อาชีพนักเขียนที่ฉันกำลังทำ มักพาฉันไปเยี่ยมเยียนพื้นที่เล็กๆ ของคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนผ่านการสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ หรือความรู้สึกของพวกเขาต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้ฉันมองโลกที่คิดว่ากว้างอยู่แล้ว กว้างไปกว่าเดิม และเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ‘เม’ แหล่งข่าวของฉัน คือผู้หญิงวัยทำงานที่เคยทำแท้ง และวินาทีที่ทำเสร็จ เธอโล่ง หายเครียด และหมุนพวงมาลัยรถไปทำงานต่อ ไม่ได้เหมือนกับที่สังคมมักแปะป้ายว่าทุกคนที่ทำแท้งต้องทุกข์ระทมขมขื่น ชีวิตจบสิ้น (แต่เราก็คงต้องบอกว่าคนที่ทุกข์จริงๆ ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะทุกคนล้วนมีเหตุผลของตัวเอง)
การยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่จุดจบของชีวิต แต่สำหรับเม มันเป็นอีเวนต์ใหญ่ๆ ที่เปลี่ยนให้เราหันกลับมารัก และเห็นคุณค่าในสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง หลังจากผ่านเรื่องราวในวันนั้น และได้ตกตะกอนกับตัวเอง ไม่นาน เธอก็กลายเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ที่ต้องการทำแท้งปลอดภัย
ที่ผ่านมา เมต้องเผชิญกับการถูกตราหน้าว่าคนทำแท้งอย่างเธอจะต้องโศกเศร้าไปตลอดชีวิต หรือห้ามมีความสุขในเส้นทางที่เลือก จนบางครั้งก็จิตตกไปบ้าง แต่ตลอดการสัมภาษณ์เธอเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม และพูดเสียงใสตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมหยอกล้อกับแมวสีเทาที่มานั่งฟังเธอให้สัมภาษณ์อย่างน่ารัก เธอยังมีความสุขดี ถึงแม้บางครั้งจะอ่อนไหวกับคำพูดของคนอื่น แต่เข้มแข็งเสมอกับทางที่ตัวเองเลือกมาดีแล้ว
“เราไม่ได้บังคับให้ทุกคนมองการทำแท้งในแง่บวก แต่อยากให้มองเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ก็พอ เพราะเราอยากยืนยันในหลักการที่ว่า มันคือทางเลือกที่เลือกได้ว่าเราอยากมีลูกตอนไหน ตามเวลา หรือความพร้อมที่กำหนดได้เอง ไม่ใช่ให้คนอื่นตัดสิน แม้ตอนนี้ยังมีความเชื่อที่บอกว่ามันไม่ดี แต่สุดท้าย มันมีความเชื่อไหนด้วยเหรอ ที่ใหญ่ไปกว่าสิทธิ์ในร่างกายของเรา”
แอคเคานต์ทวิตเตอร์ The Pillow Talks (@thepillowtalks_) คือพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องเซ็กซ์ และความสัมพันธ์ ที่มีผู้ติดตามหลายหมื่นคน ที่มี ‘เม’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เธอสร้างพื้นที่ตรงนี้เพื่อเปิดให้ใครก็ได้ที่ไม่กล้าพูดเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา เพราะกลัวคนรอบข้างกระอักกระอ่วน ได้มาแลกเปลี่ยน และมองว่าเรื่องนี้มีคนรับฟัง เหมือนกับเรื่องทำแท้ง ที่ก่อนหน้านั้น ก็ไม่มีใครอยากจะฟังเธอ
