"การวางกรอบเรื่องความสวยมันเป็นเรื่องใหญ่มากนะ อย่างสมมติว่าถ้าเราเป็นแบรนด์แล้วเราเชื่อว่าคนต้องขาว ต้องผอม แล้วเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันไม่ได้ทำแค่ลูกค้าของเราเท่านั้นที่คิดว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่มันยังไปวางกรอบความเชื่อของคนในสังคม แม้แต่ความเชื่อของผู้ชายด้วย”
แบรนด์ sasi จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ผ่านการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในขวบปีที่ 5 ของแบรนด์ ที่นอกจากจะเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์เข้ามาแล้ว หัวใจหลักของการรีแบรนด์ครั้งนี้ยังอยู่ที่การสร้างความมั่นใจให้กับผู้หญิง เพิ่มความเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ และตัวตนของแต่ละคนนี่เองที่จะทำให้ทำทุกอย่างได้ตามความถนัดของตัวเอง
สองคนที่จะมาเล่าถึงเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การส่งพลังความมั่นใจผ่านแบรนด์ sasi ครั้งนี้คือ แท็ป-รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ของบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างนับตั้งแต่การทำให้ Srichand กลายเป็นแบรนด์เครื่องสำอางไทยที่คนยุคใหม่จดจำได้ และ ออย-เกล็ดดาว จิตต์ชื่นโชติ Brand Manager ของ sasi ที่เชื่อมั่นในเรื่องการสร้างความมั่นใจให้กับผู้หญิง เช่นเดียวกับแนวคิดของ ‘Because girls can’ ซึ่งเป็นแท็กไลน์ใหม่ของแบรนด์
แท็ป รวิศ หาญอุตสาหะ CEO แบรนด์ sasi และ Srichand
Q: การรีแบรนด์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากอะไร และทำไมต้องรีแบรนด์
คุณแท็ป: โพสิชันนิ่งของแบรนด์ sasi ที่เราเซตไว้แต่แรกค่อนข้างวัยรุ่น ซึ่งเวลาเราทำแบรนด์ โดยเฉพาะอะไรที่มีความเป็นแฟชั่นเซนส์ ถ้าเราไม่ได้จะเปลี่ยนทาร์เก็ต ก็น่าจะต้องพยายามรีเฟรชแบรนด์อยู่เสมอๆ จะเห็นว่าหลายแบรนด์ที่อยู่มาเป็นร้อยๆ ปี เขาจะมีวิธีการที่ทำให้ดูเหมือนกับ ณ วันแรกที่เขาเริ่ม เพื่อไม่ให้เป็นแบรนด์ที่ดูโบราณ
คุณออย: ในปีนี้เราปรับโพสิชันนิ่งจากแบรนด์เครื่องสำอางมาเป็นแบรนด์บิวตี้และไลฟ์สไตล์ เราอยากให้มองว่าเราไม่ได้เป็นเครื่องสำอางอย่างเดียวแล้ว แต่เราอยากยู่ใน a day in a life ของผู้บริโภคมากขึ้น เราเลยออกโปรดักต์ไลฟ์สไตล์อย่างกระเป๋าผ้า หมวก เสื้อผ้าด้วย แต่จุดแข็งของเราที่เป็นเครื่องสำอางก็ยังคงไว้ อย่าง color cosmetic ทั้งคอลเล็กชันที่เราออกมาพร้อมกับการรีแบรนด์ในปีนี้เลย
Q: ถ้าตอนนี้ sasi เป็นผู้หญิงสักคนหนึ่ง ผู้หญิงคนนั้นจะเป็นคนแบบไหน
