หนึ่งในผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองของผู้หญิงที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมากในช่วงปีที่ผ่านมาคือ ‘ถ้วยอนามัย’ (menstrual cup) ถ้วยรองรับประจำเดือนทำจากซิลิโคนเกรดดี เป็นผลิตภัณฑ์รองรับประจำเดือนแบบสอดเข้าไปในช่องคลอด ถือเป็นทางเลือกในอุดมคติของหลายคนที่อยากใช้ของที่ไม่เป็นภาระให้กับสิ่งแวดล้อมและประหยัดเงินไปในตัว เพราะไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย แถมถ้วยอนามัยหนึ่งชิ้นสามารถใช้ได้นานถึงสิบปีเพียงทำความสะอาดเป็นอย่างดีก่อนรอบเดือนมาและหลังรอบเดือนหมดในแต่ละเดือน สามารถค่าใช้จ่ายและลดขยะจากผ้าอนามัยได้เป็นจำนวนมหาศาล
ในโลกอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการใช้ถ้วยอนามัยอย่างปลอดภัยและถูกวิธี เรียกได้ว่า ถ้ามองผ่านๆ มันควรจะเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับบางคน การใช้ถ้วยอนามัยกลับไม่ง่ายอย่างที่คิดด้วยหลากหลายเหตุผลที่เราจะหยิบมาเล่าในวันนี้
ยังมีสังคมที่มองว่าการสอดสิ่งใดๆ เข้าไปในช่องคลอด หมายถึงการเสียพรหมจรรย์และผิดศีลธรรม
อันที่จริง ถ้วยอนามัยเป็นนวัตกรรมที่มีมากว่า 90 ปีแล้ว โดยได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) และได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) ถ้วยอนามัยถูกพัฒนามาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงแรกที่ทำจากยาง มาจนปัจจุบันที่ทำจากซิลิโคน food-grade ที่สามารถใช้ได้นานอย่างน้อย 5 ปี มีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ และบางแบบช่วยให้สามารถมีเพศสัมพันธ์ระหว่างรอบเดือนได้ด้วย
แต่ถ้วยอนามัยเพิ่งจะมาบูมเอาจริงๆ ก็เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ตอนที่กระแสความยั่งยืนมาแรงและมีคนลงมือทำอย่างเอาจริงเอาจังมากกว่าแค่ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก แม้จะฟังดูดีและได้รับการยืนยันจากสูตินรีเวชและผู้ใช้จริงว่าตอบโจทย์ แต่ถ้วยอนามัยก็ยังถูกตั้งคำถามอยู่บ้าง และผู้มีประจำเดือนจำนวนมากก็ยังไม่สะดวกใจที่จะเปลี่ยนมาใช้ หลายประเทศในเอเชียยังมีมายาคติว่าการสอดสิ่งใดๆ เข้าไปในช่องคลอดหมายความถึงการเสียพรหมจรรย์และการทำผิดศีลธรรม
ถ้วยอนามัยจึงไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับวัยรุ่นที่ยังอยู่ในวัยเรียนอย่างเช่นในอินโดนีเซีย เพราะถูกมองว่าเทียบเท่ากับการสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน ซึ่งตราบใดที่ค่านิยมแบบนี้ยังมีอยู่ การใช้ถ้วยอนามัยก็จะยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับพวกเธอแน่ๆ
บางคนกังวลเรื่องความหมักหมม รวมถึงความกลัวส่วนบุคคล ในพื้นที่ "ตรงนั้น"
ถ้วยอนามัยยังสร้างความกังวลใจให้กับคนจำนวนหนึ่งว่าจะนำไปสู่ความหมักหมม จนเกิดอาการ toxic shock syndrome หรือการติดเชื้อในช่องคลอดจากแบคทีเรียที่เติบโตและปล่อยสารเป็นพิษออกมา อันเป็นอาการที่มักจะเกิดเมื่อทิ้งผ้าอนามัยแบบสอดไว้ในช่องคลอดนานเกินไป ส่วนบางคนที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดก็กังวลว่าห่วงจะย้ายที่ ซึ่งผลวิจัยก็บอกว่ามีความเป็นไปได้สูง
แม้จะมีการรณรงค์ว่าการใช้ถ้วยอนามัยทำให้ผู้มีประจำเดือนได้รู้ว่าปริมาณเลือดที่ออกมาไม่เยอะอย่างที่คิด กลิ่นเหม็นมาจากสารเคมีในผ้าอนามัยไม่ใช่เลือด และการใช้ถ้วยอนามัยยังถือเป็นโอกาสในการสำรวจส่วนของร่างกายที่มองไม่เห็นและไม่คุ้นเคย เพราะจะใส่ถ้วยอนามัยให้สำเร็จต้องวัดความสูงของปากมดลูกด้วยข้อนิ้วของตนเองเพื่อเลือกขนาดถ้วยที่พอดีกับสรีระ และต้องทดลองพับถ้วยอนามัยให้เจอแบบที่เหมาะกับตัวเอง
แต่หลายคนก็ยังไม่กล้าสอดใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องคลอดด้วยความกลัวส่วนบุคคล เพราะพื้นที่ท้องน้อย หัวหน่าว และอวัยวะเพศมักเป็นที่กักเก็บความกลัวในระดับจิตใต้สำนึก ทำให้การพยายามใส่ถ้วยอนามัยกลายเป็นเรื่องยากลำบาก
สำหรับบางคนอาจเป็น “อย่ามายุ่งกับมดลูกฉัน” เพราะจะใช้ผลิตภัณฑ์แบบใดหรือจะไม่ใช้ก็ยังได้
เมื่อถ้วยอนามัยไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน แต่กลับเป็นกระแสไปทั่วโลก หลายคนเลยส่งเสียงว่า “อย่ามายุ่งกับมดลูกฉัน” โดยให้เหตุผลว่า การจะใช้ผลิตภัณฑ์แบบใดหรือจะไม่ใช้ (ทั้งไม่ใช้ตอนนอนแต่เอาผ้าเช็ดตัวรองแทน หรือภายใต้การเคลื่อนไหวในรูปแบบของ free bleeding ที่มีจุดเริ่มต้นในปี 2547) ล้วนเป็นตัวเลือกของแต่ละคน เราควรเคารพสิทธิของทุกคนในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง และไม่ควรมีใครต้องอับอายเพราะทางเลือกนั้น