ช่วงปี 2018 เมอยู่ในวัยที่จบมหาวิทยาลัยมาได้หลายปี และทำงานมาสักพักแล้ว เธอสงสัยและค่อนไปทางมั่นใจว่ากำลังตั้งท้อง ไม่ใช่จากสัญญาณประจำเดือนมาไม่ตรง เพราะปกติก็มาเลทตลอด แต่เป็นอาการตึงที่หัวนม ราวกับว่าร่างกายกำลังเตรียมพร้อมอะไรบางอย่าง
“เราตัดสินใจตั้งแต่ตอนนั้น โดยที่ยังไม่ได้ซื้อที่ตรวจครรภ์มาเลยด้วยซ้ำ ว่ายังไงก็ต้องเอาออกแน่นอน แต่ต่อให้เราตัดสินใจของเราได้แล้ว ก็ยังมีความอยากจะพูด หรือปรึกษาเรื่องนี้กับใครสักคนอยู่เหมือนกัน เพราะว่าเราไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้จะมาเกิดกับเรา”
“เราคิดว่าคุมกำเนิดค่อนข้างดี ตั้งนาฬิกาปลุกเวลาเดิมทุกวัน เพื่อกินยาคุม ไม่เคยลืม ไม่เคยขาด เลยรู้สึกว่า เป๊ะขนาดนี้ ยังท้องอีกเหรอวะ มันเป็นอะไรที่ไม่คาดคิดจริงๆ”
“เราตัดสินใจโทรหาเพื่อนสนิทที่สุดในชีวิต แล้วบอกว่า กูคิดว่ากูท้องแน่เลยว่ะ แล้วเหมือนเพื่อนน่าจะรู้ว่าเราต้องตัดสินใจทำแท้งแน่ๆ เขาเลยบอกเราว่า มึง กูขอโทษมากๆ นะ แต่ว่ากูขอไม่รับรู้เรื่องนี้ เพราะกูมีความเชื่อว่าชีวิตกูจะไม่ประสบความสำเร็จถ้าข้องเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้”
“เราพยายามเข้าใจเขานะ แต่รู้สึกโดดเดี่ยวมาก เพราะนี่คือเพื่อนที่สนิทที่สุด แต่ก็ไม่อยากฝืนคุยต่อ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นในอนาคต ทุกครั้งที่ชีวิตมันเจอเรื่องแย่ๆ มันจะต้องกลับมาโทษเรา พอวางสายกันไป ซื้อที่ตรวจครรภ์มาตรวจ ขึ้น 2 ขีด เราก็โกหกเพื่อนไปเลยว่า ไม่ได้ท้อง”
โอเค ลุยคนเดียวก็ลุยคนเดียว! นี่คือทางที่เธอตัดสินใจ
“จริงๆ แอบแย่ที่จะพูดนะ คือเรื่องแบบนี้ไม่เจอกับตัวก็ไม่รู้จริงๆ เราละอายเหมือนกัน ที่เรียนนิติศาสตร์มา แต่ไม่เคยได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เลย ตอนเรียนก็ท่องสิทธิมนุษยชนวนไป แต่ก็ไม่ได้เข้าใจมันจริงๆ ตอนอยู่มหาลัย มีคนซุบซิบว่ารุ่นพี่คนนั้นไปทำแท้งมา เรายังมองว่า เฮ้ย จริงดิ หดหู่จัง ไม่เคยคิดว่ามันเป็นทางเลือก ไม่เคยตั้งคำถามว่า มันน่ากลัวยังไง หรือมีอะไรที่รับไม่ได้ ฟังแต่ความเชื่อตามรายการทีวี รายการผี ต้องสะเดาะเคราะห์เพราะไปทำแท้ง ชีวิตไม่ดี สื่อประโคมข่าวในแง่ลบ” เมเล่าถึงตัวเองก่อนหน้านั้น
