LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

คุยกับ รุ้ง–วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘ira’ ผ้าอนามัยออร์แกนิก ที่อยากทลายมายาคติเรื่อง ‘เมนส์’ ในสังคม

หากคุณพิมพ์คำว่า ‘ผ้าอนามัยออร์แกนิก’ ลงไปในเว็บ Search Engine ผลการค้นหาอาจแสดงชื่อแบรนด์มากมายโผล่มาให้พรึ่บ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนที่ผู้มีประจำเดือนยังไม่ได้มีชอยส์เยอะขนาดนี้ ira concept คือแบรนด์ผ้าอนามัยเจ้าแรกๆ ที่ถางทางให้ผ้าอนามัยออร์แกนิกให้เฉิดฉายในไทย เพราะเชื่อว่าคนมีเมนส์ควรมีทางเลือกมากกว่าเดิม เพิ่มเติมคือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้

รุ้ง-วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์พัฒนาผลิตภัณฑ์จาก Pain Point ส่วนตัวอย่างการแพ้ผ้าอนามัย ซึ่งเธอคิดว่าหลายคนน่าจะเจอเหมือนกันแต่กลับไม่มีใครพูดถึง จนสุดท้ายกลายเป็นนวัตกรรมผ้าอนามัยจากใยไม้ไผ่สัมผัสนุ่ม ย่อยสลายได้ 99% เป็นมิตรต่อน้องจิ๋มทั้งในแง่การป้องกันอาการแพ้ และลดอัตราการติดเชื้อ

ไม่ได้เริดแค่เรื่องคุณสมบัติ แต่ ira concept ยังตั้งใจจะเป็นที่ทลายกรอบเดิมๆ เกี่ยวกับผ้าอนามัย สินค้าออร์แกนิก และการมีประจำเดือน อย่างการห่อหุ้มด้วยแพ็กเกจจิ้งกล่องสีขาวที่เพศไหนก็ถือได้ เอาไปวางไว้ตรงไหนก็ไม่เขินอาย หรือการใช้ช่องทางต่างๆ ของแบรนด์เป็นสื่อในการให้ความรู้เรื่องประจำเดือน ให้ทั้งลูกค้าและผู้มีประจำเดือนทุกคนได้อัปเดตความเข้าใจ

แต่กว่าจะมาเป็นแบรนด์ผ้าอนามัยฮิตในทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การเดินทาง 3 ปีที่ผ่านมารุ้งต้องผ่านการดูแคลนและอุปสรรคมากมาย และเธอพร้อมแล้วที่จะเล่าให้ฟังในบทสนทนาบรรทัดถัดไป

Q: ย้อนกลับไปช่วงก่อนตั้งแบรนด์ คุณรุ้งทำอะไรมาก่อน

A: เราจบด้านชีววิทยาจากอังกฤษ พอกลับไทยแล้วรู้สึกว่าไฟแรงมาก อยากเปลี่ยนประเทศ คิดว่าที่เดียวที่เราสามารถเปลี่ยนประเทศไทยคือต้องเข้าไปทำงานราชการ เราจึงเข้าไปทำงานอยู่ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA ดูแลเรื่องสตาร์ทอัพในประเทศไทย งานตรงนั้นทำให้มีโอกาสศึกษาสตาร์ทอัพต่างประเทศเพื่อเอามาพัฒนานวัตกรรมของบ้านเรา แต่พออยู่ตรงนั้นนานๆ เริ่มรู้สึกว่าการจะสร้างความเปลี่ยนแปลง เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบราชการก็ได้ อย่างในต่างประเทศ รัฐทำสิ่งหนึ่ง หน่วยงาน private sector ทำอีกโปรเจกต์หนึ่ง จะเป็นแบบนี้ก็ได้

Q: อะไรจุดประกายให้คุณอยากทำแบรนด์ผ้าอนามัยออร์แกนิก

A: เรามีแพชชั่นกับเรื่องประจำเดือนมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เคยทำโปรเจกต์ที่ชวนเด็กต่างชาติรวบรวมผ้าอนามัยไปให้คนไร้บ้าน (homeless) รู้สึกว่าฉันอยากทำอะไรแบบนี้แหละ ประกอบกับช่วงนั้นมีกระแสพะยูนมาเรียมตาย มีคนออกมาพูดเรื่องขยะพลาสติกเยอะ เราเลยจับประเด็นสังคมกับแพชชั่นมารวมกัน 