คุณออย: ตอนที่เรารีแบรนด์กันแล้ว อย่างแรกใน brand personality เลยก็คือเรื่องความมั่นใจ เพราะ sasi เองก็เชื่อในเรื่องความมั่นใจของผู้หญิง เราอยากให้เขากล้าทำในสิ่งที่อยากทำ เพราะฉะนั้น sasi ก็จะเป็นผู้หญิงมั่นใจ อย่างที่สองคือเรื่องของความเทรนดี้ ก็เท่ากับว่าเขาจะเป็นคนที่สนใจในเรื่องใหม่ๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะ ดนตรี อาหาร การท่องเที่ยว ก็สามารถเป็นความสนใจของเขาได้ อีกเรื่องก็คือความ responsive คนลักษณะนี้ก็คือปรับตัวได้ไว ตอบรับกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก คาแรกเตอร์หลักๆ จะประมาณนี้
แต่ในเรื่องของมู้ดและโทนนั้น ความเป็น sasi คนใหม่จะพูดคุยเก่งขึ้น เหมือนเป็นมินิกูรู เป็นเพื่อนที่คุยเรื่องความสวยความงามในโลกของ owned media เรายังไม่ทิ้งความสดใสนะ แต่ในความสดใสนั้นจะมีความขี้เล่น ความเท่ที่เพิ่มขึ้น เวลาทำคอนเทนต์ เราก็จะแทนตัวเองว่า ‘ศิ’ เวลาที่เขามาคอมเมนต์ถามอะไร เราก็จะตอบแบบศิอย่างนั้น ศิอย่างนี้ คือมีความเป็นเพื่อนที่พร้อมจะที่ผลักดันและอยู่เคียงข้างลูกค้า
Q: อย่างที่บอกว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การปรับตัวที่สำคัญที่สุดของแบรนด์เครื่องสำอางยุคนี้คืออะไร
คุณแท็ป: จริงๆ ผมว่าทุกธุรกิจเจอสถานการณ์ใกล้เคียงกันทั้งนั้น แต่เครื่องสำอางเป็นธุรกิจที่เรียกว่า fast moving ด้วย เพราะฉะนั้นในมุมนี้ก็จะต้องปรับตัวหนักหน่อย แล้วเครื่องสำอางก็เป็นธุรกิจที่ต้องใช้คำว่า เริ่มต้นได้ง่าย ทำให้มีคู่แข่งเยอะ เพราะฉะนั้นเราจะต้องโดดเด่นทั้งในแง่ของตัวสินค้า กระบวนการ และวิธีคิดเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุด ความเป็นตัวตนของเราต้องชัดมาก
ยุคนี้ก่อนจะเริ่มทำอะไรก็ตาม เราต้องตอบให้ได้ว่า เราจะอยากทำสิ่งนี้ไปทำไม และเราต้องถามตัวเองว่าจะขายใครด้วย ถ้าพูดรวมๆ ว่า พยายามขายทุกคนให้ได้นี่ขายไม่ได้แน่ เพราะตลาดมีเซกเมนต์ชัดมาก และมีการแข่งขันสูงมากจริงๆ ความท้าทายนี้เป็นสิ่งที่ทำให้แบรนด์ต้องคิดมากกกว่าโปรดักต์ แน่นอนว่าเราต้องโฟกัสที่การทำสินค้าให้ดีอยู่แล้ว แต่นอกเหนือไปจากนั้น เราต้องพยายามคิดว่าตัวตนที่แท้จริงของเราคืออะไร ต้องวางโพสิชันนิ่งตรงนั้นให้ชัด ให้ลูกค้าเข้าใจว่านี่คือตัวตนที่แท้จริงของเรา
ยกตัวอย่างเคสของ sasi หรือ Srichand เองก็ตาม เรามีความเชื่อคล้ายกัน คือเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้หญิงมั่นใจและใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ อย่าง sasi เรื่องการทำแคมเปญและการโฆษณาต่างๆ เราต้องทำอยู่แล้ว แต่เรื่องที่สำคัญกว่านั้นคือ เราต้องย้อนกลับมามองว่าในองค์กรของเรา เราเชื่ออย่างนั้นกันจริงๆ หรือเปล่า ในยุคนี้ สิ่งที่เราเรียกว่าตัวตนที่แท้จริง หรือ authenticity เป็นสิ่งที่ลูกค้ามองเห็นทันทีนะ ถ้าเราโฆษณาอย่างหนึ่งแล้วเราเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น ในกรณีของ sasi ถ้าเราจะเชื่อว่า Because girls can เชื่อว่ามันคือโอกาสที่จะแสดงตัวตนของผู้หญิง เราต้องเริ่มต้นจากภายในองค์กรก่อน