“จังหวะที่ได้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนจริงๆ คือตอนจะทำแท้งเองนี่แหละ ว่ามันไม่มีอะไรมากไปกว่าเรามีสิทธิที่จะเลือก สำหรับเรานี่คือการคุมกำเนิดแบบหนึ่ง เรากินยาคุมเพื่อไม่ให้ท้อง ใส่ถุงยางก็เพื่อไม่ให้ท้อง การทำแท้งในครั้งนั้น ปลายทางก็คือไม่อยากมีลูกเหมือนกัน”
“ตอนนั้น เราไม่ได้มานั่งคิดหรอกว่ามันไม่ดี แล้วไม่ดียังไง มันมีทางเลือกแค่สองทางคือทำแท้ง กับท้องต่อ เราคิดเลยว่า อยากให้ผู้ชายคนนี้เป็นพ่อของลูกเราจริงไหม ถ้าท้องต่อจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตบ้าง เช่น ถ้าจะรับทุนไปต่างประเทศ เราไปไม่ได้แล้ว หรือว่าถ้าเราจะทำงาน เราก็สูญเสียโอกาสในการทำงาน ไม่ได้เลื่อนขั้น ซึ่งแม่งไม่ใช่แค่ 9-10 เดือนแน่ๆ อย่างต่ำต้องมี 2 ปี ดีไม่ดี อาจจะเกิดเหตุอะไรก็ไม่รู้แบบคาดการณ์ไม่ได้”
แล้วหวั่นใจพวกเรื่องบาป บุญ ผีเด็ก แบบที่ใครๆ ปลูกฝังกันมาบ้างไหม? ฉันถามต่อ
“ไม่ได้ถึงขั้นกลัว แต่วินาทีนั้น ต่อให้กลัวผี กับกลัวต้องมีลูก เรากลัวมีลูกมากกว่า (หัวเราะ) ถ้ามีผีตามจริงๆ เราค่อยดีลกันทีหลังเนอะ ถ้าไปทำบุญเดี๋ยวคุยกันทีหลัง แต่จังหวะนี้ชีวิตกูต้องรอดก่อน แล้วเราคิดว่าคนที่ทำแท้งหลายคนก็ต้องคิดแบบเรา เพราะเคยได้ไปคุยกับคนทำแท้ง ที่เคร่งศาสนามากๆ เขาพูดว่า ไม่ทำไม่ได้ ต่อให้รู้สึกว่าบาปแค่ไหน ก็ต้องทำ ไม่งั้นชีวิตของเขามันลำบากจริงๆ”
เมบอกกับฉันว่า เธอไม่ได้บอกครอบครัวเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนั้น เพราะเดาทางไม่ออกว่าเขาจะรับได้หรือรับไม่ได้ เธอกระแอมขำเล็กน้อยออกมา พร้อมพูดว่า “มันตลกที่ เราแค่เลือกว่าจะไม่มีลูกตอนนี้ แต่มันอาจกลายเป็นความทุกข์ให้แก่คนรอบข้างได้เลย”
เธอจึงต้องผ่านวันยากๆ นั้นไปคนเดียว มิหนำซ้ำ ในปีที่เมทำแท้ง กฎหมายยังไม่ถูกเปลี่ยนให้ผู้ตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายในทุกกรณี ซึ่งฉบับเดิม ผู้หญิงทำแท้งยังมีความผิดตามกฎหมายอาญา นอกเสียจากว่า ถ้าเกิดมีปัญหาสุขภาพ หรือตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงจะไม่มีความผิด คืนก่อนที่จะไปรับบริการ เธอจึงคิดไม่ตกว่า จะพูดยังไงให้ดูน่าสงสารมากพอ จนเขายอมให้ทำแท้งได้
“ขอเล่าก่อนว่า เมรู้ว่าจะไปทำแท้งที่ไหนเพราะทวิตเตอร์นะ (หัวเราะ) เราเจอคนรีทวิตกลุ่มทำทางขึ้นมา แล้วบังเอิญบุ๊กมาร์กไว้เฉยๆ แต่ก็ยังรู้สึกว่า ไม่พร้อมจะนั่งคุยกับเขา หรือบอกเรื่องส่วนตัวกับใครอยู่ดี ไม่อยากนั่งตอบคำถามว่าทำไมถึงอยากทำแท้ง เหตุผลว่าจะทำแท้งคืออะไร เรามีความคิดที่ว่า นี่คือเรื่องของเรา โชคดีที่เขาแนบลิ้งก์เว็บไซต์ของเครือข่าย RSA ไว้ ซึ่งมีบอกลิสต์โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่ให้บริการ เราก็เลือกที่ใกล้บ้านที่สุด”
