LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

โสเภณีคืออาชีพ โสเภณีคือคน ‘Gangubai Kathiawadi’ หนังอินเดียที่ชวนสังคม มอง Sex Workers ในฐานะเพื่อนมนุษย์

“ฉันภูมิใจกับการเป็นโสเภณี ไม่ต่างจากที่พวกคุณเป็นหมอ หรือครู”

คังคุไบ จักจีวันดัส กาเฐียวาดี 


Gangubai Kathiawadi หรือ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ภาพยนตร์อินเดีย ภาษาฮินดีใน Netflix ที่เล่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ Sex Workers ในอินเดียถูกกฎหมาย ของแม่เล้า ‘คังคุไบ’ จะทำให้คุณเห็นคุณค่าของผู้หญิงซึ่งไม่ได้วัดกันที่อาชีพ ไม่ได้วัดกันที่ประสบการณ์เซ็กซ์ ไม่ได้วัดกันที่การศึกษา ไม่ได้วัดด้วยอะไรเลย และไม่ควรถูกใครมาวัดมาตรฐานความเป็นหญิงดี หญิงร้าย หรือกีดกันใครออกจากสังคม เพราะใช้ร่างกายทำมาหากิน

ภาพยนตร์บอกชัดว่านี่ไม่ใช่ชีวประวัติ เพราะอิงจากเนื้อหาในบท ‘ผู้นำหญิงแห่งกามธิปุระ’ จากหนังสือราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ (Mafia Queens of Mumbai) ของนักเขียน ฮุสเซน ไซดิ (Hussain Zaidi) มาอีกที แต่ตัวนักเขียนเองได้ร้อยเรียงเรื่องนี้ขึ้นในปี 1960 จากเหตุการณ์จริงของคงคา (ชื่อเดิมของ คังคุไบ) ลูกสาวทนายความ ที่ถูกแฟนหนุ่มของเธอ หลอกเอาไปขายในซ่อง เธอเจ็บปวด เธอถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ เธอกลายเป็นโสเภณีอย่างไม่เต็มใจก็จริง แต่เธอกลับเปลี่ยนความเจ็บปวดมากมายมาเป็นพลัง และมองเห็นปัญหาที่ Sex Workers ในอินเดียต้องเจอ และทวงความยุติธรรมกลับคืนสู่อาชีพนี้

แม้อินเดียในปัจจุบัน อาชีพ Sex Workers จะถูกกฎหมาย แต่ยังมีข้อจำกัดมากมายหลากข้อที่จำกัดสิทธิของคนทำอาชีพนี้อยู่ สิ่งที่ยังเหมือนเดิม คือมีหญิงสาวอินเดียลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และเรียกร้องสิทธิให้ทุกคนมองโสเภณีเป็นคนเท่ากัน ไม่ต่างจากที่คังคุไบผู้มาก่อนกาลเคยทำไว้

โสเภณีคืออาชีพ โสเภณีคือคน หากเข้าใจได้อย่างนี้ คุณจะเห็นว่าที่ผ่านมาการไม่ถูกนับเป็นอาชีพ และไม่นับเป็นคน มันไม่แฟร์แค่ไหน…การใช้ร่างกายหาเงินก็นับเป็นความสามารถอย่างหนึ่งเหมือนกัน

*ในเนื้อความมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Sex Workers ในอินเดีย มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 1986 ให้ Sex Workers สามารถประกอบอาชีพของตัวเองได้ตามความสมัครใจ แต่การอยู่ในซ่องถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งความหมายของซ่องที่กฎหมายบัญญัติไว้ หมายถึงบ้าน ห้อง หรือสถานที่ใดๆ ที่ใช้สำหรับการค้าประเวณี และการลักพาตัวบุคคลเพื่อการค้าประเวณีก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

นำมาสู่คำถามที่ว่า ปัญหาอยู่ที่ซ่องควรผิดกฎหมายต่อไป หรือกฎหมายยังไม่คุ้มครอง Sex Workers ที่ถูกทำร้ายกันแน่?