ยกตัวอย่างที่นี่ พนักงานประมาณ 80% ของเราเป็นผู้หญิง เราน่าจะเป็นบริษัทไทยเพียงแค่ไม่กี่บริษัทที่มีสวัสดิการอย่างเช่น ลาคลอดได้ 6 เดือนและได้รับเงินเดือนเต็ม หรือสำหรับคนที่มีภรรยา ถ้าภรรยาคลอด คุณพ่อก็สามารถลาได้ 30 วัน คนที่จะลาไปผ่าตัดเปลี่ยนเพศ (gender affirmation surgery) ก็ลาได้ 1 เดือน โดยไม่นับรวมกับวันลาอื่นๆ พวกนี้คือสวัสดิการใหม่นะ ก่อนหน้านี้เราก็มีสวัสดิการอื่นๆ อยู่แล้ว
เราเชื่อว่าเรื่องพวกนี้สำคัญ ก่อนจะขายไอเดียต่างๆ ให้ใครได้ ต้องขายพนักงานให้ได้ก่อน อันนี้สำคัญที่สุด พนักงานเป็นลูกค้าคนแรกที่เราต้องขายให้ได้ เพราะถ้าเกิดคนข้างในไม่เชื่อแล้ว มันไม่มีทางที่จะออกไปข้างนอกได้เลย ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากตรงนี้ ต่อให้ทำแคมเปญดี หรือถ่ายหนังโฆษณาสวยแค่ไหน มันก็จะไม่ได้ออกมาจากความเป็นจริงของแบรนด์ และผมคิดว่าอันนี้ผู้บริโภคดูออกแน่นอน
Q: ในการรีแบรนด์ครั้งนี้ ทำไมถึงต้องเป็น ‘Because girls can’
คุณออย: แท็กไลน์นี้เริ่มต้นจากที่แบรนด์เราให้ความสำคัญจากภายในสู่ภายนอก เรื่องของทัศนคติ เรื่องของ mindset เป็นสิ่งสำคัญ บวกกับจากรีเสิร์ช จากอินไซต์ที่เราทำ ผลมันออกมาเลยว่าความมั่นใจเป็นพลังที่สำคัญที่สุดของผู้หญิง เราเลยอยากส่งผ่านความมั่นใจผ่านข้อความว่า Because girls can เพราะเพียงแค่คุณมั่นใจ อะไรๆ คุณก็ทำได้ จากแท็กไลน์นี้เราพัฒนาต่อมาเป็น #ศิว่าได้ ซึ่งเป็นแคมเปญที่ต่อเนื่องมา
คุณแท็ป: ขอเสริมว่าจริงๆ ในประเทศไทยผลรีเสิร์ชค่อนข้างชัดอยู่แล้ว คือถ้าให้พูดแบบมองไกลๆ เราก็จะบอกว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยไม่ค่อยส่งเสริมเรื่องความมั่นใจของเด็ก จริงๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่ผู้หญิงจะหนักกว่า เพราะว่ากรอบของผู้หญิงจะเยอะกว่า คือเด็กผู้ชายก็มีกรอบนะ แต่กรอบของเด็กผู้หญิงจะเยอะกว่า อย่างการสนับสนุนเฉพาะคนที่เรียนเก่งมากๆ สังเกตไหมเวลาเราขับผ่านโรงเรียนจะเห็นป้ายใหญ่มากๆ ที่บอกว่าคนนี้ได้รางวัลวิชาการ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไรนะ แต่จริงๆ มันลงไปถึงรากลึกของความเชื่อเลยว่า คุณต้องเป็นคนเก่งในแบบที่ระบบการศึกษาต้องการด้วยนะถึงจะได้สิทธิพิเศษ ทั้งที่จริงๆ แล้วคนเก่งมีหลายแบบ เรื่องความมั่นใจเป็นเรื่องสำคัญมาก คนที่มีความมั่นใจก็มีโอกาสที่จะก้าวหน้ามากกว่า
ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความเก่งในแบบตัวเอง เหมือนที่เขาบอกว่าคุณจะเอากบ ลิง ม้า ปลามาปีนต้นไม้แข่งกันไม่ได้ แต่ระบบการศึกษาเรามันยังเป็นแบบนั้นอยู่ นี่เรายังไม่ได้พูดไปถึงเรื่อง beauty standard เลยนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เมืองไทยมีเยอะมาก แต่ผมคิดว่ามุมมองของความเชื่อเรื่องนี้ ถ้ามันไม่ถูกเปลี่ยน เราจะกลายเป็นสังคมที่มีวิสัยทัศน์แคบ เราจะมองการแก้ปัญหาแบบเดิม ใช้ตรรกะแบบเดิมๆ แล้วก็แก้ได้แบบเดิม ซึ่งถ้ามองให้ลึก มันก็คือการทำให้ประเทศไม่ก้าวไปไหน
ถ้าเราอยากจะเห็นสังคมเป็นยังไง เราต้องพยายามทำให้เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว มันก็จะเหมือนเดิม อย่างน้อยก็ค่อยๆ เปลี่ยนแล้วกัน การสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่มีใครทำคนเดียวได้ แต่ถ้าหลายๆ คนพูด หลายๆ คนทำ ผมเชื่อว่าความคิดของสังคมจะค่อยๆ เปลี่ยนไป เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้น อีกเรื่องหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะเรื่องส่วนตัวด้วย ผมมีลูกสาว 2 คน เรามองการเติบโตของลูกแล้วก็รู้สึกว่า เราอยากพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับรุ่นเขา
ออย เกล็ดดาว จิตต์ชื่นโชติ Brand Manager ของ sasi
Q: จากแท็กไลน์ Because girls can ที่ขยายมาเป็นแคมเปญ #ศิว่าได้ ความท้าทายในการคิดและการสื่อสารแคมเปญนี้คืออะไรบ้าง
คุณออย: เราคุยกันว่าอยากให้มีชื่อแคมเปญที่จำง่ายและมีโจทย์ว่าต้องบ่งบอกความเป็นแบรนด์ด้วย ทำให้รู้ว่ามาจาก sasi และสื่อสารทัศนคติที่เราเชื่อว่าคุณทำได้ Because girls can เลยกลายมาเป็น #ศิว่าได้
#ศิว่าได้ ก็คือการบอกว่าคุณทำได้นะ แค่คุณเป็นตัวเอง แต่จะเล่าออกมาในรูปแบบไหน นั่นคือความท้าทาย อย่างที่พี่แท็ปได้พูดถึงเรื่อง norms เรื่องข้อจำกัดต่างๆ ที่ผู้หญิงโดนขีดกรอบไว้ อย่างผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือนบ้าง ต้องผิวขาว หรือข้อจำกัดอื่นๆ อีกหลายอย่างที่เหมือนเป็นคำว่า can’t เป็นการบอกว่าทำไม่ได้ เราเอาตรงนั้นมาปรับ แล้วก็ทำเป็นแคมเปญซีรีส์ #ศิว่าได้ ของเรา เพื่อบอกว่า จริงๆ แล้วคุณทำได้นะ แค่เป็นตัวของตัวเอง นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนความสามารถของวัยรุ่นด้วย อย่างเดือนนี้เราจะมีกิจกรรมกับวง Yes Indeed และมีกิจกรรมอื่นๆ ที่จะจัดขึ้นในสถานที่แนวไลฟ์สไตล์ด้วย
Q: นอกจากแท็กไลน์และแคมเปญแล้ว เราได้เห็นโลโก้ที่เป็นลายโมโนแกรมของ sasi ด้วย แนวคิดของโลโก้ใหม่นี้คืออะไร