“แต่ลองคิดกลับกัน ถ้าวันนั้นเรา หรือใครก็ตามที่ไม่ได้เจอข้อมูลที่โอเค แต่ไปเจอยาทำแท้งเถื่อน ระบุที่มาที่ไปไม่ได้ คนที่อยากทำแท้งมากๆ เขาไม่ได้มีทางเลือกเยอะ และคงเลือกทางนั้น เพราะเร็ว และจบไว ซึ่งมันก็เป็นปัญหาที่รัฐไม่เคยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ปลอดภัย หรือทำให้คนเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้โดยง่าย”
“ช่วงบ่ายๆ เราขับรถไปคนเดียว แบบไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย เพราะไม่รู้จะเตรียมอะไรจริงๆ มันไม่มีใครมารีวิวเหมือนไปคาเฟ่ หรือรีวิวเครื่องสำอาง ว่า สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะพาไปดูวิธีการไปทำแท้งกันนะคะ อะไรทำนองนี้”
“ไปถึงเขาก็พาไปอัลตร้าซาวด์ เป็นครั้งแรกเลยที่เห็นว่า เรื่องนี้คือเรื่องจริง อายุครรภ์เรา 8 สัปดาห์หลังจากนั้นก็ต้องชำระเงิน ซึ่งเสียไปประมาณสี่พันกว่าบาท แพงนะ แพงมาก แต่ก็ต้องทำ แล้วก็ไปลงทะเบียน ต้องทำแบบประเมินสุขภาพเพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่จะทำได้ ต้องตอบว่าเครียดมากๆ ห้ามตอบว่าเฉยๆ หรือยังนอนหลับสนิทอยู่ เพราะเดี๋ยวไม่ผ่าน”
สิ่งที่เมและคนทำแท้งหลายคนเจอ คือเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลไทยบางคนยังโน้มน้าวให้ผู้ที่ตั้งใจมาทำแท้ง ล้มเลิกการทำแท้ง พร้อมตัดสินว่าใครดูพร้อม หรือไม่พร้อม ผ่านสายตาของตัวเอง แม้บางคนจะถามเยอะเพื่อเก็บข้อมูลไว้เฉยๆ แต่ก็อาจทำให้ผู้ที่จะทำแท้งไขว้เขว้ได้
“สถานพยาบาลถามเราว่า อายุเท่าไหร่ เงินเดือนเท่าไหร่ พอวิเคราะห์ปุ๊บ ก็บอกว่า อายุก็ไม่ได้น้อยเลยนะ ไม่ใช่คุณแม่วัยใส รายได้ก็พอประมาณ ทำไมไม่พร้อมล่ะ มันแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราอายุน้อยกว่านี้ เขาอาจจะไม่ถามเราแบบนี้ มีเงินเดือนน้อยกว่านี้ อาจจะมีท่าทีอีกแบบ จำได้ว่าเราตอบว่า ไม่มีสามี ไม่ได้แต่งงาน เขาก็ยังบอกว่า เลี้ยงเดี่ยวก็ได้นี่ ให้ญาติช่วยเลี้ยงได้…คือแปลกไหมคะ ทำไมการท้องไม่พร้อมของเรา คนอื่นถึงมีสิทธิ์มาบอกว่าเราพร้อมล่ะ”
“เจ้าหน้าที่มีการตัดสินอยู่ตลอดเวลา เอามาตรฐานของตัวเองมาวัดตลอดว่าคนไหนดูพร้อม ดูไม่พร้อม ยิ่งเรามาทำงานเป็นอาสาสมัครที่ทำทาง ยิ่งเห็นว่าในต่างจังหวัด มีการใช้คำพูดประมาณว่า ไม่กลัวผีเหรอ เจ็บนะ หรือถ้าเป็นคุณแม่วัยใส ก็อาจบอกว่า ให้พ่อแม่ ช่วยกันเลี้ยงได้ อย่าไปทำเลย คือคนที่เขาอยู่ในช่วงเปราะบาง หรือกำลังหวั่นใจอยู่ พอมาฟังแบบนี้ มันทำให้ลังเล ทีนี้ทุกครั้งที่เลื่อนการตัดสินใจออกไป มันก็หมายถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์”
