ อยู่เพลงก็ดังขึ้นมาตรงกับสถานการณ์พอดีอีก ขาดแค่กล้องก็เริ่มถ่ายทำได้เลอ
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรขนาดนั้น ที่บางทีเราจะมีอาการอินจัดกับบางคาแรกเตอร์ที่ได้ดูมา จนเผลอเชื่อมโยงว่าชีวิตตัวเองก็เป็นประมาณนั้น แต่บางคนก็อินถึงขนาดรู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีพล็อตเรื่องอยู่ตลอดเวลา แบบนี้เขาเรียกกันว่า ‘Main Character Syndrome’ หรืออาการที่ผู้คนจินตนาการ หรือพรีเซนต์ตัวเองว่าเป็นตัวเดินเรื่องหลัก และอาจคิดว่าโลกที่อยู่นี้จะต้องมีซีนปังๆ มีตอนต่อไป มีตัวร้าย พระเอก พระรอง นำไปสู่การคิดฉากในหัวว่า อนาคตจะเจออะไร แล้วคนรอบข้างจะคิดยังไงกับ ‘ตัวเอก’ แบบเรา
ฟังดูทะแม่งๆ แต่จริงๆ มันมีข้อดีของมันอยู่ เพราะอาจทำให้คนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง กลายเป็นคนมั่นใจขึ้นได้บ้าง (และแน่นอนว่ามันก็มีข้อเสียด้วยน่ะนะ)
เริ่มกันที่ข้อดี แซลลี เบเกอร์ (Sally Baker) นักจิตอายุรเวทกล่าวว่า Main Character Syndrome ไม่ใช่เรื่องใหม่ และจะบอกว่ามันปกติก็คงไม่ได้ เธอยกตัวอย่างเหตุการณ์ว่า “ฉันย้ายไปลอนดอนเมื่ออายุ 21 ปี และทุกๆ 6 สัปดาห์ ฉันจะบอกเพื่อนที่อยู่เบอร์มิงแฮมรู้ว่าฉันจะกลับมาบ้านนะ ดังนั้นทุกคนจะไปเจอกันในผับที่ฉันจะ ‘ปรากฏตัว’ เพราะการที่จากบ้านไปนานๆ ทำให้ฉันรู้สึกมีสถานะมากขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ที่เดิม แต่นั่นอาจเป็นสิ่งที่เราคิดไปเองคนเดียว” พูดอีกนัยว่า การที่เราสร้างคาแรกเตอร์บางอย่างขึ้นมา ทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้นจากที่ไม่เคยเห็นเลยก็ได้
“หลายคนต้องการแสดงให้คนเห็นถึงคุณค่าของพวกเขา โดยเฉพาะบริบทของการกลับบ้านเก่า เนื่องจากการใช้พลังงานแบบตัวละครหลักเป็นวิธีที่จะสร้างความหมายของความสำเร็จ และพยายามเปลี่ยนมุมมองของคุณเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นคิดกับเราได้” สิ่งที่ เอมี่ เจน กริฟฟิธส์ (Amy Jane Griffiths) กล่าว ซึ่งหมายถึงการที่เราเอาความคิดแง่บวกของเรา มาแทนที่ความคิดแง่ลบของคนอื่นที่คิดต่อเรา ซึ่งอาจจะทำให้เราคิดมากน้อยลงได้ และก้าวผ่านการตัดสินบางอย่างจากคนอื่นได้ด้วย (แม้ความจริงจะไม่เปลี่ยนไปก็ตาม)
ทว่าดาบย่อมมีสองคม ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับอาการ Main Character Syndrome คือหากอินกับคาแรกเตอร์ในหัวมากเกินไป อาจนำไปสู่ความต้องการเป็นที่ยอมรับ เป็นที่สนใจ เกิดเป็นความคาดหวัง และสร้างปัญหา ที่จะนำไปสู่อาการหลงตัวเองได้
บทความ The Trouble with "Main Character Syndrome" เขียนโดย ฟิล รีด (Phil Reed) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสวอนซี สรุปข้อปัญหาของอาการนี้ไว้ได้ดี ซึ่งเราหยิบยกออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้
หนึ่ง Main Character Syndrome แตกต่างจาก การเลือกนำเสนอตนเอง (Self-Presentation Strategy) เพราะการเลือกนำเสนอตัวตนตามความเหมาะสมของสถานการณ์นั้นๆ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ตรงกันข้ามกับ Main Character Syndrome ที่ดูเหมือนจะคิดว่าชีวิตจริงคือซีนละครตลอดเวลา และทุกย่างก้าวที่ทำคือบทบาทในเรื่อง
สอง ปัญหาที่ทำให้หลายคนตกหลุมพราง Main Character Syndrome ได้ง่ายขึ้นคือ ‘โลกออนไลน์’ เพราะมันง่ายต่อการบอกเล่าเรื่องของตัวเองและรับฟีดแบ็กอย่างฉับพลัน และยิ่งฟีดแบ็กมาก ไม่ว่าจะด้านดีหรือร้าย ก็อาจยิ่งทำให้เราอาการหนักมากขึ้น
สาม อย่างที่เราเกริ่นไป อาจนำไปสู่สภาวะทางจิต เช่น โรคคลั่งไคล้ตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่หมกมุ่นกับตัวเองมากเกินไป และดึงเอาทุกอย่างรอบตัวมาเหมาว่าเกี่ยวข้องกับตัวเองไปเสียหมด
ถ้าคิดมุมกลับ การสร้างโลกอีกใบขึ้นมา อาจเหมือนหลุมหลบภัยชั้นดี ในเมื่อบางคนก็เลือกให้ชีวิตจริงดีเหมือนในซีรีส์ไม่ได้ หากการเป็นคนอื่นนั้นส่งผลดีต่อตัวเอง ชีวิตแฮปปี้ เสริมความมั่นใจมากกว่าแต่ก่อน ก็อาจจะไม่แย่ถ้าเราจะมองตัวเองเป็นนางเอกของเรื่องกันสักครั้ง กลับกัน ถ้าการเป็นตัวละครหลักในชีวิตจริงนั้น ซีนของเราดันไปสร้างความเสียหาย หรือเดือดร้อนใคร นี่ก็คงไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำร้ายคนอื่น และที่สำคัญคนอื่นก็มีเรื่องราวของเขาเช่นกัน หากจะคาดหวังให้ทุกคนต้องมาเป็นคนดูของคุณ อาจจะทำให้เหนื่อยใจเปล่าๆ นะ
อ้างอิง:
https://www.bustle.com/life/what-does-main-character-energy-on-tiktok-mean
https://www.dailymail.co.uk/femail/article-9668095/Are-guilty-Main-Character-Syndrome.html
https://metro.co.uk/2021/06/22/what-is-main-character-syndrome-and-why-is-it-so-popular-14810447/
https://www.psychologytoday.com/us/blog/digital-world-real-world/202106/the-trouble-main-character-syndrome