คุณออย: ในการรีแบรนด์ครั้งนี้ ข้อหนึ่งที่เราจะปรับก็คือเรื่อง visual ให้มีความเป็น single-minded มากขึ้น เราก็เลยคิดจากตัวตนของแบรนด์เราจริงๆ คำว่า ศศิ แปลว่า พระจันทร์ เราเลยเอาเสี้ยวพระจันทร์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของโลโก้ แล้วก็มีตัว S อีก 2 ตัวที่มาจากคำว่า sasi พอมาผนวกกันทั้งหมดก็กลายเป็นลายโมโนแกรมของเราที่ชื่อ sasi squad ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของความหวังและความสามารถของทุกคน เพราะเราอยากสนับสนุนให้ทุกคนกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองมั่นใจ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความสามารถในเชิงวิชาการเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วโลกใบนี้ต้องการความสามารถที่หลากหลายถึงจะประกอบขึ้นมาเป็นโลกได้ เราจึงอยากสนับสนุนความสามารถที่แตกต่างกันไปในทุกๆ ด้านด้วยโมโนแกรมนี้
ส่วนคำว่า squad ที่เราเลือกใช้ เพราะเราอยากให้รู้สึกถึงความเป็นกลุ่มเป็นแก๊ง ให้เราเป็นเหมือนเพื่อนของลูกค้า เพื่อนที่คอยสนับสนุน เติมความมั่นใจให้
Q: ผู้หญิงยุคใหม่ในสายตา sasi ณ วันนี้เป็นแบบไหน
คุณออย: ออยมองว่าผู้หญิงในปัจจุบันมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งมาจากการที่สังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น คนก็ออกมาแสดงความสามารถที่หลากหลายกว่าเดิม แล้วผู้หญิงยุคใหม่ก็ค่อนข้างปรับตัวได้ไว ปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ จะเห็นจากการที่มีผู้หญิงเข้าไปทำหน้าที่ที่หลากหลายขึ้น หรือร่วมกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นหลายๆ เพศเลย
การที่ผู้หญิงทุกคนมีพื้นที่ในโลกโซเชียลมีเดียของตัวเองก็เหมือนกับการมี owned media มีพื้นที่ในการแสดงออก หรือแสดงความสามารถ บางครั้งก็ยังส่งผลไปถึงการประกอบอาชีพต่างๆ ได้อีกมากด้วย การที่แต่ละคนมีพื้นที่ของตัวเองมากขึ้นก็มีส่วนช่วยเสริมความมั่นใจได้
Q: ในขณะที่ผู้หญิงยุคใหม่มีความมั่นใจขึ้นแล้ว แต่อะไรที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนยังถูกตัดสินด้วย norm เก่าๆ อยู่
คุณแท็ป: ผมคิดว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของเวลา ต้องใช้เวลาช่วยจริงๆ การผลักดันจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องใช้เวลาในการค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของทุกคน เพราะความเชื่อเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยากมาก
ผมยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เนื่องจากผมดูงานสาย HR ค่อนข้างมาก ก็จะอ่านตำราของฝรั่งเยอะ สิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยเห็นในตำราฝรั่งคือปัญหาที่ว่าทำอย่างไรถึงจะให้คนพูดเยอะๆ เวลา brainstorm หรืออยู่ในที่ประชุม เขาไม่มีปัญหานี้ เพราะเขาพูดกันได้อยู่แล้ว แต่ของเราตอนเด็กๆ เราจะไม่ค่อยได้ยกมือเพื่อขอพูด เราจะชินกับการนั่งเงียบๆ เวลาครูสอน แต่พอเรียนจบก็เจอว่า อ้าว ทำไมไม่พูดล่ะ เรามีปัญหานี้มากๆ จนประเทศเราต้องมีหลักสูตรสอนให้คนช่วยพูดหน่อย หรือไม่ก็ต้องระบุตัวให้พูดเลย มันตลกนะ ตอนเรียนไม่อยากให้พูด พอเรียนจบกลับถามว่าทำไมไม่พูด