“ปัจจุบันก็ยังมีเจ้าหน้าที่ที่พยายามโน้มน้าวไม่ให้ทำแท้ง แล้วก็มีเยอะด้วย โดยเฉพาะกับคนทั่วไป อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นจำนวนที่มาทำแท้งมากที่สุด และส่วนมากก็เป็นคนที่มีลูกหลายคน ไม่สามารถมีลูกเพิ่มได้อีก แต่พอผู้ให้คำปรึกษายึดหลักครอบครัวเป็นศูนย์กลาง พยายามพูดอะไรก็ได้ให้ได้อยู่กันเป็นครอบครัว มากกว่าให้ความรู้รอบด้าน ช่วยคิดในสิ่งที่เขาคิดไม่ถึง ทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อายุครรภ์ตรงนี้มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ถ้าท้องต่อมีความช่วยเหลือแบบนี้นะ ต้องบอกทั้งสองทาง ไม่ใช่เอนเอียงให้ท้องต่ออย่างเดียว”
วันนั้น เมยืนยันในคำตัดสินของตัวเอง ไม่ใช่ของเจ้าหน้าที่ เธอเลือกไปต่อ เปลี่ยนผ้าถุง รอคิว ขึ้นเตียง โดยคุณหมอเลือกใช้หัตถการที่ไม่ถึง 5 นาที (เร็วมาก!)
“เขาใช้เครื่องดูดสูญญากาศดูด 5 นาทีเสร็จ เร็วจนงง และให้ผ้าอนามัยแปะไว้ เปลี่ยนเสื้อผ้า นอนพัก 15 นาที ให้ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด และยาคุม ซึ่งให้กินโดยนับว่าวันที่ทำแท้งคือวันที่ประจำเดือนมาวันแรกไปเลย และต้องกินให้หมดแผงเพื่อปรับฮอร์โมน”
“แล้วเราก็ขับรถไปทำงานต่อ คิดตลอดทางว่า ไอ้เหี้ย แค่นี้เองเหรอวะ (หัวเราะ) ความรู้สึกคือโล่ง ที่นอนเครียดมาตลอดมันหายไปแล้ว เพราะปัญหามันถูกแก้แล้วอะ”
ท่าที และคำพูดทุกคำของเม ฉายแววความมั่นใจเต็มร้อย ทว่าเธอเลือกแสดงมุมอ่อนไหวให้เราได้เห็นเช่นกัน โดยสารภาพว่า แม้เธอจะดูมั่นๆ แบบนี้ แต่ก็มีหลายจังหวะที่เธอรู้สึกว่า เรื่องราวของเธอในมุมมองของคนอื่น กลับทำให้เธอโล่งใจได้ไม่สุด
“เราต้องเก็บมันไว้คนเดียว พอรู้ว่ากูจะพูดกับใครไม่ได้ เลยอึดอัด ว่าทำไมวะ เพื่อนสนิทก็ไม่อยากฟัง คนที่ทำให้เราท้อง มันก็สบายใจ ลอยตัว ไม่ได้เครียดอะไร”
“ตอนแรกเราไม่ได้บอกคนที่ทำเราท้อง เพราะไม่อยากฟังคำพูดที่อาจทำให้เสียใจได้ แต่พอเราทำแท้งมาได้ 2-3 วัน เราหน่วง เลยตัดสินใจไปบอก สรุปก็เป็นตามที่เราคิด คำพูดของเขาทำให้เราเสียใจจริงๆ เช่น แกคิดบ้างป้ะ ว่าลูกของเราจะเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง…คือมันไม่ต้องถามแล้วป้ะ มันไม่มีลูกไปแล้ว คือกูต้องรู้สึกยังไง”
“แล้วเราก็โดนคนแปลกหน้า ส่งข้อความมาหาในทวิตเตอร์ว่า อำมหิตมาก ฆ่าคนไม่รู้สึกอะไรเลย ทำให้เราไม่จับโทรศัพท์ไปเป็นอาทิตย์ การถูกพูดว่าฆ่าคน มันร้ายแรงมาก แล้วขนาดเราไม่มีความเชื่อ แล้วมั่นใจในหลักการว่า ในท้องตอนนั้นยังไม่เป็นคน ยังเป็นตัวอ่อนอยู่เลย ยังรู้สึกแย่ขนาดนี้ แล้วผู้หญิงหลายคนที่คิดว่าตัวเองทำบาป เขาจะรู้สึกหนักหนาขนาดไหน”