โดยส่วนตัวเรามีปัญหากับเรื่องประจำเดือนมาตั้งแต่เด็ก เคยประจำเดือนมาติดกัน 3 เดือน ได้ใช้ผ้าอนามัยวันละแผ่น เราไม่รู้ว่าหนึ่งเดือนมันควรจะมีแค่รอบเดียว ไม่รู้ว่าควรจะถามใคร สุดท้ายเราไม่ได้เรียนว่ายน้ำเลยทั้งเทอม จนครูไปฟ้องแม่ว่าอีรุ้งมันขี้โกหกนะ มันไม่อยากว่ายน้ำมันเลยโกหกว่าประจำเดือนมา สุดท้ายแม่พาไปหาหมอแล้วได้กินยาคุม พอกินยาคุมน้ำหนักก็ขึ้นอีก มีปัญหาตามมาเยอะมาก รู้สึกว่าตรงนี้เป็น Pain Point ของเรามานาน 

แล้วหากไปดูผ้าอนามัยที่วางขายทั่วไป เราไม่รู้ว่าเราจะใช้ผ้าอนามัยได้ไหม มันเป็นการลองผิดลองถูก เพราะฉลากสินค้าจะเขียนข้อมูลแค่หอมกลิ่นซากุระ เย็นมากนู่นนี่ แต่พอเราใส่ปุ๊บ แพ้สารเคมี เราก็ต้องหยุดใช้ กลายเป็นว่าผ้าอนามัยทุกวันนี้ไม่ได้ตอบโจทย์เราจริงๆ และฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่เขาทำมันเป็นส่วนเสริม (extra) ที่ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ หรือถ้าหากเราอยากใช้ตัวเลือกอื่น เช่น ถ้วยอนามัยหรือผ้าอนามัยซักได้ ก็รู้สึกว่ามัน extreme เกินไป เราคิดว่ามีหลายคนที่อยากรักษ์โลกแต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขา เช่น ถ้าหากคุณต้องทำงานออกไซต์ทั้งวันทั้งคืนแล้วห้องน้ำยังไม่ดีก่อ คุณจะเปลี่ยนถ้วยอนามัยยังไงให้ถูกสุขลักษณะ (hygiene) มากพอที่คุณจะไม่ติดเชื้อ

 เราเจออะไรแบบนี้เยอะแยะ แล้วทำให้รู้สึกว่าสุดท้ายแล้ว การผลักดันเรื่องสิทธิให้ผู้หญิงคือการที่เราตอบโจทย์เขาได้ human right คือการที่คุณมีทางเลือกว่า วันนี้ฉันอยากใช้ถ้วยอนามัยเพราะจะไปเล่นเซิร์ฟ พรุ่งนี้ใช้กางเกงอนามัยเพราะต้องขึ้นเครื่องบิน อีกวันอยู่บ้านจึงอยากใช้ผ้าอนามัยธรรมดาที่สะดวกสบาย เราอยากให้ทางเลือกเหล่านี้กับทุกคน ที่สำคัญคือเราไม่ได้มองทางเลือกอื่นที่แตกต่างจากเราเป็นคู่แข่งเพราะคิดว่ามันควรจะมีอยู่ ทุกคนควรขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ไปด้วยกัน