หรืออย่างตอนเด็กๆ ที่ยังเรียนอยู่ ยังไม่อยากให้มีแฟน พอเรียนจบแล้ว อายุสัก 26-27 พ่อแม่หรือญาติถามว่า ทำไมยังไม่มีแฟนอีกล่ะ ซึ่งญาติคนเดียวกันนี้ 10 ปีที่แล้วถ้ารู้ว่าเรามีแฟน จะบอกว่าต้องเรียนก่อนนะ อันนี้เป็นเรื่องที่แปลก เพราะว่าจริงๆ แล้วเรื่องเหล่านี้มันต้องผ่านการปูพื้นฐานมาเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนโหมดได้เลยทันที เพราะฉะนั้นมันส่งผลให้การผลักดันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมันมีความลักลั่นสูงมาก เพราะช่วงหนึ่งของชีวิต เราถูกบอกว่า ต้องทำอย่างนี้ๆ นะ แต่พอเข้าอีกช่วงหนึ่งของชีวิต จะเอาอีกอย่างหนึ่งเลย
ผมคิดว่าคีย์เวิร์ดสำคัญของโลกตอนนี้คือคำว่า ปัจเจก (individualism) ความเชื่อเรื่อง Because girls can ของเราก็มาจากเรื่องนี้ เพราะเราเชื่อในเรื่องความเป็นปัจเจกของแต่ละคน เราเชื่อว่าทุกคนทำได้ในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะอายุเท่าไร หรือเพศใดก็ตาม
คุณออย: เราเป็นแบรนด์ที่อยู่กับเรื่องความสวยความงาม เรื่องไลฟ์สไตล์ก็จริง แต่ความเชื่อของแบรนด์ก็คือเรื่องปัจเจก เพราะฉะนั้นความสวยในแบบของ sasi คือความพึงพอใจ คือความมั่นใจในตัวเอง เพราะว่าถ้าเราพึงพอใจแล้ว เราไม่ต้องให้ใครมาตัดสินแทนเราว่าแบบนี้คือสวย หรือเราต้องขาว ต้องไว้ผมทรงนี้นะถึงจะสวย ไม่เกี่ยวเลย เรารู้จักตัวเราเองดีที่สุดแล้วก็กล้าที่จะไปในสิ่งที่เหมาะกับเรามากที่สุด ความพึงพอใจตรงนั้นจะแสดงออกมาในรูปแบบของความมั่นใจ
คุณแท็ป: ผมว่าเรื่องของการวางกรอบ อย่างเช่นเวลาเราพูดถึงเรื่องความสวยในสังคม มันเป็นเรื่องใหญ่มากนะ อย่างสมมติว่าถ้าเราเป็นแบรนด์แล้วเราเชื่อว่าคนต้องขาว ต้องผอม แล้วเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันไม่ได้ทำแค่ลูกค้าของเราเท่านั้นที่คิดว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่มันยังไปวางกรอบความเชื่อของคนในสังคม แม้แต่ความเชื่อของผู้ชายด้วย สิ่งที่จะตามมาก็คือคนจะรู้สึกกดดันว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพราะฉะนั้นคำว่า beauty standard ถึงได้อันตรายมาก
ความสวยมันเป็น perception เป็นมุมมองของแต่ละบุคคลเท่านั้น ที่เขาบอกว่า Beauty is in the eye of the beholder. เหมือนกับเวลาเราดูงานศิลปะ ทำไมประเทศไทยถึงไม่เคยมองคน มองบุคคลต่างๆ เหมือนที่เรามองผลงานศิลปะ เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันต้องเป็นอย่างนี้ละ เป็นรูปนี้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นผลงานศิลปะ ถ้าเราเป็นคนชอบดูของพวกเรานี้ เราจะรู้ว่าบางคนก็จะชอบชิ้นนี้ แต่เราอาจจะชอบอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเราไม่เคยมองคนแบบนั้นเลยนะ เรามองคนว่าจะต้องอย่างนี้เท่านั้น เรื่อง beauty standard นี่ประเทศไทยเป็นกันมาก รวมถึงประเทศแถบนี้ด้วย