“การทำแท้งมันเกิดขึ้นกับเจ้าของร่างกาย ไม่ได้เกิดกับร่างกายของคนอื่น พวกเขาไม่ได้สูญเสียโอกาสในการทำงาน ไม่ได้รับความเสี่ยงต่อสุขภาพ เราทั้งนั้น ที่ต้องแบกความเสี่ยงนั้นเต็มๆ แต่สังคมกลับไม่อนุญาตให้เราโอเคกับมันจริงๆ ถ้าไปทำแท้งแล้วดูสำนึกผิด สะเดาะเคราะห์ บางทีสังคมยังพอปล่อยผ่าน แต่ถ้าโล่งใจ มองในเชิงแก้ปัญหาได้แล้ว คนกลับมาบอกว่า มึงเย็นชาจัง คือเราแค่เลือกเองป้ะ ว่าจะไม่มีลูกตอนนี้ คือมันมีคนเศร้าจริงๆ แต่ไม่ต้องไปบีบคอใครให้ต้องเศร้าไปตลอดชีวิตได้ไหม”
เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีคนทักมาถามถึงช่องทางการทำแท้ง ที่เพจ Mirror Thailand เพราะไม่รู้ว่าจะไปปรึกษาใคร ฉันเล่าเรื่องนี้ให้เมฟัง เธอตอบทันทีว่า เธอก็เคยจัดพอดแคสต์ แล้วเชิญนางงามท่านหนึ่งมาเป็นแขกรับเชิญ ปรากฎว่า มีคนทักไปถามข้อมูลเรื่องทำแท้งกับนางงาม แทน ‘หมอ’ เช่นกัน
“แทนที่จะทักไปถามข้อมูลสุขภาพกับโรงพยาบาลซึ่งน่าจะเป็นคนที่ควรให้ข้อมูลกับประชาชนมากที่คน แต่หลายคนกลับสะดวกใจจะถามเพจในอินเตอร์เน็ต คนในโซเชียล รวมไปคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มากกว่า มันสะท้อนความไม่ปกติของสังคมไทย”
“เราเคยจัดทำแท้งทอล์กกับกลุ่มทำทาง คุยเรื่องการส่งต่อเคสทำแท้งของโรงพยาบาล ว่าถ้าไม่รับทำ ไม่ให้บริการจริงๆ อย่างน้อยๆ ขอให้ส่งต่อไปโรงพยาบาลที่เขารับทำหน่อย เพราะเราก็ไม่อยากไปบังคับให้ใครต้องทำ แต่ปรากฎว่า โรงพยาบาลบางแห่งไม่คิดจะส่งต่อ เพราะคิดว่ามันคือการส่งคนไปตาย”
“ยิ่งรัฐบาลไม่ได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติในสถานให้บริการอย่างชัดเจน ก็ยิ่งทำให้หมอหลายแห่งปฏิเสธการให้บริการได้ ลองคิดกลับกันพอเป็นเคสมอเตอร์ไซค์ล้ม หมอไม่รับไม่ได้นะ แต่ทำไมทำแท้งปุ๊บ กลายเป็นว่าไม่รับได้ เพราะไม่อยากทำ”
เมบอกว่ากลุ่มทำทาง และกลุ่ม RSA ได้เก็บสถิติ ผู้ที่แสดงเจตจำนงต้องการยุติการตั้งครรภ์ แล้วพบว่ามีจำนวนมากกว่าผู้ที่ได้ทำจริงๆ สิ่งนี้สะท้อนถึงปัญหาของกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ที่มีหลายสถานการณ์ซึ่งทำให้อายุครรภ์เกินกำหนดที่กฎหมายจะอนุญาตจนทำให้ผู้ที่แสดงเจตจำนงไม่สามารถเข้ารับบริการได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการมีไม่เพียงพอ รวมถึงการถูกโน้มน้าวจากคนในสังคม และเจ้าหน้าที่เองด้วย
