LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

แม้แต่ในโรงพยาบาลยังไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เมื่อมี ‘หมอข่มขืนคนไข้’ เพิ่มขึ้นทั่วโลก และในไทยเอง โทษยังเบากว่าประเทศอื่นมาก

ฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ปี 2561 สำหรับคดีดังในไทย ‘หมอข่มขืนคนไข้’ ที่ในที่สุด ศาลตัดสินให้ นพ.จักรพงษ์ ลีลาพร เจ้าของคลินิกแพทย์จักรพงษ์ และสูตินรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนครสวรรค์ จำคุก 4 ปี 15 เดือน ไม่รอลงอาญา ทว่าแม้นักข่มขืนจะได้รับโทษ แต่ก็น่าตั้งคำถามถึงช่องว่างของกฎหมายบ้านเราอีกเหมือนกันว่า ระยะเวลาที่รับโทษจำคุกมันสั้นไปหรือเปล่า เมื่อเทียบกับสภาพจิตใจของเหยื่อที่เสียไป หรือกำลังแรงที่เธอและทนายได้ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน

เคสการข่มขืนในโรงพยาบาล เราจะเห็นว่าส่วนหนึ่งนั้นเกิดขึ้นโดยหมอสูติฯ ที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและตรวจภายในผู้หญิง ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และตอกย้ำความรุนแรงทางเพศ ที่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่โรงพยาบาลก็ยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนไข้ที่หวังพึ่งหมอในการรักษาอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะกับผู้หญิง แต่สิ่งที่แตกต่างกันออกไปคือ ในหลายประเทศนั้นมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างสมเหตุสมผล และถ้าเทียบกับบทลงโทษในกรณีที่ ‘ติดคุก’ เหมือนกับกรณีนี้ของไทย ประเทศเรายังถือว่าเคสจำคุกจากการข่มขืนยังอยู่ในระยะเวลาที่สั้นมาก

เราขอยกตัวอย่างเคสหมอข่มขืนที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลหลายๆ ประเทศ ที่ศาลได้ตัดสินโทษในปี 2565-2566 นี้ เริ่มกันที่ประเทศบราซิล กรณี Giovanni Quintella Bezerra แพทย์วัย 32 ปี ข่มขืนหญิงตั้งครรภ์ระหว่างผ่าคลอดในโรงพยาบาล Vilar dos Teles Women's Hospital ที่มีโทษจำคุก 8-15 ปี โดยเคสนี้ที่เหยื่อได้รับความยุติธรรมเพราะพยาบาลในโรงพยาบาลสงสัยพฤติกรรมแปลกๆ ของหมอระหว่างผ่าตัด จึงซ่อนกล้องเพื่อบันทึกภาพเพื่อใช้เป็นหลักฐานมัดตัวเขา และพบว่าเขาได้เอาอวัยวะเพศชายของตัวเองเข้าไปในปากของคนไข้ และเช็ดออกตอนท้าย เพื่อปกปิดหลักฐาน ซึ่งก็น่าเศร้าเหมือนกันที่อาจมีเหยื่อหลายคนก่อนหน้านี้ไม่รู้ตัวว่าตัวเองถูกล่วงละเมิดทางเพศขณะที่ไม่ได้สติ และไม่มีหลักฐานมายืนยัน

หรือในเมืองเจนไน ประเทศอินเดีย ที่เกิดขึ้นในสถานกักกันโควิด-19 แม้ผู้ถูกกระทำจะไม่ใช่คนไข้ แต่ครั้งนี้ก็เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานหญิงซึ่งโดน ดร.Vetriselvan ข่มขืนในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ปี 2564 และศาลมาฮิลา ก็ได้ตัดสินให้เขาจำคุก 10 ปี ในปี 2566

เช่นเดียวกับ ประเทศบาฮามาส ที่ ดร.Gerald Forbes ข่มขืนเพื่อนร่วมงานหญิงในห้องน้ำคลินิก เมื่อ 13 ปีก่อน ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี

ยังมีกรณีหมอ Shafiul Milky หมอชาวจีลอง ประเทศออสเตรีย ข่มขืนคนไข้หญิงที่มาตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) กับเขา ถูกศาลจำคุก 14 ปี 6 เดือน ซึ่งมีความผิด 15 ข้อหา ทั้งข่มขืน การทารุณทางเพศ (sexual assault) และการทารุณทางเพศไม่รวมการข่มขืน (indecent assault) ซึ่งกระทำต่อผู้หญิง 6 คน ระหว่างปี 2555-2562