ลองคิดดูสิว่าถ้าเราอยู่ในสังคมที่บังคับให้เราเป็นแบบใดแบบหนึ่งตลอดเวลาแล้วเราไม่อยากเป็น แต่เราต้องเป็นเพราะสังคมบังคับ มันเหนื่อยมากเลยนะ นอกจากภาระหน้าที่การงานและเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบในแต่ละวัน แล้วเรายังต้องกินข้าววันละครึ่งจานอีกเหรอ ไม่ไหวจริงๆ
คุณออย: ถ้าเห็นในแคมเปญ #ศิว่าได้ จะเห็นว่าการรวมตัวของนางแบบที่หลากหลายมาก มีนางแบบพลัสไซส์ นางแบบที่ดูผิวเข้มหน่อยหรือนางแบบที่ไม่ได้หน้าตาแบบพิมพ์นิยม แล้วนางแบบของ Sasi ที่เป็นคอลเลคชั่น Girls Can ทุกคนก็ไม่ได้ตัวสูง มีตั้งแต่นางแบบที่สูงร้อยห้าสิบกว่าๆ ไปจนถึงร้อยเจ็ดสิบ เราก็เอามาถ่ายด้วยกันได้เป็นเรื่องปกติ
คุณแท็ป: เราอยากให้เห็นว่า จริงๆ แล้วความมีเสน่ห์ มันไม่ได้มาจากรูปร่างหน้าตาเท่านั้น ถึงแม้ว่าเราจะขายเครื่องสำอาง แต่เราพยายามจะพูดว่าความมีเสน่ห์มันไม่ได้มาจากรูปร่างภายนอกอย่างเดียวเท่านั้น อย่างถ้ามีคนหนึ่งเขาชอบเล่นเปียโน เวลาที่เขามีเสน่ห์มากๆ ก็คือตอนที่เขาเล่นเปียโนนั่นล่ะ เราเห็นแล้วจะรู้สึกว่า โอ้โห คนนี้ดูมีอะไร
แต่สังคมทุกวันนี้ก็ยังมี norm บางอยู่ อย่างเรื่องหนึ่งที่เป็นอีกอย่างที่เราคิดว่าน่าพูดถึง ก็คือเวลาทักกันมีหลายเรื่องที่ไม่ควรพูด หรือไม่ต้องพูดก็ได้ เก็บๆ ไว้ก็ได้ อย่างเช่นเราไปเจอคนหนึ่งแล้วทักว่า “เฮ้ย ทำไมสิวขึ้น” เขารู้อยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงหรอก มันไม่ได้มีอะไรที่ดีขึ้นจากการพูดเรื่องนั้น นอกจากบางอย่างที่พูดเพื่อเป็นการเตือนเพราะดูอันตรายต่อสุขภาพ
มนุษย์เราไม่ได้ถูกดีไซน์มาให้พูดทุกเรื่อง ไม่ใช่ว่าคิดปุ๊บต้องพูดเลย เรามีตัวกรองเยอะมาก เพราะฉะนั้นบางเรื่องเราไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ จริงๆ ผมเชื่อว่าคนยุคใหม่เข้าใจประเด็นนี้เป็นอย่างดี แต่มันต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง
Q: เรื่อง beauty standard ถ้ามองในระยะยาวสามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตของทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่มีคนบอกว่า เธอสามารถทำได้ Because girls can มีความสำคัญต่อทุกคนอย่างไร
