LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

คนแปลกหน้า อาจเป็นเซฟโซนที่รับฟังเราได้ มากกว่าคนสนิท เพราะลึกๆ แล้ว เรากลัวการตัดสินจากคนใกล้ตัว

สำหรับบางคนแล้ว การจะเปิดเผยความรู้สึกที่ล้นอยู่ในใจให้ใครสักคนฟังไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจไม่ใช่อย่างที่ใครเคยพูดกันว่าครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนรักจะเป็นเซฟโซนให้เราได้เสมอ เพราะบางครั้งยิ่งสนิท ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งกลัวว่าอีกฝ่ายจะไม่เข้าใจ ตัดสิน หรือมองเรื่องที่เรารู้สึกเป็นเรื่องเล็กน้อย ทั้งที่มันอาจจะหนักเหมือนแบกโลกทั้งใบ นั่นคือเหตุผลว่าทำไม บางคนถึงรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับคนที่ไม่ค่อยสนิทมากกว่า ไม่ว่าจะเพื่อนที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ เพื่อนต่างกลุ่ม คนที่ได้คุยกันโดยบังเอิญ รวมถึงนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์

ความกลัวว่าตัวเองจะรู้สึกแย่กับอีกฝ่ายที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนสนิทเมื่อเราพูดความลับของเราออกไป หรือแม้กระทั่งกลัวอีกฝ่ายรู้สึกแย่กับเราจนไม่อยากจะสนทนากันอย่างลึกซึ้ง มันเหมือนกับการที่เรากลัวที่จะผิดหวังกับคำตอบที่ได้รับมาหลังการเปิดใจ และกลัวจะต้องออกจากชีวิตเขาไปเลย การศึกษาของ ดร.เอลิซาเบธ ดันน์ (Dr. Elizabeth Dunn) ศาสตราจารย์ในภาควิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย เชื่อว่าผู้คนมองหาเซฟโซนจากคนไม่รู้จักมากขึ้น และนั่นมีประโยชน์มากกว่าที่หลายคนคิด เพราะหนึ่งเลยคือทำให้เรารู้สึกร่าเริงขึ้น มีท่าทีเป็นสุขมากขึ้น และเชื่อว่าตัวเองยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว ตัวคนเดียว

ทำไมเราถึงไว้ใจคนไม่สนิท หรือคนแปลกหน้าขนาดนั้น? มาริโอ หลุยส์ สมอล (Mario Luis Small) นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยทำงานวิจัยว่าทำไมคนเราจึงไว้ใจคนแปลกหน้า เขาพบคำตอบว่าเมื่อผู้คนถูกถามว่า คุณแชร์ความกังวลกับใครครั้งล่าสุด ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจะตอบว่าช่างทำผม คนแปลกหน้าในห้องนั่งรอ หรือคนที่นั่งข้างๆ บนเครื่องบิน และชี้ให้เห็นว่าเกือบครึ่งของคนที่เราคุยเรื่องสำคัญด้วยมักไม่ใช่คนเดียวกับคนที่เราบอกกับสังคมว่า “นี่คือคนสนิทของฉัน” และถ้าเป็นแง่ของเพื่อน คนที่สนับสนุนเมื่อเราอ่อนแอ ก็มักเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้สนิทที่สุด

ออกตัวไว้ก่อนว่า ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ไว้ใจเพื่อนสนิททุกคน ยังมีเพื่อนสนิทบางคนที่คอยถามไถ่ความรู้สึก หรือทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจที่จะเล่าเรื่องตัวเองอยู่บ้าง แต่เอาเข้าจริงส่วนใหญ่ก็มักมีแค่ไม่กี่คนจริงๆ ที่เราจะกล้าพูดด้วยโดยไม่ต้องคิดเยอะ เหมือนกับการที่เราไม่กล้าบอกพ่อแม่ถึงเรื่องลึกซึ้งอึดอัดใจ เพราะรู้ว่าพวกเขามีทัศนคติเรื่องนั้นๆ ที่ไม่ตรงกับเรา สมอลอธิบายเหตุผลสามข้อที่เรามักหลีกเลี่ยงคนใกล้ตัวเมื่อเรามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ความสัมพันธ์ การงาน ฯลฯ ไว้ดังนี้

