“Being a mom is the coolest job in the world” อาชีพแม่นี่มันคูลที่สุดในโลกแล้ว!—ตุ๊ก Little Monster
นิยามความเป็น ‘แม่’ ของแต่ละคน และแต่ละบ้าน คงมีได้หลากหลายแบบแตกต่างกันไป แต่สำหรับข้างต้น เป็นคติในการเป็นแม่ของ ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ จาก Little Monster เพจที่บอกเล่าเรื่องการเลี้ยงลูกสาวสองคนอย่างจินและเรนนี่ แบบสนุกๆ และเปิดกว้าง จนทำให้มีผู้ติดตามหลักล้านคน
ความคูลที่แม่ตุ๊กว่า ไม่ใช่การแต่งตัวเท่ๆ ออกจากบ้าน แต่เป็นวิธีการสอนลูกสาวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ที่ใครๆ ก็ไม่มีสิทธิ์มาทำร้ายหรือล่วงเกิน รวมถึงการมอบความรู้เบื้องต้นเรื่องเพศ ไม่ว่าจะจิ๋ม เซ็กซ์ เมนส์ รวมไปถึงความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่จำกัดกรอบใดๆ และพร้อมเปิดกว้างให้ลูกเป็นทุกสิ่งที่อยากเป็น
เรื่องเหล่านี้ เธอมองเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทำให้เด็กๆ รักร่างกาย และจิตใจของตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลอะไร เพราะยิ่งผู้ปกครองปิดกั้นเรื่องเพศ มองเป็นเรื่องพูดไม่ได้ ลูกก็ยิ่งมีกำแพงกับครอบครัว วิธีการและทัศนคติของเธอเป็นอย่างไรบ้าง ลองไปอ่านกัน
ตุ๊ก กับ พี่เหว่ง (ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์) คิดว่า การสอนเรื่องเพศอย่างเปิดเผย และถูกต้อง ดีกว่าการทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ จนลูกกลัว หรือตีความผิดๆ
จริงๆ มันก็ยากเหมือนกัน เพราะตุ๊กเป็นคุณแม่วัย 40 กว่าๆ ไม่ใช่คุณแม่รุ่นใหม่ขนาดนั้น เลยกังวลว่า ฉันจะเลี้ยงลูกยังไงให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะเราโตมากับพ่อแม่ยุคเก่ามากๆ ซึ่งสอนเราว่าเซ็กซ์ไม่ควรพูดถึง หรือต้องกังวลว่าลูกจะรักเพศไหน แต่เราไม่อยากจะสอนลูกแบบนั้น เพราะลูกอาจจะไม่กล้าพูดอะไรกับเราเลย
ในช่วงแรกๆ เราก็ไม่รู้จะคุยยังไงกับเขา เลยมีเผลอทำให้เขารู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องใหญ่ เช่น เราดูซีรีส์เกาหลีอยู่ตอนกลางคืน แล้วจินลงมาเห็นฉากจูบที่มันมากกว่าการ์ตูนดิสนีย์ที่เขาชอบดู ปรากฎว่าเราตกใจ กดปิดไปเลย แต่พอหลังจากนั้นก็มานั่งกังวลว่า รีแอคชั่นที่เราทำมันจะกลายเป็น Taboo ของเขาหรือเปล่า เขาจะคิดว่า พูดกันเรื่องนี้ไม่ได้ไหม
เราเลยต้องปรับทัศนคติของเราก่อนว่าเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าเราปรับตรงนี้ไม่ได้ เราก็จะคุยกับลูกไม่ได้ ถ้าเรามองว่าเซ็กซ์คือปกติ และธรรมชาติ เราก็จะสื่อสารออกมาอย่างเป็นมิตร เหมือนคุยเรื่องทั่วไป แต่ก็ต้องพูดไปตามวัยที่เหมาะสม เช่น ถ้าวัยรุ่น เริ่มเข้าใจอะไรง่าย เราอาจจะลงลึกถึงเรื่องการป้องกันไปเลย รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่ตามมาของเซ็กซ์ด้วย
ไม่ได้วางแผนอะไรเลยว่าต้องคุยเรื่องเซ็กซ์ตอนลูกอายุเท่าไหร่ แต่จะเริ่มพูดตอนเขารู้สึกสงสัย และถามขึ้นมาเอง อย่างปีนี้จินกำลังจะ 10 ขวบ ส่วนเรนนี่กำลังจะ 6 ขวบ ตุ๊กเริ่มคุยกับเขาครั้งแรกตอนอายุ 3 ขวบ เพราะลูกเริ่มไปโรงเรียนอนุบาล เวลาเข้าห้องน้ำก็สงสัยว่าทำไมเพื่อนผู้ชายมีจู๋ แต่เขาไม่มีเหมือนเพื่อน ซึ่งพอเขาโตในบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เขาก็จะไม่เคยเห็นความแตกต่างมาก่อน พอไปเห็นเลยอดข้องใจไม่ได้