Q: จาก Pain Point ที่มองเห็น คุณนำมาพัฒนาเป็นผ้าอนามัยแบรนด์ ira ต่ออย่างไร

A: ตอนเราดูโปรดักต์ในท้องตลาด เราพบว่าหลายๆ ครั้งเวลาพูดคำว่าออร์แกนิก คนจะนึกถึงผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย (cotton) ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว เวลาเราพูดถึงเรื่องความยั่งยืน ความยั่งยืนควรจะมีอยู่ในโมเดลธุรกิจและทุกกระบวนการ ตอนเราทำเราจึงรีเสิร์ชว่าดูว่าแต่ละวัสดุเขาปลูกยังไง Life Cycle ของมันเป็นยังไง และเราพบว่าใยไม้ไผ่ใช้แรงงาน (labor) น้ำ และสารกำจัดศัตรูพืช (pesticide) น้อยกว่าวัสดุอื่นเยอะ รู้สึกว่าทางเลือกนี้ยั่งยืนกว่า ที่สำคัญคือมันลื่น นุ่มสบาย ระบายอากาศได้ดีกว่า และมีสารแอนตี้แบคทีเรียของมันเอง เราเลยเลือกใยไม้ไผ่มาทำเพราะคิดว่าตอบโจทย์กับโปรดักต์ที่เราอยากได้มากที่สุด

Q: นอกจากเรื่องส่วนประกอบหลัก สิ่งที่ทำให้ ira ต่างจากผ้าอนามัยในท้องตลาดคืออะไร

A: ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นออร์แกนิก 100% แต่ย่อยสลายได้ 99% อีก 1% ที่ย่อยสลายไม่ได้คือกาว เพราะเรายังไม่เจอทางเลือกกาวที่ย่อยได้และมีคุณภาพดีเพียงพอ ความจริงผ้าอนามัยของเราย่อยสลายได้มากที่สุดในเอเชียเลยด้วยซ้ำ เพราะเราไม่ได้ใส่ Super Absorbent Polymer ที่เป็นโพลิเมอร์ที่ทำให้ซึมซับได้ดี ซึ่งแบรนด์ออร์แกนิกอื่นๆ ยังใช้กันอยู่ แต่ปัญหาคือมันทำให้ทั้งเลเยอร์เป็นเจล แล้วจะย่อยสลายไม่ได้ อีกอย่างคือมันทำให้หลายๆ คนไม่รู้ว่าต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย

 ตอนเราส่งตัวอย่างให้ไปเพื่อนใช้ เพื่อนหลายคนบอกเหมือนกันว่าของเราเต็มเร็วมากเลย ปกติใช้วันละแผ่นนะ นี่ต้องเปลี่ยน เราก็บอกว่า ใช่ เพราะยูต้องเปลี่ยนนะ ยิ่งยูใส่ค้างไว้นานๆ แบคทีเรียก็ยิ่งหมักหมมติดเชื้อได้ง่าย นี่คือเรื่องสุขอนามัยพื้นฐานที่หลายคนยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นนอกจาก ira จะช่วยเรื่องรักษ์โลกแล้ว มันยังช่วยเตือนให้คนเปลี่ยนอนามัยด้วย บางคนอาจบอกว่าไม่คุ้ม แต่ส่วนตัวคิดว่าความคุ้มมันอยู่ที่ว่าคุณจะให้คุณค่า (Value) กับเรื่องอะไร ถ้าให้คุณค่ากับเรื่องสุขภาพและความเสี่ยงในการติดเชื้อ เรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วการใช้สิ่งที่ดีกว่า มันคุ้มกับเราในระยะยาวมากกว่า

Q: ทำไมถึงตั้งชื่อแบรนด์ว่า ira

A: เราอยากได้ชื่อที่เป็น genderless name เป็น unisex name อยากให้มันเป็นชื่อคนเพราะอยากให้สื่อถึงลูกค้าของเรา แล้วก็ไปเจอชื่อ ira ที่เป็น unisex name ถ้าแปลจากภาษาสันสกฤตคือ Protector of the Earth รู้สึกว่าอันนี้แหละตรงกับเรามาก เพราะเราอยากสื่อว่าลูกค้าของเราเป็นเหมือน Protector of the Earth