ประการแรก คือความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่สุดเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนที่สุดอย่างหนึ่ง ทั้งเพื่อน คู่สมรส แฟน หรือคนในครอบครัวอย่างแม่ ผู้มีประวัติของเรามาทั้งชีวิต รู้จักเรามาตั้งแต่เกิด เมื่อเราต้องการคำปลอบโยน เราก็อาจจะไม่แน่ใจว่าจะได้รับการตอบรับแบบใด และยังต้องคิดไว้ในหัวก่อนอีกว่าเขาอาจจะแสดงท่าทีแบบอื่นนอกเหนือจากการสนับสนุนที่เราต้องการก็ได้

สมอล ถามอาสาสมัครในงานวิจัยว่าสนิทกับใครมากที่สุด ผู้หญิงคนหนึ่งตอบว่าแม่ของเธอ แต่เมื่อเขาถามเธอว่าได้คุยกับแม่เกี่ยวกับปัญหาที่เธอมีเกี่ยวกับแฟนของเธอหรือยัง เธอตอบว่า “ไม่มีทาง” เพราะ “ลูกสาวต้องการผู้ฟัง แต่เธออาจจะได้ผู้พิทักษ์แทน” ทำให้เธอต้องหลีกเลี่ยงการพูด ซึ่งเคสนี้ก็คงมีลูกๆ หลายคนไม่กล้าบอกว่าทะเลาะกับแฟนของตัวเอง เพราะกลัวแม่อาจจะเกลียดเขาไปเลยในครั้งเดียวที่พูด ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้ต้องการแบบนั้น ยิ่งกับคนที่ครอบครัวคาดหวังเรื่องแฟนลูกมากๆ ก็อาจจะยิ่งยากเข้าไปอีก

เหตุผลที่สอง คือเมื่อเราต้องดีลกับบางสิ่งที่ยากเหลือเกิน เรามักจะหาคนพูดคุยที่เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมา เพื่อแสวงหาความเห็นอกเห็นใจ เพราะรู้ว่าเขาต้องเข้าใจเราได้แน่ๆ ซึ่งบางครั้งคนใกล้ตัวที่ไม่เคยรู้สึกแบบเดียวกัน ก็อาจจะเข้าใจเราได้ไม่สุด ทำให้เราไม่อยากจะพูดอะไรด้วย เรายกตัวอย่างเช่น สมมติเราติดอยู่กับความสัมพันธ์ Toxic Relationship แต่เราไปขอคำปรึกษาคนใกล้ตัวที่พูดง่ายๆ ว่า แกก็แค่ออกมาสิ ทรมานตัวเองทำไม มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกบั่นทอน แต่หากเราไปขอคำปรึกษากับคนที่เคยผ่านเส้นทางนี้มาก่อน ก็อาจจะได้ข้อคิด หรือสติเตือนใจให้เรากล้าจะออกมาจากความสัมพันธ์มากกว่า

ข้อที่สาม บางคนอาจจะคิดว่า เฮ้ย แกกล้าพูดความลับตัวเองกับคนไม่สนิท หรือคนแปลกหน้าฟังได้ไงกัน ต้องบอกว่าช่วงเวลาที่เราอ่อนแอ ความต้องการจะพูดคุยกับใครสักคนเราอาจจะมีมากกว่าความจำเป็นที่จะรู้สึกว่าต้องป้องกันตัวเอง เราก็อาจจะเล่ามันออกมากับใครที่อยู่กับเรา ณ เวลานั้น และบอกตัวเองว่าอย่าไปคิดมากกับมันเลย ซึ่ง “แบบจำลองเชิงเหตุผลของพฤติกรรมมนุษย์บอกว่าเรามักจะหยุดคิดก่อนทำ แต่ความจริงแล้ว หลายครั้งเราไม่ทำกันหรอก” สมอลกล่าว ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็หมายถึง ช่วงเวลาที่เรารู้สึกแย่ คนที่สนิทกับเราอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นให้พูดด้วย เราเลยเลือกจะพูดกับคนอื่นแทน ทว่าจริงๆ ก็มีดาบสองคมเหมือนกันว่าคนแปลกหน้าที่ฟังเรื่องของเรา เขาจะเอาไปพูดต่อหรือเปล่า

นอกจากนี้งานวิจัยของสมอลทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน 1,200 คนทั่วประเทศ หนึ่งในสามกล่าวว่าในยามอ่อนไหวเขาพึ่งพาเพื่อนสนิท คู่สมรส และครอบครัว ส่วนคนที่เหลือกล่าวว่าเขาพยายามจะหลีกเลี่ยงมัน และเขายังเขียนไว้ในหนังสือ Somebody to Talk To ของเขา ที่อธิบายกรณีศึกษาเชิงลึกของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา 38 คน แล้วก็พบว่า “กลุ่มคนที่สนิทที่แท้จริงของผู้คนคือทุกคนที่พวกเขาพบเจอ” และสมอลยังสำรวจผู้ใหญ่มากกว่า 2,000 คน ที่คำตอบส่วนมากก็เทไปที่การวางใจกับคนที่ไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น

“มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าการพูดคุยนั้นสร้างความแตกต่างกันได้ ในทางปฏิบัติ จะมีบางเรื่องที่เราโอเคจะบอกเพื่อนๆ แต่ก็ไม่สามารถบอกเรื่องนี้กับเพื่อนอีกคนได้ คุณบอกฉันว่าคุณชอบกินดินเนอร์กับเพื่อน เพราะคุณรู้ว่าเธอต้องการฟังคุณ แต่อาจไม่ใช่กับอีกคน มันแล้วแต่บริบท”

“ฉันเลยสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าแทนที่เราจะคิดถึงเพื่อนว่าเขาเป็นคนที่ยินดีรับฟังคุณ แต่เรากลับคิดถึงสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมาก่อนว่า พวกเขาจะรับฟังเราไหม” สมอลกล่าวกับ Psychology Today

ใครที่มีคนสนิท ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนสนิท แฟน ให้พูดด้วยโดยที่เขาไม่ตัดสินอะไรเลย ก็นับเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับบางคน อาจจะเคยพยายามเปิดใจพูดเรื่องไม่สบายใจไปแล้ว ก็โดนตัดสิน จนเจ็บช้ำน้ำใจ หรือบางคนยังไม่เคยพูด เพราะไม่สบายใจที่จะพูดเพราะมีกำแพงบางอย่างที่คนนอกไม่อาจไปตัดสินชีวิตใครได้ ก็อย่าไปบังคับคาดคั้นให้เขาพูดเลย เพราะความสบายใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และบางทีความสบายใจก็อาจจะอยู่ในรูปแบบคนแปลกหน้า คนที่ไม่ได้รู้จักเราดี เพื่อนต่างกลุ่ม หรือเพื่อนโลกออนไลน์ที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลยสักครั้งก็ได้

อ้างอิง:

https://exploringyourmind.com/talking-to-strangers-easier-than-talking-to-people-you-know/ 

https://www.psychologytoday.com/gb/blog/brain-waves/201709/the-paradox-confiding-in-near-strangers

https://qz.com/1808638/a-harvard-sociologist-explains-why-we-confide-in-strangers/ 

Author

PATCHSITA PAIBULSIRI

Content Creator

Related Stories

คนแปลกหน้า อาจเป็นเซฟโซนที่รับฟังเราได้ มากกว่าคนสนิท เพราะลึกๆ แล้ว เรากลัวการตัดสินจากคนใกล้ตัว

life

คนแปลกหน้า อาจเป็นเซฟโซนที่รับฟังเราได้ มากกว่าคนสนิท เพราะลึกๆ แล้ว เรากลัวการตัดสินจากคนใกล้ตัว

MIRROR'sGuide

ราคาสินค้าอาจแตกต่างตามช่วงเวลาและโปรโมชั่น
โปรดอ้างอิงจากราคาปลายทางของร้านค้าขณะสั่งซื้อ