ในภาพยนตร์ ตัวคังคุไบเองถูกทำร้ายร่างกายอย่างหนักจากแขกของเธอ พร้อมทั้งโดนแม่เล้าคนก่อนทำร้ายร่างกาย เธอไม่สามารถแจ้งตำรวจได้เพราะอาชีพโสเภณีนั้นผิดกฎหมาย แถมยังชี้ให้เห็นว่าตำรวจยังมีการรับสินบนจากซ่อง เพื่อให้เรื่องนี้เงียบไป (เหมือนกับที่เจ้าหน้าที่ไทย ลงด่านตรวจที่พัทยากี่ครั้ง ก็ไม่เคยเจอโสเภณีสักครั้ง ทั้งที่ต่างชาติรู้ดีว่า นี่คือดินแดนของโสเภณี)

Sex Workers ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมที่เกิดขึ้น ไม่อาจมีปากมีเสียง ยิ่งกฎหมายชี้ว่าคนประกอบอาชีพที่อยู่ภายใต้การดูแลของแม่เล้าคือผิดกฎหมาย มันก็เหมือนเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดวัฏจักรโดนทำร้ายร่างกาย แต่ไม่สามารถได้รับความยุติธรรมได้ และปฏิเสธไม่ได้ว่าตำรวจเองก็อาจจะรับสินบนแบบนี้ต่อไป จะดีกว่าไหม ถ้าออกกฎหมายคุ้มครอง Sex Workers ชัดเจน เมื่อถูกทำร้ายร่างกาย แง่หนึ่งคนที่ถูกลักพาตัวมาทำอาชีพนี้สามารถแจ้งเอาผิดได้จริงๆ เพราะหากตำรวจคิดว่าผู้ถูกกระทำเป็น Sex Workers ไปแล้ว ตัวผู้ถูกกระทำเองก็จะถูกเอาผิดทางกฎหมายอยู่ดี

อีกแง่หนึ่งคือ เด็กที่อยู่ในความดูแลของแม่เล้า ก็ควรจะสามารถแจ้งความได้เมื่อถูกทำร้ายโดย ‘เจ้านาย’ ของตัวเอง หรือกับ ‘แขก’ เหมือนกับอาชีพบริการอื่นๆ ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

หลายคนในสังคมมอง Sex Workers เป็นอาชีพที่ใครจะมาทำอะไรก็ได้ หากโดนคุกคามทางเพศก็จะโทษผู้ถูกกระทำก่อนว่า อ้าว ก็เป็นอาชีพเธอเองนี่ ซึ่งมันไม่ใช่ คังคุไบ จะเน้นย้ำในภาพยนตร์อยู่เสมอว่า Sex Workers ก็เป็นคน ที่ต้องการคอนเซนต์อยู่เสมอ เช่น ฉากที่เธอพูดว่า “ให้เราใช้วันหยุดอย่างสงบไม่ได้เหรอ” ตอกกลับผู้ชายที่มารุ่มร่ามเธอระหว่างที่เธอออกไปใช้ชีวิตข้างนอก หรือแม้กระทั่งกับหนุ่มที่เข้ามาจีบ เธอจะไม่ให้แตะตัวเด็ดขาด หากไม่ได้รับการอนุญาต

“ฉันอาจจะเป็นโสเภณี แต่ฉันไม่ใช่สิ่งของที่คนสามารถมาใช้ได้ทุกเมื่อ เมื่อพวกเขาต้องการ เพราะผู้ชายคนนั้น ฉันต้องเข้าโรงพยาบาล…เขาโหดร้ายกับฉันมาก” คำพูดของคังคุไบในหนังสือของ ไซดิ ซึ่งในภาพยนตร์ก็มีฉากนี้ที่เธอโชว์รอยแผลเป็นจากการถูกทำร้ายให้ดูเหมือนกัน

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่เราชอบ คือฉากที่ คังคุไบ ถามเด็กสาวที่ถูกแม่เล้าอีกสำนักจับตัวมาว่า ถ้าให้เลือกระหว่างยอมตาย กับขายตัว เธอจะเลือกอะไร และสิ่งที่เด็กสาวเลือก ยิ่งตอกย้ำจุดยืนในใจของคังคุไบ ว่าการทำอาชีพนี้ควรเริ่มจากความยินยอม แม้ตัวเธอเองจะไม่ได้เริ่มต้นจากความยินยอม แต่สุดท้ายเธอยังอยากมีชีวิตอยู่เพื่อทำให้ Sex Workers ที่ถูกกระทำแบบเธอมีชีวิตที่ดี แต่ไม่ใช่ทุกคน ที่พร้อมสู้เหมือนเธอ หรือยินยอมทำอาชีพนี้ ซึ่งเธอก็ได้ช่วยให้มธุได้ออกจากซ่อง ด้วยการจ่ายเงินค่าตัวให้แม่เล้า