Q: ในการพัฒนาสินค้าตัวนี้ เจอความท้าทายอะไรบ้าง

A: เราใช้เวลาพัฒนาโปรดักต์ 1 ปี ปล่อยในช่วงต้นพฤศจิกายนปี 2020 เพราะเป็นเจ้าแรกจึงเจอความท้าทายหลายอย่าง หนึ่งคือไม่มีใครเข้าใจไอเดีย หลายคนไม่รู้ว่ามีคนต้องการโปรดักต์แบบนี้จริงๆ เพราะไม่มีใครพูดถึงปัญหาเรื่องประจำเดือน สองคือพอเห็นม็อกอัพของกล่องแพ็กเกจจิ้ง ทุกคนก็ถามว่านี่ขายอะไร อาหารเสริมเหรอ เพราะมันไม่ได้มีหน้าตาเหมือนผ้าอนามัยตามเชลฟ์ แม้แต่ดีไซเนอร์ก็ถามว่า รุ้ง มันควรจะเป็นสีชมพูหรือเปล่า ควรจะมีรูปใบไม้หรือเปล่าเพราะมันเป็นของออร์แกนิก

เราถามว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเราอยากเปลี่ยนค่านิยม (norm) ให้ผ้าอนามัยไม่ต้องยึดติดกับสีอะไรของเพศไหน ไม่อยากบอกว่าออร์แกนิกเลยใส่ใบไม้เข้าไป อยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ของผ้าอนามัยและสินค้าออร์แกนิกใหม่ ตอนไปคุยกับห้างก็โดนถามว่าสีขาวอย่างนี้แล้วมันจะเด่นเหรอครับ เราก็ตอบว่าเพราะผ้าอนามัยทุกวันนี้มันฉูดฉาดมาก ของ ira มันเลยจะเด่นขึ้นมาค่ะ (หัวเราะ) ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นว่าทุกคนชอบหมดไม่ว่าจะเพศไหน เพราะรู้สึกว่าใครๆ ก็ถือผ้าอนามัยเราได้ วางไว้ตรงไหนก็ได้

เราจำได้แม่นมากว่าตอนเปิดตัว มีโพสต์เฟซบุ๊กอันหนึ่งที่ลงรูปสินค้าเราแล้วมีคนแชร์เป็นหมื่น หลายคนบอกว่าดูสวยจัง อยากลองใช้ มีหลายคอมเมนต์ที่บ่งบอกว่าเขาเจอปัญหาการแพ้ผ้าอนามัยเหมือนกัน แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครมานั่งคุยกันเรื่องนี้ หลายคนเลยไม่รู้ว่ามันมี Pain Point ตรงนี้อยู่ ซึ่งจริงๆ มันเป็นอุตสาหกรรม (industry) ที่ใหญ่มาก เพราะตลาดเราคือผู้มีประจำเดือน

Q: สตาร์ทอัพของคุณนับว่าเป็นนวัตกรรมสำหรับผู้หญิงหรือ Fem Tech ซึ่ง 3 ปีที่แล้วยังไม่ค่อยเห็นนวัตกรรมแบบนี้ในไทยเท่าไร การเป็นเจ้าแรกๆ เจอความยากลำบากอะไรบ้างไหม

A: Fem Tech คือนวัตกรรมสำหรับ Woman Health ซึ่งคำนี้มันใหม่มาก ความจริงมันเป็นส่วนย่อยของนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ นั่นแหละ แต่พอมันใหม่ก็ไม่มีใครเข้าใจว่า Fem Tech มี Industry ของมันเอง เราเจอปัญหาเรื่องไม่สามารถหาเงินทุนจากภาครัฐได้ เพราะเขาไม่รู้จะจัดประเภทเรายังไง 

สุดท้าย เราได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของเมมเบอร์ของ Fem Tech Association Asia ซึ่งในไทยยังมีน้อยมาก เพราะก่อนหน้านี้มันเป็นการเดินทาง (Journey) ที่เหงามาก หลายครั้งเราไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร เราหดหู่มากเลยนะ เพราะจะเจอผู้ชายมาบอกว่ายูไปคุยกับ Therapist ไหม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราต้องการคนคนหนึ่งที่บีบมือแล้วบอกว่ากูเข้าใจเว้ยว่ามึงรู้สึกยังไง เลยไปจอยคอมมูนิตี้ที่คิดเหมือนกัน เพราะบางทีเราก็ถามตัวเองว่าการเดินทางนี้ฉันทำเพื่ออะไร ตอนไปออกสื่อบางคนก็ด่าเราว่าอีนี่ร่าน คิดได้แค่นี้ โดนโจมตีหลายมุม แต่สิ่งที่ทำให้เราทำต่อไปคือความรู้สึกว่าถ้าเราไม่ออกมาทำแล้วจะมีใครทำ เราต้องการสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่านี้ สู้เพื่อให้เด็กผู้หญิงที่เป็นเหมือนเราจะไม่ต้องเจอปัญหาเหมือนที่เราเจอตอนเด็กๆ