จะเห็นได้ว่าในแต่ละประเทศที่ยกตัวอย่างมา มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของการใช้เวลากว่าศาลจะตัดสินโทษให้กับนักข่มขืน คล้ายกับกรณีเคสหมอข่มขืนคนไข้ในบ้านเรา ที่ ศรันยา หวังสุขเจริญ ทนายนิด้า ระบุว่าเธอได้ต่อสู้เพื่อคนไข้คนดังกล่าวมาตอนปี 2561 “ตั้งแต่พยานหลักฐานในสำนวนยังกระจัดกระจาย และไม่มีชิ้นดี เพราะผู้เสียหายถูกกระทำไปก่อนหน้าพบทนายเป็นเดือนโดยไม่ได้ตรวจร่างกาย ไม่มีคราบอะไรของผู้กระทำความผิดอยู่บนเนื้อตัวร่างกาย ขณะถูกกระทำไม่ได้กรีดร้องขอความช่วยเหลือ มีแต่พฤติกรรมแวดล้อมอื่นๆ กว่าจะประกอบร่างจนพยานหลักฐานมีน้ำหนักพอที่จะมีวันนี้ได้ หายเหนื่อย ดีใจแทนลูกความ”

ซึ่งทำให้เห็นว่า กระบวนการตรวจสอบเหยื่อถูกข่มขืน แม้เหยื่อจะรู้สึกแย่ และเจ็บปวดมากแค่ไหน สิ่งแรกๆ ที่ทำให้คดีนั้นไปต่อได้เร็ว ก็ยังคงเป็นการที่เหยื่อต้องรวบรวมสติเข้ารับการตรวจร่างกาย เพื่อเก็บหลักฐานแม้จะขัดต่อความเป็นจริง ที่ไม่ใช่เหยื่อทุกคนจะมีสภาพจิตใจที่ดีพอในขณะนั้น เราจึงอยากให้เข้าใจ และหยุดโทษเหยื่อ ถึงเหยื่อบางคนจะได้รับความยุติธรรมล่าช้า เพื่อรอความพร้อมของตัวเอง รวมถึงต้องหาหลักฐานอื่นๆ มายืนยัน แต่นั้นคือความพร้อมที่มาจากเหยื่อจริงๆ เพราะหากพวกเขายืนยันว่าไม่พร้อมที่จะออกมาพูดจริงๆ เราก็ควรให้อำนาจกับเหยื่อเพื่อรักษาแผลใจ ไม่ควรกดดันให้เหยื่อออกมาพูด

และจากที่ยกเรื่องโทษจำคุกกรณีหมอข่มขืนที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาลมาข้างต้น ก็คงทำให้เห็นแล้วว่า โทษข่มขืนของไทยยังอ่อนอยู่มาก และถอยออกมาจากกรณีข่มขืน คนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอื่นๆ ก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรมเท่าที่ควร ทั้งโทษจำคุกที่ไม่สมเหตุสมผล หรือการจ่ายค่าปรับจำนวนหนึ่งแล้วจบทุกอย่าง เราจึงหวังว่ากฎหมายคุ้มครองเหยื่อความรุนแรงทางเพศของไทยจะเข้มงวด และเข้มข้นขึ้นในอนาคต

อ้างอิง:

https://cayman.loopnews.com/content/doctor-arrested-sexual-assault-pregnant-woman-during-c-section

https://www.facebook.com/nidalawyer/posts/pfbid026q3szUgV5S8K23cwS7aonbAwJpANY7ELSgdxJd9LnsT84akDWyMgjYLuTr7bNCaWl

https://ournews.bs/doctor-sentenced-to-12-years-for-rape/

https://www.theguardian.com/australia-news/2023/apr/27/geelong-doctor-who-sexually-assaulted-patients-sentenced-to-14-years-in-prison

https://timesofindia.indiatimes.com/city/chennai/doctor-gets-10-year-jail-for-raping-colleague-in-chennai/articleshow/96654399.cms 

Author

MIRROR TEAM

กองบรรณาธิการ

Related Stories

แม้แต่ในโรงพยาบาลยังไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เมื่อมี ‘หมอข่มขืนคนไข้’ เพิ่มขึ้นทั่วโลก และในไทยเอง โทษยังเบากว่าประเทศอื่นมาก

life

แม้แต่ในโรงพยาบาลยังไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เมื่อมี ‘หมอข่มขืนคนไข้’ เพิ่มขึ้นทั่วโลก และในไทยเอง โทษยังเบากว่าประเทศอื่นมาก

BY MIRROR TEAM 23 MAY 2023

MIRROR'sGuide