เส้นบางๆ ระหว่างความเป็นเยาวชน และผู้กระทำความผิด ที่ประเทศไทยควรจะมาทบทวนกันอีกครั้ง กรณี ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ให้โอกาสนักเรียนชายที่บังคับข่มขืนนักเรียนหญิงวัย 17 ปี ในโรงเรียนแห่งหนึ่งประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อหน้าเพื่อนนักเรียนกว่า 30 คน โดยนักเรียนชายได้เป็นนักเรียนในโรงเรียนต่อ ส่วนเหยื่อผู้หญิงที่ถูกข่มขืน นอกจากจะยังไม่มีรายละเอียดการได้รับความเป็นธรรมแล้ว ยังถูกยื่นข้อเสนอให้ย้ายโรงเรียนหากประสงค์ ซึ่งนี่คือเครื่องสะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เด่นชัดในระบบการศึกษา ที่อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต
กี่ครั้งแล้วที่ข่าวการข่มขืน หรือล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนถูกซุกซ่อนเพื่อ ‘ปกป้องชื่อเสียงของโรงเรียน’ จนเด็กนักเรียนที่ถูกกระทำต้องออกมาเรียกร้องกันเอง ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อผู้ปกครองของเด็กหญิงอายุ 17 ปี ถูกทางโรงเรียนขอให้ปิดข่าวการข่มขืนที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม เพราะกลัวจะเสียชื่อเสียง จนต้องไปร้องเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการในวันที่ 12 กันยายน แต่กลับไม่ได้ความคืบหน้า ผู้ปกครองจึงแจ้งไปทางสื่อมวลชนเพื่อให้เกิดเป็นข่าวใหญ่ ทำให้เราเห็นว่าสถานศึกษาหลายแห่งยังคงเห็นแก่ชื่อเสียงของโรงเรียนมากกว่าชีวิตจิตใจของนักเรียนที่ถูกกระทำ ซึ่งหากนักเรียนไม่ออกมาเรียกร้อง ผู้กระทำความผิดอาจได้ใจ และกระทำผิดซ้ำเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่กับนักเรียนกระทำนักเรียน ยังรวมไปถึงครู หรือผู้ใหญ่ในโรงเรียนที่กระทำชำเรานักเรียนที่เราเห็นผ่านข่าวหลายๆ เคส สุดท้ายโรงเรียนยังคงดำรงต่อไป ไร้การถูกลงโทษ ตรวจสอบ แต่นักเรียนที่ถูกกระทำชำเรา ต้องผ่านเรื่องนี้ไปคนเดียว
ล่าสุด เมื่อเป็นข่าวดัง ตามสไตล์ประเทศไทยก็เป็นเหมือนการเร่งให้เกิดการแก้ไขปัญหา (ทั้งๆ ที่หากผู้ปกครองไปแจ้งเรื่องไว้ ควรจะแก้ไขปัญหาเลยตั้งแต่ตอนนั้น) รมว.ศึกษาธิการ ออกมาชี้แจงว่า ได้สั่งย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนมาปฏิบัติหน้าที่ยังส่วนกลาง และดำเนินการตรวจสอบทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครูเวรที่ดูแลเด็กในวันที่เกิดเหตุ ซึ่งนี่ก็เป็นการย้ำชัดว่า บุคลากรในโรงเรียนที่บกพร่องในการดูแลนักเรียน กลับยังคงอยู่ในโรงเรียน เพียงแค่สั่งย้ายไปทำหน้าที่อื่นแทน ส่วนนักเรียนชายที่เป็นผู้กระทำได้ถูกลงโทษโดยการทำทัณฑ์บน แต่ยังให้โอกาสเรียนและสอบได้ เพียงแค่ต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ เป็นการแยกตัวจากนักเรียนคนอื่น
เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าบทลงโทษที่เหมือนไม่ถูกลงโทษครั้งนี้จะทำให้นักเรียนชายเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร และการที่เด็กคนหนึ่งข่มขืนเด็กผู้หญิงต่อหน้าเพื่อนทั้ง 30 คน มันเป็นความตั้งใจที่จะใช้คำว่าพลาดก็อาจจะยากเกินไป และหากจะบอกว่าเพราะนี่คือเยาวชน การลงโทษเยาวชนที่กระทำผิดร้ายแรงขนาดนี้ อาจจะต้องมีมากกว่าการให้เรียนออนไลน์อยู่บ้าน นั่นทำให้เราควรมาถกเถียงเรื่องกฎหมายสำหรับเยาวชนกันให้มากขึ้น
เพราะขณะเดียวกันด้านนักเรียนหญิงที่ถูกกระทำ เธอถูกส่งตัวกลับไปอยู่ที่บ้าน และถูกยื่นข้อเสนอให้ย้ายโรงเรียน หากผู้ปกครองต้องการ นั่นแปลว่า นอกจากฝ่ายหญิงจะไม่ได้ถูกเยียวยาด้านสภาพจิตใจที่ควรมาก่อนเป็นอันดับแรกแล้ว ฝ่ายที่ออกมาขอความยุติธรรมยังต้องเป็นฝ่ายย้ายออกไปเอง แทนที่คนกระทำความผิดจะต้องออกไป ยิ่งเป็นนักเรียนหญิง ยังแสดงถึงการที่ผู้หญิงถูกทำให้อับอายจากการถูกข่มขืน ซึ่งเทียบกับนักเรียนชาย หรือผู้กระทำผิด ที่สังคม หรือตัวผู้มีอำนาจที่มีสิทธิออกคำสั่ง ยังไม่มองว่ามันร้ายแรง แถมยังมอบโอกาสครั้งที่สอง
“การแก้ปัญหาดังกล่าว ต้องดูให้รอบด้าน โดยจะต้องคำนึงถึงอนาคตเด็กด้วยว่าจะเติบโตไปอย่างไรในสังคม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระบบ การทำโทษต้องเป็นไปตามกรอบระเบียบ แต่ต้องไม่ใช่การปิดโอกาสไม่ให้เขาได้กลับตัวเลย ทุกอย่างต้องรอกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนต่อไป แต่กำชับให้ครูดูแลเด็กให้ดีที่สุด” ตรีนุช กล่าว
อย่างที่เราพูดไปตั้งแต่ต้น ทำไมอำนาจถึงตกไปอยู่ในมือผู้กระทำ เมื่อมีคำว่าเยาวชน ส่วนผู้ถูกกระทำที่เป็นเยาวชนเหมือนกัน ทำไมต้องจัดการตัวเองด้วยการเดินออกไป?
อ้างอิง:
https://www.sanook.com/news/8629850/
https://siamrath.co.th/n/385710