“กฎหมายที่เพิ่งปรับล่าสุดนี้ บอกว่าผู้ที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ แต่ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ สามารถทำได้แต่ต้องผ่านการรับคำปรึกษาทางเลือก แต่มันมีเงื่อนไขมากมายที่ระยะเวลาเท่านี้นับว่าน้อยไป เช่น การตรวจพบว่าตัวอ่อนมีความพิการ หรือผิดปกติ ซึ่งมันไม่ได้บอกได้ด้วยอายุครรภ์ช่วงต้นๆ”
สำหรับเม เธอเสนอว่ากฎหมายควรอนุญาตให้เป็น 24 สัปดาห์ ซึ่งอิงจากกฎหมายของบางประเทศ ที่ระบุว่าให้ทำแท้งได้ถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ และอันที่จริงตอนนี้หมอที่ให้บริการก็รับทำถึง 24 สัปดาห์เช่นกัน ส่วนถ้านำตัวอ่อนนั้นออกมาหลังจากอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ก็จะถือเป็นการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งในความเป็นจริงทารกที่ออกมาหลังอายุครรภ์เท่านี้ ก็มีโอกาสรอดชีวิตเพีง 40% และในจำนวนนี้ก็มีเพียง 5% ที่จะเติบโตได้อย่างปกติ ไม่พิการ
อย่างไรก็ตาม ขณะที่กฎหมายอาจยังต้องคำนึงถึงการกำหนดขอบเขตอายุครรภ์ให้มากกว่าเดิม แต่ในแง่ของการเข้ารับบริการ ไม่ใช่สิ่งที่ใครควรต้องรอ
“แล้วยิ่งรัฐไม่มีท่าทีเพิ่มสถานที่ให้บริการ และสถานที่ที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วก็ยังไม่ประชาสัมพันธ์ให้ด้วย กลายเป็นว่าหลายที่ ก็ไม่อยากประชาสัมพันธ์ตัวเอง เพราะกลัวคนเข้ามาเยอะ แล้วทำงานไม่ไหว เช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ส่งเคสไปคือรอนานมาก เอาเป็นว่าคลอดก่อนได้เลย ซึ่งการท้องมันรอไม่ได้ไงคะ ทุกวันที่รอมัน อายุครรภ์ก็เพิ่มมากขึ้น มันไม่ได้หยุดรอตามคิวหมอนะ”
เฮ้อ ยากจัง – นี่คือรีแอคของฉัน หลังจากฟังเมพูดมาจนใกล้จบ
เม ตอบกลับทันทีว่า ใช่ มันยาก แต่เธอก็ไม่ได้ย่อท้อต่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้
“ผู้ให้บริการ อย่างหมอ ยังมีทัศนคติที่ไม่อยากพูดคำว่าทำแท้งออกมาด้วยซ้ำ คลินิคในชุมชนต่างจังหวัดบางแห่ง ถูกต่อต้าน เพราะชาวบ้านเชื่อว่าจะมีวิญญาณเด็กทารก ทำให้ชุมชนไม่สงบสุข หมอหลายท่านจึงต้องหลบหลีกการใช้คำ บ้างก็ใช้คำว่าปรับประจำเดือน เพื่อให้ดูซอฟต์”
“สังคมที่มีความเชื่อเรื่องบาปบุญเข้มข้น ทำให้เราไม่มีการพูดถึงการทำแท้งสักเท่าไหร่ เก็บกริบมาก ลองตัดภาพไปที่ละตินอเมริกา เขามีผู้เสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยเยอะ จนมันปิดกันไม่มิด รัฐต้องหาวิธีแก้ แต่ของเรา มองว่าคนทำแท้งที่เสียชีวิต เป็นสิ่งที่สมควรต้องเจอ เป็นเวรกรรม”