อาชีพ Sex Workers จึงควรเป็นชอยส์ที่เลือกได้เอง และเมื่อเลือกแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าในตัวเองจะหมดไปเพราะอาชีพที่ไม่ได้อยู่ในกรอบศีลธรรมทางสังคม

“ดอกไม้มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติของมัน ไม่ว่าจะในวัด ศาลเจ้า ในซ่อง หรืองานศพ เผยแพร่กลิ่นหอมของตัวเองออกไป ทำให้ลูกค้าของคุณพอใจอย่างเต็มที่ แต่อย่าลืมรับค่าจ้างให้เต็มเม็ด เต็มหน่วย เราต้องการความก้าวหน้า”

“คนที่มีความรู้จะขายสติปัญญา แต่เราขายร่างกายของเรา เราทำงานหนักมากด้วย แล้วมันผิดตรงไหน ทำไมถึงคัดค้านการทำมาหากินของเรา ทำไมมีแต่อาชีพเราที่ถูกมองว่าผิดศีลธรรม ผู้ชายจากถิ่นคุณมาหาเราถึงที่เอง แต่ย่านที่เราอยู่กลับมีชื่อเสีย ทำไมล่ะ”

คังคุไบ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของสังคมชายเป็นใหญ่ในอินเดีย ที่มองว่าผู้ชายทำอะไรก็ไม่ผิด Sex Workers จะถูกตีตราว่าทำให้ครอบครัวคนอื่นแตกแยก ทำให้ผู้ชายมีเมียน้อย แต่ไม่เคยมองเลยว่า นี่คืองานของพวกเธอ เหมือนกับการขายเสื้อผ้า ที่เราคงไม่มารู้ว่าใครมีเมียแล้ว หรือเลือกขายเฉพาะคนได้ ที่สำคัญ หากจะทำให้ครอบครัวแตกแยก ทำไมผู้ชายเหล่านั้นที่ถ่อสังขารตัวเองมาหา Sex Workers ถึงที่ ไม่โดนสังคมประณามว่านอกใจเมีย หรือทำผิดศีลธรรมบ้าง? และถึงเขาจะไม่ได้มามีเซ็กซ์กับคนขายบริการทางเพศ ถ้าเขาจะเลว เขาก็นอกใจเมียเขาอยู่ดี จริงไหมล่ะ

หรือในกรณีที่เด็กสาวบริสุทธิ์ถูกจับมาขาย พวกเธอก็ต้องรับโทษทางกฎหมายหากออกไปแจ้งความ แต่ผู้ซื้อกลับไม่ถูกลงโทษอะไรเลย นี่คือเรื่องผิดแปลกในสังคมในการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงที่เป็นผู้ถูกกระทำให้กลายเป็นอาชญากร โยนความผิด โยนขี้ใส่พวกเธอ เพราะรู้ว่าไม่สามารถเอาเรื่องกับผู้ชายที่เป็นผู้กระทำได้

ฉากที่คังคุไบขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ในงานขององค์กรพัฒนาสตรีแห่งอินเดีย และได้รับเสียงปรบมือจากประชาชนมากมาย เป็นหนึ่งในไคลแมกซ์สำคัญ เธอบอกว่า การมีอยู่ของโสเภณีในกามธิปุระ ช่วยลดอัตราที่ผู้หญิงจะถูกข่มขืนได้ เพราะการมีตัวเลขการถูกข่มขืนสูง ก็ยิ่งทำให้เกียรติของสังคมนี้ถดถอยลง

เช่นเดียวกับในหนังสือของไซดิ ที่ระบุถ้อยคำของคังคุไบตัวจริงไว้ว่า “มีผู้หญิงไม่กี่คนหรอกที่ตอบสนองความต้องการทางกายของผู้ชายได้ เรากำลังปกป้องทุกคนจากการถูกทำร้าย ผู้หญิงเหล่านี้ช่วยลดความก้าวร้าวของผู้ชายได้”

ถูกต้องโดยไม่มีอะไรจะค้าน สำหรับเราการมี Sex Workers ถูกกฎหมายจะช่วยลดคดีข่มขืน หรือล่วงละเมิดทางเพศได้มากขึ้นอย่างแน่นอน และเชื่อว่าหากไทยทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมาย ก็คงจะช่วยลดตัวเลขของเหยื่อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แบบทุกวันนี้ได้บ้าง