Q: นอกจากสร้างแบรนด์ที่ทำให้ผู้มีประจำเดือนมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้นแล้ว ในช่องทางต่างๆ ของ ira ยังทำคอนเทนต์ที่ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับประจำเดือน เพศศึกษา ความเป็นหญิงด้วย การทำสิ่งนี้สำคัญกับ ira อย่างไร

A: เราคิดว่าแบรนด์ของเราไม่ใช่แค่แบรนด์โปรดักต์ แต่เป็นมูฟเมนต์อย่างหนึ่ง เราอยากสร้างมูฟเมนต์ขึ้นมาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง มันเลยกลายเป็นมิชชั่นขึ้นมาซึ่งมีหลายข้อ ข้อแรกคือทำลายมายาคติเกี่ยวกับประจำเดือน ข้อสองคือกำจัดปัญหาการเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย ข้อสามคืออยากให้ผู้หญิงมีทางเลือกที่ไม่ต้องเสียสละความสะดวกสบายเพื่อความรักษ์โลก อยากให้การรักษ์โลกได้ง่าย

ซึ่งการทำคอนเทนต์ตอบโจทย์เรื่องการทำลายมายาคติเกี่ยวกับประจำเดือน อีกอย่างหนึ่งคือตอนเราเริ่มทำ ira เรายังมีคำถามเกี่ยวกับเพศศึกษา การจัดการประจำเดือน สุขอนามัยอีกหลายข้อที่เราไม่รู้จะไปถามใคร ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล รอหมอเป็นชั่วโมง คุยกับหมอ 5 นาทีแล้วได้คำตอบที่ไม่ตรงกับสิ่งที่อยากรู้ แถมยังต้องจ่ายเงินให้เขาอีก

เราเลยคิดว่าถ้ามีเพจที่มีข้อมูลตรงนี้เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับคนที่เขาสงสัย ไม่ต้องไปตามหาคำตอบมันก็คงจะดี เพราะสุดท้ายแล้ว การที่ไม่มีใครมาตอบเรื่องเหล่านี้มันไม่ได้แปลว่าคำถามจะหายไป แต่จะหมายความว่าเขาจะไปหาข้อมูลที่อื่นซึ่งมันอาจไม่ถูกต้อง เช่นไปถามในเว็บบอร์ดที่ทุกคนพูดแบบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกหรือเปล่า เราเลยต้องการสร้างเพจเพื่อให้ความรู้ตรงนี้ด้วย

Q: 3 ปีที่ผ่านมา มายาคติเรื่องประจำเดือนเปลี่ยนไปไหม

A: โอ๊ย ต่างกันมากค่ะ วันแรกที่ทำแบรนด์คนยังบอกว่า พูดเรื่องนี้ได้ยังไง เรายังเขียนคำว่า น้องสาว จิ๊มิ๊ ในคอนเทนต์อยู่เลย จนกระทั่งวันนี้เราเปลี่ยนเป็นคำว่าจิ๋มเขาก็โอเคแล้ว ตรงนี้มันก็โชว์ว่าคนเขาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น พูดถึงมากขึ้น ถกเถียง และพร้อมที่จะรับข้อมูลเรื่องนี้มากขึ้น มันโชว์ให้เห็นด้วยว่าเราได้สร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะเคยมีน้องๆ ชุดนักเรียนมาทักเราว่ากินยาคุมแบบฉุกเฉินผิดต้องทำยังไง ท้องไหม นี่คือสาเหตุหนึ่งที่เราทำเพจขึ้นมา เพราะเรารู้สึกว่ามันมีน้องๆ คิดแบบนี้จริงๆ แล้วถ้าเขาได้ข้อมูลผิดๆ ไป มันเอฟเฟกต์กับชีวิตเขาเลยนะ สุดท้ายเราก็บอกตรงๆ ว่าไม่ใช่หมอ แนะนำให้เขาไปหาเภสัชใกล้บ้านแบบไม่ต้องอาย เราให้ข้อมูลแล้วให้กำลังใจมากกว่า

