LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

“ประหารหนูเถอะค่ะ” เสียงจากคนถูกข่มขืน ที่ยังคงทุกข์ทรมานจาก PTSD ขณะที่ผู้กระทำถูกตัดสินจำคุกแค่ 3 ปี

นับเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง ที่คำพิพากษาของศาลไม่ได้ช่วยให้คนถูกข่มขืนรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความเจ็บปวดแทน และกรณีนี้ยิ่งเป็นเครื่องชี้ชัด ว่ากฎหมายข่มขืนของบ้านเราควรได้รับการแก้ไขได้แล้ว

ผู้ถูกกระทำรายหนึ่ง ได้เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊กของตัวเองเกี่ยวกับสิ่งที่เธอต้องเผชิญ หลังจากถูกข่มขืนโดยคนขับรถแท็กซี่ที่เธอเรียกผ่านแอปพลิเคชั่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2565  

ซึ่งหลังเกิดเหตุเธอได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้กระทำถูกดำเนินคดี ขณะที่เธอเองยังต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างรุนแรง ถึงกับต้องเข้ารับการรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้าและกินยาอีกเป็นจำนวนมาก

แต่ล่าสุดนี้เธอเพิ่งพบว่าจำเลยถูกตัดสินจำคุกเพียง 3 ปี และ ณ ตอนนี้ก็ได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่จะยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นหากพิจารณาถึงระบบการให้อภัยโทษ แปลว่าผู้กระทำอาจถูกจำคุกจริงๆ ไม่ถึง 3 ปีด้วยซ้ำ

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เธอและคนรักออกมาโพสต์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เนื่องจากคำติดสินนี้ยิ่งตอกย้ำบาดแผลของเธอจนทำให้ภาวะ PTSD (Post-traumatic stress disorder) หรือภาวะทางจิตใจหลังเผชิญความเจ็บปวดยิ่งรุนแรงขึ้น ทั้งยังมีอาการ Hyperventilation ด้วย

สิ่งที่เธอต้องการคือ การแก้ไขกฎหมายมาตรา 276 ที่ว่าด้วยการข่มขืน ความว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท” 

อย่างที่เราเห็นว่าการตัดสินโทษภายใต้กฎหมายมาตรานี้ไม่เพียงพอเลยสำหรับความเจ็บปวดที่ผู้ถูกกระทำต้องเผชิญ โดยเธอได้เขียนไว้ว่า

“แล้วความสุขหนูที่เหลือล่ะคะ หนูจะได้กลับคืนมาเท่ากับศาลตัดสินจำคุกเค้า 3 ปีไหมคะ อีก 3 ปีหนูจะกลับมายิ้มสดใสร่าเริงได้เหรอคะ เพราะหนูสู้มาตลอดเพื่อฟังคำตัดสิน แม้กระทั่งคำตัดสินหนูยังไม่ได้ยินกับหูจากบัลลังก์เลยค่ะ ประหารหนูเถอะค่ะ”…

เธอไม่ได้หมายถึงเรื่อง ข่มขืน=ประหาร เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้เธอได้ระบุชัดเจนว่าต้องการให้ผู้กระทำได้รับโทษสูงสุดนั่นคือจำคุก 20 ปี และกระบวนการยุติธรรมก็ควรให้ความสำคัญกับความเจ็บปวดทางจิตใจของผู้ถูกกระทำมากกว่านี้ ซึ่งอันที่จริงพรรคก้าวไกลพูดถึงนโยบายเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสามารถแก้กฎหมายข้อนี้ได้ในเร็ววัน

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติม และร่วมส่งกำลังใจให้เธอได้ที่ https://www.facebook.com/natcanikan.rattanacosa (ขออนุญาตเจ้าของเฟสบุ๊กเรียบร้อยแล้ว



Author

MIRROR TEAM

กองบรรณาธิการ

Related Stories

การข่มขืนไม่อาจเป็นการแก้แค้นที่ชอบธรรม เช่นเดียวกับประโยค “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ”  ที่ไม่ใช่ข้ออ้างในการยัดเยียดเซ็กซ์ให้กับใคร

life

การข่มขืนไม่อาจเป็นการแก้แค้นที่ชอบธรรม เช่นเดียวกับประโยค “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” ที่ไม่ใช่ข้ออ้างในการยัดเยียดเซ็กซ์ให้กับใคร

BY MIRROR TEAM 15 NOV 2022

MIRROR'sGuide