อย่างที่บอกว่ากฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับ Sex Workers ยังมีข้อจำกัดที่แฝงการตีตรา หนึ่งในนั้นคือการกำหนดว่าห้ามขายบริการในรัศมี 200 เมตรของสถานที่สาธารณะ สามารถขายบริการทางเพศในที่ห่างไกลเท่านั้น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้นอกจากจะทำให้พวกเขาได้รับความเสี่ยงจะโดนทำร้ายมากขึ้น เพราะต้องไปทำงานในที่ลับตาคน ร้องขอความช่วยเหลือก็ไม่ได้ยินแล้ว ยังสื่อให้เห็นว่าอินเดียยังไม่ได้มอง Sex Workers เป็นภาพเดียวกับคนในสังคม และทำให้ตัวคนทำอาชีพเอง หรือลูกๆ หลานๆ ของพวกเขา ถูกตีตรา และถูกเลือกปฏิบัติ

ในภาพยนตร์ คังคุไบ ได้ไปเจรจากับโรงเรียนที่จะไล่ที่เธอให้ออกไปจากชุมชน เพราะใกล้โรงเรียนหญิงล้วน แถมยังมีชาวบ้านออกมาประท้วงให้ยุติการค้าประเวณี นั่นทำให้เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของ Sex Workers ในซ่องของเธอ ไม่ได้เรียนหนังสือ ถูกครูตี และไล่ออกมา นี่คือภาพชัดเจนว่าสังคมมองอาชีพนี้อยู่ต่ำกว่าตน

“ถึงจะมาจากซ่องแล้วยังไง พวกเขามีสิทธิได้รับการศึกษา ฉันจะทำให้พวกเขาได้เรียนให้ได้ ลองนึกดูว่าถ้าหนึ่งในนั้นเป็นหมอ วิศวกร หรือนักกฎหมาย ชีวิตเธอจะเปลี่ยนไปขนาดไหน แบบนั้นคุณคงไม่ว่าอะไรใช่ไหม” เธอกล่าวกับเจ้าหน้าที่โรงเรียน และยังบอกอีกว่า “ถ้าเด็ก 14 ถึง 15 ปี เห็นเรื่องผิดศีลธรรมข้างนอกนั่น มันจะกระทบพวกเขายังไง”

จะเห็นได้ว่าสังคมเอเชียไม่ได้ตีตราแค่คนทำอาชีพนี้ แต่ดูถูกไปยังลูกหลานของคนทำอาชีพนี้อีก และทำให้พวกเขาขาดโอกาสในหลายๆ ทาง อย่างที่คังคุไบบอกว่า ถ้าเด็กเห็นเรื่องพวกนี้แล้วจะกระทบจริงๆ เหรอ เพราะในความจริง ยิ่งปิดกั้นเรื่องเซ็กซ์กับเด็กมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เด็กไปเรียนรู้ หรือลองผิดลองถูกเอง ซึ่งนั่นอาจจะเป็นปัญหาที่แก้ยากกว่าด้วยซ้ำ

ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ สุดท้ายคุณไม่อาจปิดเรื่องเซ็กซ์ให้เป็นเรื่องเฉพาะผู้ใหญ่ได้หรอก แถมถ้าเด็กมีทัศนคติติดลบต่อ Sex Workers หรือการจำกัดสิทธิในร่างกายตัวเอง เราว่ายิ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เขา หรือเธอ อาจจะเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกกับร่างกาย จนไม่มีความสุขในชีวิต หรือไปทำร้ายคนอื่น เพราะมองคนอาชีพนี้เป็นสิ่งของ หรือแม้กระทั่งมองผู้หญิงที่เป็นเพื่อนร่วมโลกเป็นสิ่งของ แบบนั้นคงแย่น่าดู

สิ้นปี 2021 เราได้เห็นการเคลื่อนไหวของรัฐบาลอินเดียที่เป็นแนวโน้มที่ดีมากขึ้น เมื่อศาลฎีกาของอินเดียตัดสินว่า รัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องออกบัตรลงคะแนนเสียง และบัตรปันส่วนให้ Sex Workers โดยลงทะเบียนใน Aadhaar ซึ่งเป็นระบบไบโอเมตริกซ์ที่ครอบคลุมคนทั้งประเทศ ซึ่งมักจะมีความสำคัญต่อการได้รับสวัสดิการ