Q: ประโยคหนึ่งที่เราเห็นบ่อยๆ ในสื่อของ ira คือผ้าอนามัยเป็นเรื่องของคนทุกคน ทุกเพศ อยากให้อธิบายประโยคนี้ให้ฟังหน่อยได้ไหม

A: เพราะว่าเรื่องเมนส์กระทบกับทุกคน กระทบกับสังคมของเรา การที่คุณเป็นผู้ชายแต่คุณไม่รู้เรื่องผ้าอนามัยเลยก็หมายความว่าคุณไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ กับคนมีประจำเดือนได้ 100% และคุณไม่ได้เข้าใจว่าสังคมของเราอยู่กันแบบสอดคล้องกันยังไง ถึงคุณจะเป็นผู้ชายคนหนึ่ง แต่คุณต้องเข้าใจว่าการมีประจำเดือนมันไม่ได้ส่งผลแค่ อุ๊ย เมนส์มา แต่ประจำเดือนส่งผลถึงฮอร์โมน วิธีการนอน วิธีการกิน ทุกอย่างในชีวิตเขา แล้วมันไม่ได้ส่งผลนานแค่หนึ่งอาทิตย์เท่านั้น เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจและทำความเข้าใจมากขึ้น เพราะถ้าคุณมีแฟน หรือคุณเป็นคุณพ่อที่มีลูกสาว คุณจะคุยกับเขายังไงล่ะ

ผู้หญิงก็เช่นกัน เราเคยไปออกบูธแล้วมีผู้หญิง 2 คนที่เป็นเพื่อนสนิทกันมาจับผ้าอนามัยของ ira แล้วชอบ บอกว่านุ่มมาก ไม่เคยเจอนุ่มขนาดนี้มาก่อน แล้วอีกคนหนึ่งก็บอกว่าปกติเขาใช้แบรนด์นี้ อีกคนก็คุยต่อว่าฉันใช้แบรนด์เดียวกัน กลายเป็นว่า 2 คนที่เป็นเพื่อนสนิทกันไม่เคยคุยเรื่องผ้าอนามัยกันเลย เราว่าสังคมเราควรจะทำลายกำแพง (Break the barrier) ตรงนี้ได้แล้ว ทุกคนควรหันมาคุยกัน เข้าใจกัน และยอมรับความหลากหลายของคนรอบข้างคุณได้แล้ว

Q: กลับกัน ตอนนี้คุณยังเห็นมายาคติเดิมๆ ที่บอกว่าผ้าอนามัยเป็นเรื่องของคนมีประจำเดือนเท่านั้นอยู่หรือเปล่า

A: คิดว่ายังมีอยู่ แต่คนที่คิดแบบนั้นเริ่มเป็นฝั่งที่ไม่กล้าพูดแล้ว ทั้งที่ตอนแรกเขาเป็นฝ่ายบอกเราว่าไม่ควรพูด แต่ตอนนี้บทบาท (Role) มันกลับกัน เราสามารถพูดเรื่องจิ๋ม เรื่องผ้าอนามัย หรือแม้กระทั่งเรื่องเซ็กซ์ได้ สิ่งนี้มันโชว์ว่าเราสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ และมีคนที่คิดเหมือนเราอยู่หลายคน ทุกคนเห็นแล้วว่าความจริงคุณควรจะสร้างสังคมที่เปิดกว้างให้กับทุกความคิดเห็น คนที่เคยบอกว่าเราผิดอาจจะคัดค้านแต่ไม่กล้าส่งเสียงขนาดนั้นแล้ว มันโชว์ให้เห็นแล้วว่าเนี่ย This is my time.

