เชื่อว่าหลายคนมี หรืออาจเคยมีหมอนเน่า ผ้าห่มเน่า ตุ๊กตาเน่า หรือของเก่าๆ ที่เราเก็บมันไว้ข้างกาย อยากอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา ซึ่งมีคำเรียกเฉพาะว่า ‘Transitional Object’ อยู่กันอย่างน้อยสักหนึ่งชิ้น ผู้คนไม่ยอมซัก (หรือถ้าซักก็ซักน้อยมาก) และไม่ยอมทิ้ง เพราะความหวงแหน กลัวสัมผัสที่อบอุ่น หรือความทรงจำบางอย่างจะหายไป เพราะนี่แทบจะเป็นของล้ำค่าสำคัญชิ้นหนึ่งในชีวิต สิ่งของที่พูดได้เต็มปากว่าเป็นมากกว่าสิ่งของ แต่เป็นวัตถุประโลมจิตใจให้กับผู้คน ไม่ใช่เฉพาะเด็กๆ แต่ในวัยผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
สมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association) ระบุว่า เดิมที Transitional Object มีความหมายว่า ตุ๊กตา ผ้าห่ม หรือสิ่งของอื่นๆ ที่เด็กเลือกใช้เอง เพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวลจากการต้องแยกออกจากวัตถุภายนอกชิ้นแรก นั่นคือ แม่ จนกว่าเด็กจะสร้างวัตถุภายใน หรือสิ่งยึดเหนี่ยวใจ ซึ่งให้ความรู้สึกปลอดภัย และสบายใจได้ โดยนิยามนี้อธิบายโดยนักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ โดนัลด์ วินนิคอตต์ (Donald Winnicott) แต่ในตอนนี้ได้มีการขยายขอบเขตความหมายไปถึงบุคคล หรือสิ่งอื่นใด ที่ให้ความปลอดภัย ให้ความสุขทางด้านอารมณ์ และเชื่อมโยงกับการให้คุณค่าเชิงสัญลักษณ์
นั่นหมายความว่า ไม่ใช่แค่เด็กที่จะมีหมอนเน่าสักใบ หรือตุ๊กตาสักตัวเป็นเพื่อนคอยดูแล เมื่อแม่ พ่อ หรือผู้ปกครองคนใดก็ตามไม่ได้อยู่ข้างๆ ตลอดเวลา ผู้ใหญ่เราเองก็มีของแทนใจเหล่านี้ที่เป็นเพื่อนคู่คิดยามอยู่คนเดียวเหมือนกัน
และในบางครั้ง Transitional Object ก็ไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบสิ่งของไม่มีชีวิตด้วย เพราะสิ่งมีชีวิตบางอย่างก็เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจได้เหมือนกัน เช่น สัตว์เลี้ยง ตามที่อัลลัน ชวอร์ต (Allan Schwartz) นักสังคมสงเคราะห์คลินิก อธิบายไว้ เขาเสริมว่า สัตว์เลี้ยงสามารถลูบ กอด และอุ้มไว้บนตัก ซึ่งจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าพวกมันช่วยลดความเครียด และช่วยให้ผู้คนผ่อนคลาย ไปจนถึงรู้สึกดีขึ้นได้
ฉะนั้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต ก็สามารถช่วยลดความเครียด ความหดหู่ ความกังวลของผู้คนในยามยาก ไนลาห์ วอร์เรน (Naiylah Warren) นักบำบัด เสริมว่า Transitional Object สามารถให้ความปลอดภัย และสบายใจระหว่างสถานการณ์ชีวิตรูปแบบต่างๆ เช่น ผ่านความเจ็บป่วย การรักษาทางการแพทย์ ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ ไปจนถึงเรียกความมั่นใจในการเปลี่ยนงานใหม่ เพราะของเหล่านั้น “ช่วยให้คุณรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ และมีความพร้อมมากขึ้นที่จะออกไปใช้ชีวิต”
และสำหรับบางคน การเก็บตุ๊กตาสมัยยังเด็กไว้บนเตียงตอนโต ใช้ผ้าห่มผืนเดิมๆ หรือมีสร้อยที่มองไปกี่ครั้งก็อุ่นใจ นอกจากจะมอบพลังกาย พลังใจ อีกจุดประสงค์ของพวกมันอาจมีไว้เพื่อเตือนใจให้นึกถึงความสุขในวัยเด็ก ที่ตอนนี้เราอาจไม่ได้มีมันเท่าช่วงเวลานั้น ไปจนคิดถึงความทรงจำเก่าๆ หรือใครบางคนที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันในปัจจุบัน
“ไอเทม หรือสิ่งของต่างๆ มักจะเก็บความทรงจำ และประสบการณ์มากมาย และนำคนที่เรารักกลับมาได้ง่ายขึ้นด้วย” ดร.เฮเลน มาร์โล (Helen Marlo) หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาคลินิกแห่งมหาวิทยาลัย Notre Dame de Namur รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าว และตั้งข้อสังเกตว่า เหล่าตุ๊กตา หรือผ้าห่ม ที่ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลบางอย่าง เมื่ออยู่ในวัยผู้ใหญ่บางคนอาจเป็นตัวช่วยให้ผ่านพ้นความรู้สึกสูญเสียบางสิ่ง หรือบางคนที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตเราแล้วได้ ตรงกับการศึกษาในปี 2020 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Comprehensive Psychiatry สำรวจแม่ผู้สูญเสียลูกน้อยไป พบว่า Transitional Object ช่วยมอบความปลอดภัย และเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงต่อผู้สูญเสีย
จึงเป็นเรื่องปกติมากที่คนเราไม่ว่าจะวัยใดก็ตาม จะมีสิ่งของแทนใจที่มาในรูปแบบของเก่า ผ้าเน่า หมอนเน่า ตุ๊กตา รูปถ่าย สมุดโน้ต เสื้อเก่า ฯลฯ อะไรก็ตามที่เก็บไว้เป็นของรักของหวง เพราะบางครั้งความสบายใจอาจไม่ได้มาจากผู้คนรอบข้าง หรือกิจกรรมต่างๆ เสมอไป เพราะมันอาจมาจากสิ่งของไม่มีชีวิตในบ้าน ที่ทุกการสัมผัสจะทำให้เรากลับมามีชีวิตชีวา และมีความสุขเล็กๆ ในวันที่ต้องการพลังเพื่อออกไปใช้ชีวิตก็ได้
อ้างอิง:
https://dictionary.apa.org/transitional-object
https://www.mentalhelp.net/blogs/the-transitional-objects-and-self-comfort/
https://www.wellandgood.com/transitional-objects/