“สิทธิขั้นพื้นฐานได้รับการคุ้มครองสำหรับพลเมืองทุกคนในประเทศโดยไม่คำนึงถึงอาชีพของเขาหรือเธอ” ศาลฎีกาของอินเดีย กล่าว

มูฟเมนต์ครั้งนี้ เกิดจากการยื่นคำร้องโดย Durbar Mahila Samanwaya Committee กลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศในเมืองโกลกาตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย ซึ่งมีสมาชิกที่ลงทะเบียนมากกว่า 130,000 ราย (ถ้ารวมคนที่ไม่ได้ลงทะเบียน อยู่ในซ่อง ดูแลโดยแม่เล้า หรือถูกบังคับค้าประเวณี ตัวเลขก็ราวๆ 900,000 คน) ที่เรียกร้องให้ Sex Workers ทั้งผู้หญิง และผู้หญิงข้ามเพศในอินเดียที่ต้องเผชิญความยากจนในช่วงระบาดของโควิด-19 ได้รับการบรรเทาทุกข์

“ความเป็นเฟมินิสต์ในตัวฉันถูกกระตุ้นมากขึ้นหลังจากเล่นหนังเรื่องนี้ ฉันเริ่มอ่อนไหวมากขึ้นกับการสนทนาเรื่องความเท่าเทียม ซึ่งจริงๆ ก็มีมาระยะหนึ่งแล้ว และคงจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องทำ” อาเลีย บัตต์ (Alia Bhatt) นักแสดงผู้รับบท คังคุไบ กล่าวกับ Deadline

ส่วนประโยคที่เธอพูดในฐานะคังคุไบอย่าง “สิทธิทุกอย่างของเราถูกพรากไป ไม่ว่าจะที่โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ที่ธนาคาร หรือเวลาต่อคิวที่ร้านขายของชำ ความรักของแม่ การปกป้องของพ่อ” คงจะตอบได้ดีว่าพวกเธอต้องเผชิญกับการถูกผลักออกจากความเป็นมนุษย์ และสิ่งนั้นมันหนักหนาแค่ไหน

และคงเป็นอย่างที่คังคุไบกล่าว แม้จะถูกพรากสิทธิไป แต่ศักดิ์ศรีของคนทำอาชีพ Sex Workers โสเภณี หรือกะหรี่ ตามที่คนเรียกๆ กันมา ไม่ได้ถูกพรากตาม เพราะนี่คืออาชีพ คือแรงงาน คือเม็ดเงิน คือความสามารถของร่างกาย และใช่ คุณค่าในตัวคนทำอาชีพนี้ ไม่ได้หายไปแม้แต่น้อย

และตราบใดที่เรื่องราวของ Sex Workers ทั่วโลก ยังถูกปิดซ่อนในมุมมืดไร้แสง ไร้ความยุติธรรม ไร้ความเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ คงมีคนแบบ ‘คังคุไบ’ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ที่พร้อมต่อสู้เรื่องนี้ทั้งอคติทางสังคม และทางกฎหมาย

อ้างอิง:

https://deadline.com/2022/02/alia-bhatt-teaming-sanjay-leela-bhansali-powerful-social-drama-gangubai-kathiawadi-berlin-1234933704/

https://indianexpress.com/article/entertainment/bollywood/gangubai-kathiawadi-real-story-hussain-zaidi-mafia-queen-of-mumbai-7787693/

https://www.netflix.com/title/81280352

https://www.nytimes.com/2021/12/15/world/asia/india-sex-workers-benefits.html

https://www.republicworld.com/entertainment-news/bollywood-news/is-alia-bhatt-starrer-gangubai-kathiawadi-a-real-story-heres-all-you-need-to-know-articleshow.html

https://www.womensweb.in/2021/08/sex-workers-rights-in-india-july21wk5sr/ 

Author

PATCHSITA PAIBULSIRI

Content Creator

Related Stories

โสเภณีคืออาชีพ โสเภณีคือคน ‘Gangubai Kathiawadi’ หนังอินเดียที่ชวนสังคม มอง Sex Workers ในฐานะเพื่อนมนุษย์

life

โสเภณีคืออาชีพ โสเภณีคือคน ‘Gangubai Kathiawadi’ หนังอินเดียที่ชวนสังคม มอง Sex Workers ในฐานะเพื่อนมนุษย์

MIRROR'sGuide