Q: ภาพฝันสุดท้ายที่คุณอยากเห็นเกี่ยวกับผ้าอนามัยคืออะไร

A: อยากให้ผ้าอนามัยมีทุกที่และเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึง ตอนนี้เราพยายามผลักดันการทำธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) มากขึ้น มีโรงแรมหรือองค์กรที่เขามาขอซื้อเพื่อไปเป็นสวัสดิการให้พนักงานหรือลูกค้า อย่างโรงแรมคีรีมายา เขาใหญ่ ซึ่งเป็นโรงแรมแรกที่เป็นพาร์ตเนอร์ของเรา 

เราคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมากเพราะไม่ว่าคุณจะนิยามตัวเองว่าเป็นเพศไหน มีสถานะยังไง หรืออยู่ที่ไหน คุณก็สามารถเผชิญปัญหา Period Poverty เพราะทุกคนอาจมีประจำเดือนแบบไม่ตั้งตัวได้ เราเชื่อว่ามีผู้หญิงหลายคนเคยเอาทิชชูมาพันๆ แล้วแทนใช้ผ้าอนามัยเพราะเขาไม่มีผ้าอนามัยตอนเมนส์มา เราอยากแก้ปัญหาตรงนี้จริงๆ และคิดว่าองค์กรหลายที่ที่ให้พนักงานทำตา ทำฟัน ทำทุกอย่างฟรีได้ ก็ต้องซัพพอร์ตผ้าอนามัยที่ราคาไม่ได้สูงขนาดนั้นแต่จำเป็นมากกว่าได้ นี่เป็นวิสัยทัศน์ (Vision) ที่เราอยากทำให้สำเร็จ 

Q: ในระดับโครงสร้าง เราเห็นว่าพรรคการเมืองหลายๆ พรรคก็ชูนโยบายเรื่องผ้าอนามัยฟรีและไม่เก็บภาษีผ้าอนามัย คุณมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร

A: ตอนทำแบรนด์ใหม่ๆ เรากังวลมาก เพราะเหมือนตอนนั้นมี #saveผ้าอนามัย และเรื่องภาษีก็เพิ่งถูกพูดถึงเลย หลายคนบอกว่าเป็นแบรนด์ไม่ควรออกมาพูดเพราะแบรนด์ไม่ควรมีจุดยืนทางการเมือง ยูทำผ้าอนามัยยูจะมาพูดเรื่องการเมืองทำไม มันจะส่งผลต่อลูกค้าหรือเปล่า แต่เราคิดว่าไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว If you don’t stand for anything, you’ll fall for everything. เราคิดว่ามันเป็นหนึ่งในหน้าที่ของเราที่จะออกมาพูดว่าเราซัพพอร์ตสวัสดิการผ้าอนามัย และผ้าอนามัยเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐควรซัพพอร์ตมากขึ้น 

เราเลยออกไปคุยกับพรรคต่างๆ ว่านโยบายควรจะเป็นยังไง ซึ่งเราคิดว่ามันดีมากที่เขาสนใจ แต่สเตปต่อไปคือคุณต้องรีเสิร์ชแล้วทำนโยบายให้ตอบโจทย์คนที่เขามีปัญหาจริงๆ บางพรรคเข้ามาถามว่าคิดยังไงกับการให้เงินผู้หญิง 300 บาทต่อเดือน เราก็ถามเขาต่อว่า 300 บาทนี่จะให้ใคร ผู้หญิงกลุ่มที่มีรายได้เท่าไร แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเขาจะเอาไปซื้อผ้าอนามัย คือมันน่าสนใจแต่มีคำถามตามมาเยอะมาก ซึ่งการคิดนโยบายที่ตอบโจทย์จริงๆ ต้องมีการดึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่คนที่เขามีปัญหา ประชาชน คนทำงานวิชาการ หรือแม้กระทั่งภาครัฐมาคุยกันว่าจะทำอะไร ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นว่าคุณมีนโยบายแต่ไม่ได้ช่วยเหลือคนที่มีปัญหาจริงๆ 