คุณแท็ป: ถ้าในมุมมองแบบ as a person ผมคิดว่าเรื่องนี้มันถูก shape มาตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก ตอนยังเป็นพรีทีนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญมาก มีทฤษฎีของนักจิตวิทยาคนหนึ่งบอกว่า คนเราจะไม่เปลี่ยนแล้วหลังอายุ 30 เพราะฉะนั้นช่วงอายุ 12-30 ปี จึงเป็นช่วงที่สำคัญมากที่จะบอกว่าคนคนนี้จะมีความเชื่อแบบไหน เป็นคนมั่นใจหรือเปล่า การที่เราบอกว่าคุณจะเป็นอะไรก็ได้ที่คุณอยากเป็น ทุกอย่างมี contribution ต่อสังคมทั้งนั้น แล้วเราก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นแบบคนที่เห็นใน IG หรือใน TikTok ความสำเร็จไม่ได้ต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป
ความจริงข้อหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ก็คือ มนุษย์เราทุกคนไม่เหมือนกัน เราน่าจะเป็นสปีชีส์ที่หลากหลายที่สุดในโลกใบนี้ แต่ด้วยกรอบทางสังคม ด้วยระบบอุตสาหกรรมในอดีต เราพยายามจะทำให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในฟอร์แมตเดียวกัน ซึ่งมันมีคนเยอะมากที่ไม่สามารถอยู่ในฟอร์แมตนี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้มันน่าจะจบในยุคนี้ได้แล้ว มันน่าจะเป็นยุคที่เราบอกได้ว่า ถ้าฉันทำเรื่องนี้ได้ดี ฉันก็จะทำเรื่องนี้ล่ะ เพราะมันมีคุณค่ากับตัวเรา กับคนรอบข้าง และกับสังคม
อย่างคำถามหนึ่งที่ผมไม่เคยถามลูกๆ เลยก็คือ โตขึ้นลูกจะเป็นอะไร เพราะว่าสิ่งที่ลูกจะเป็นในอนาคตนั้น ตอนนี้อาจยังไม่มีก็ได้ แต่ผมจะถามลูกว่า ลูกทำอะไรแล้วชอบ อย่างคนโตเขาชอบวาดรูป ชอบทำอะไรที่เกี่ยวกับงานศิลปะ เราก็จะสนับสนุนเขา เราไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายแล้วเขาจะเป็นอะไร แต่การที่เขาได้ทำสิ่งที่ชอบ ทำแล้วมันมีคุณค่า คำว่า มีคุณค่า ของเราคือ เขาทำแล้วเขามั่นใจว่าทำได้ดี เท่านี้ก็มีคุณค่าของตัวเองแล้ว ถ้าคนอื่นบอกว่าดีด้วย ก็เป็นคุณค่าที่คนอื่นให้มา
คุณออย: ถ้าในแง่ของแบรนด์และแง่ของความเป็นผู้หญิง ถามว่าถ้ามีคนบอกว่าคุณทำได้ สามารถทำได้ อย่างแรกคือเรื่องกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อ กำลังใจในการที่ทำสิ่งที่อยากทำ เวลามีอีกเสียงหนึ่งมาบอกว่า เขาทำได้นะ มันมีผลทางอ้อมต่อจิตใจนะ เป็นกำลังใจที่จะทำให้เขากล้าคิด กล้าทำ และพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต โดยเฉพาะวัยรุ่น เพราะมันไม่ได้สายเกินไปที่จะเปลี่ยนอาชีพ หรือความสนใจส่วนตัว
แต่ทั้งหมดที่แบรนด์อยากสื่อสารก็คืออยากให้ทุกคนมีความมั่นใจที่เกิดจากตัวเองด้วย ถึง sasi จะไปเป็นเพื่อนเขา บอกว่าเขาทำได้ แต่เราก็อยากให้เขามีความมั่นใจที่ออกมาจากตัวเอง เชื่อว่าเขาสามารถทำได้ ดูแลตัวเองได้ และพัฒนาไปในสิ่งที่เขาอยากเป็นได้จริงๆ
Author
นักเขียนที่มีของสะสมเป็นมาสก์หน้า มีงานอดิเรกเป็นการลองสกินแคร์สารพัดยี่ห้อ และสนใจเขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงเพราะเชื่อว่าจะทำให้รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นผ่านการเขียน