“บางคน เลือกจะทำแท้งเถื่อน เพราะไม่สามารถเข้าถึงการพักฟื้น หรือบริการสุขภาพดีๆ ได้ คนที่ทำงานวันต่อวัน มันคือการขาดรายได้ไป ยังไม่นับว่าถ้าจังหวัดของเขาไม่มีสถานที่ให้บริการ แล้วต้องเดินข้ามจังหวัด เขาก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะไปหมด”
“จริงๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการสนับสนุนเงิน 3,000 บาทสำหรับการยุติการตั้งครรภ์ แต่ถึงเวลาจริงๆ มันก็ต้องมีค่าบริการที่มากขึ้นไปอีก แล้วตอนนั้นใครจะไปรู้วะว่าขอใช้สิทธิ์ได้ เพราะไม่มีใครเคยมาบอก เราเองก็มารู้หลังทำแท้งไปแล้ว”
“ถ้าเราบอกว่า รัฐต้องสนับสนุน และประชาสัมพันธ์ข้อมูลการทำแท้งให้มากขึ้น ก็จะมีพวก Anti-Abortion บอกว่า มันเหมือนการชักชวนให้ไปทำแท้ง เราก็แบบ เหรอวะ มันใช่เหรอ คนท้องที่อยากมีลูกมากๆ เขาเห็นโฆษณา เขาจะไปทำเหรอ ก็ไม่น่านะ บ้าแล้ว”
แม้ว่าการทำแท้งคือสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของเรา เป็นทางเลือกของเรา ที่จะตัดสินใจว่า อยากมีลูกในเวลาที่พร้อม แต่ดูเหมือนกฎหมายฉบับล่าสุดยังมีช่องโหว่ และทัศนคติของสังคมก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าเปิดกว้าง
ผู้ที่ตัดสินใจทำแท้งยังใช้ชีวิตโดยไม่สามารถปราศจากอารมณ์โดยสิ้นเชิงได้ เพราะถึงแม้จะรู้สึกมั่นใจในทางที่เลือก แต่ปัจจัยภายนอกอาจผลักให้รู้สึกแย่อยู่ดี แต่อย่างน้อยๆ หากยึดมั่นที่จะเคารพรักร่างกายของตัวเอง และโอบกอดทุกเหตุการณ์ในชีวิต ฉันว่าชีวิตของทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะสง่างามในทางของตัวเองได้
แต่ก็จะดีกว่า ถ้ารัฐ และสถานพยาบาลทุกแห่งให้การสนับสนุนโดยปราศจากการตีตรา เพราะการผลักดันด้านนโยบายก็เป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้เลย เรื่องเล่าทั้งหมดของเมเป็นข้อยืนยันชั้นดีทีเดียว
ความรู้เพิ่มเติม: เราสรุปกฎหมายทำแท้งฉบับล่าสุดให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
1. ทำแท้งภายใน 12 สัปดาห์ ไม่มีความผิดทั้งหมด ไม่ต้องมีเงื่อนไขใดๆ
2. ถ้าเกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ทว่ายังยืนยันทำต่อ ต้องเข้ารับการปรึกษาทางเลือก
3. กรณีผู้เข้ารับบริการมีปัญหาสุขภาพกาย-จิต ถูกข่มขืน หรือตัวอ่อนพิการ ไม่มีเพดานเวลา
ป.ล. ยังมีข้อถกเถียงระหว่างคนทำงานผลักดันกับหมอที่ไม่สนับสนุนการทำแท้ง เรื่องความปลอดภัยในการทำแท้งว่าไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไหร่ก็ปลอดภัยกว่าการคลอด แต่หมอบางคนบอกว่าจะมีความเสี่ยง และยากมากกว่า ซึ่งเมในฐานะคนทำงานตรงนี้ก็ไม่ได้คัดค้าน แต่เธอก็คิดว่า การคลอดก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน และอาจจะเสี่ยงมากกว่าด้วย