หรืออย่างเรื่องภาษี เราก็แนะนำว่าภาษีจะมีก็ได้ ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเข้าใจว่าการที่อยู่ๆ จะไปยกเลิกภาษีมันยาก เราเคยทำงานราชการเรารู้ว่าขั้นตอนมันเยอะ คุณอาจไม่ต้องยกเลิกภาษีทันทีก็ได้ แต่นำส่วนหนึ่งของภาษีที่เก็บจากคนที่มีกำลังจ่ายไปเป็นกองทุนสำหรับคนที่เขาไม่มีกำลังจ่ายได้ไหม เป็นกองทุนสำหรับเด็กนักเรียนที่เขาต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีผ้าอนามัยได้ไหม เพราะในอเมริกามันมีงานวิจัยออกมาเลยว่าเด็ก 1 ใน 5 ต้องหยุดเรียนเพราะเรื่องนี้ แล้วประเทศไทยล่ะจะมีกี่คน เราเลยรู้สึกว่าเริ่มจากตรงนั้นก็ได้ อาจไม่ใช่อยู่ๆ ก็ยกเลิกภาษีแต่ควรจะมีหนทางแก้ (Solution) หลายๆ มุมมากกว่า

Q: คุณมองอนาคตของ ira ไว้อย่างไร

A: สังคมและเทรนด์อาจเปลี่ยน แต่มิชชั่นหลักของเรายังเหมือนเดิม นั่นคือ No Period Stigma, No Period Poverty และการเป็นทางเลือกที่ดี สะดวกสบายให้กับผู้มีประจำเดือน เรายังอยากเป็นคนสร้างมูฟเมนต์ตรงนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อผลักดันคุณค่าทางสังคม (Social Value) ไปพร้อมกับธุรกิจ ปีที่ผ่านมาเราทำการกุศล (Charity) เยอะมาก มีการเข้าไปในโรงเรียนในกรุงเทพฯ 4 ที่ เพื่อแจกผ้าอนามัยและให้ความรู้เด็กๆ เกี่ยวกับการจัดการประจำเดือนของตัวเอง ตั้งแต่เราเริ่มทำแบรนด์มาเราบริจาคผ้าอนามัยไปแล้วกว่า 470,000 แผ่นทั้งในไทยและต่างประเทศ คิดว่าในอนาคตเราก็ขยายทุกช่องทางของเราและสร้างความเข้าใจในสังคมให้ไปด้วยกัน

Q: อยู่กับแบรนด์มาแล้ว 3 ปี ในวันนี้การทำแบรนด์ ira มีความหมายต่อตัวคุณอย่างไร

A: เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราคิดบ่อยมาก และเราเพิ่งโพสต์ไปด้วยว่าในที่สุดวันนี้ เราก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองแล้ว เพราะตอนเริ่มทำแบรนด์มีคนกังขา (Doubt) เราเยอะมาก มีคนจู่โจม (Attack) เยอะว่าไม่ควรทำ ไม่ควรออกมาพูด แต่ตอนนี้ ira ทำให้เรารู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นและทำให้เราเชื่อในสังคมมากขึ้นด้วย

ira คือตัวเรา คือเป้าหมายของเรา และคือสิ่งที่เติมเต็มชีวิตเรา ประมาณนั้นเลยค่ะ

ติดตามคอนเทนต์และสินค้าของ ira ได้ในห้างสรรพสินค้าทั่วไปและช่องทางต่างๆ ของ ira

ภาพโดย ณัฐวุฒิ เตจา



Author

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนชาวเชียงใหม่ผู้รักทะเลและหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Related Stories

รู้จัก VVOMEN ถ้วยอนามัยแบรนด์แรกในไทย ที่สามารถมี ‘เซ็กซ์’ ตอนเป็นเมนส์ได้ จากฝีมือคุณหมอที่เข้าใจความเลี่ยนงู่นของคนมีเมนส์

life

รู้จัก VVOMEN ถ้วยอนามัยแบรนด์แรกในไทย ที่สามารถมี ‘เซ็กซ์’ ตอนเป็นเมนส์ได้ จากฝีมือคุณหมอที่เข้าใจความเลี่ยนงู่นของคนมีเมนส์

MIRROR'sGuide

ราคาสินค้าอาจแตกต่างตามช่วงเวลาและโปรโมชั่น
โปรดอ้างอิงจากราคาปลายทางของร้านค้าขณะสั่งซื้อ