สิ่งที่ตุ๊กทำคือการทำให้ประเด็นนี้มันเป็นเรื่องที่คุยได้เป็นปกติ แค่บอกว่า อ๋อ ร่างกายเราเป็นแบบนี้นะ ใช้นิทาน หรือหนังสือเกี่ยวกับร่างกาย เป็นสื่อ อ่านให้ลูกฟัง เพราะวัยนั้นการเห็นผ่านการ์ตูนว่า เด็กผู้ชายร่างกายเป็นแบบนี้ เด็กผู้หญิงร่างกายเป็นแบบนี้จะเข้าใจง่ายกว่า เพราะถ้าเราพูดภาษาพูดไปว่า จู๋คืออะไร จิ๋มคืออะไร บางทีเขายังนึกไม่ออก
แต่ถ้าประเด็นไหนที่เราคิดว่าคุยกับลูกน่าจะดีนะ เราก็จะยกประเด็นขึ้นมาพูด ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกสงสัยขึ้นมาเองอย่างเดียว ถามก่อนบ้างก็ได้ค่ะ จะได้ทำความเข้าใจตรงกัน
ส่วนใหญ่เราจะสอนเรื่องสิทธิในร่างกายมากกว่า ว่าอะไรคือ Private Parts ของเรา หรืออะไรที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ จิ๋มไม่จับ หรือถูแรงๆ นะ เดี๋ยวเป็นแผล สอนให้มันปกติเหมือนสอนแปรงฟัน แล้วก็บอกว่า อวัยวะเพศไม่ควรให้คนอื่นเห็น ไม่ควรให้คนอื่นจับ นี่คือร่างกายของเรานะ
บอกลูกให้ชัดว่า แม้กระทั่งญาติก็ห้ามให้จับ เพราะมันจะมีบางคนที่อ้างว่าเอ็นดู บีบนม บีบอวัยวะเพศ โดยที่เด็กไม่รู้เรื่องนี้ มันจะอันตรายมาก แล้วเด็กก็คงไม่ได้ตลกด้วย ตุ๊กก็จะย้ำกับลูกๆ ว่า ถ้ามีใครทำ ให้บอกแม่ แล้วบอกคนทำไปด้วยว่า ทำไม่ได้ เพื่อให้เขารู้ว่าเรารู้เรื่องนะ แต่ถ้าไม่กล้าเซย์โน ให้เดินออกมาจากตรงนั้น แล้วมาบอกพ่อกับแม่
พอเขารู้ว่าสิทธิในร่างกายของเขาคืออะไร มันก็จะช่วยให้เขาเคารพตัวเอง มี Self-esteem ที่ดี เพราะเขาจะรู้ว่าเขามีคุณค่า ไม่ใช่ให้ใครทำอะไรก็ได้ และมีสิทธิในตัวเอง ตุ๊กมองว่ามันจะแตกยอดไปถึงคุณค่าในจิตใจ ถ้าเรารักร่างกายเรา เราก็จะรักจิตใจไปด้วย เพราะเรื่อง Sexual Harassment ในเด็กค่อนข้างเยอะ และมีคนอินบ็อกซ์มาหาเรา ซึ่งเราก็คิดว่าควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย เพราะมันเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจเด็ก และสร้างบาดแผลให้เด็กได้
คลิป และรูปที่ลงในเพจ Little Monster เราค่อนข้างกรองและระวังอยู่แล้วในการลง เราจะไม่ลงสิ่งที่เขาไม่ยินยอมให้ลง จริงๆ เขาไม่เข้าใจหรอกค่ะว่าอะไรคือยินยอม ไม่ยินยอม เพราะมันเป็นศัพท์ผู้ใหญ่ แต่เราจะมองในมุมลูกเสมอว่า ถ้าโตไปเขาจะไม่โอเคหรือเปล่า ถ้าแม่ถ่ายรูปลงไปแบบนี้ เลยมีคลิปและรูปเยอะมากที่เราไม่เอาลง เพราะเราถามเขา แล้วเขาไม่อยากให้ลง
พอลูก 2 ขวบ เริ่มรู้เรื่อง ก็จะถามเขาก่อนตลอดว่า แม่ลงได้ไหม แน่นอน เขาจะไม่เข้าใจว่าอะไรคือลงโซเชียล แต่เราจะอธิบายเขาแทนว่า จะมีคนที่ไม่ใช่พ่อ แม่ หรือญาติเห็น ถ้าเขาโอเค แล้วบอกว่าลงได้ ก็จะเอาลง แต่อันไหนที่เขาไม่โอเค อย่างเรนนี่จะห่วงสวย ชอบทาเล็บ ทำผม ถ้าเขาไม่พร้อม ไม่อยากให้ลง ก็จะไม่เอาลง แต่ถ้าบางอันเขาชอบ เขาว่ามันตลกดี เขาก็จะให้เราลงได้
พอสอนเขาแบบนี้ เวลามีคนมาขอถ่ายรูป เขาก็รู้แล้วว่าเขามีสิทธิ์จะให้ หรือไม่ให้ บางเคสไม่ได้ขอ ถ่ายเลย เขาก็จะโกรธ พี่คนนั้นทำไมไม่ขอ เราก็จะอธิบายให้เขาเข้าใจถึงเจตนาคนนั้น แต่ก็จะบอกเสมอว่า เห็นด้วยเลยว่าเขาน่าจะถามเรนนี่ก่อนเนอะ
เรายังไม่ได้บอกหรอกว่ามันคืออะไร ทำไมถึงเป็น เพราะมันยากไป ถ้าจะอธิบายถึงผนังมดลูกบลาๆ เขาจะงงมากกกก แต่เราจะบอกว่าเลือดออกมามันไม่ได้รู้สึกเจ็บนะ มันโชว์ให้เห็นเฉยๆ ว่า แม่ไม่ได้จะมีน้องเพิ่ม
เรนนี่จะตกใจมาก เวลาเห็นหยดเลือด หรือผ้าอนามัย นึกว่าเราจะตาย (หัวเราะ) ก็ต้องค่อยๆ อธิบายว่ามันมีทุกเดือนนะ แต่อย่างจินที่โตกว่า ก็ต้องบอกไปเลยว่าเดี๋ยวจินก็ต้องมีเหมือนกัน เขาก็บอกไม่เอา ไม่อยากมี เลยต้องบอกว่ามันเหมือนผ้าอ้อมเด็กใส่กันฉี่นั่นแหละ แต่แค่เปลี่ยนมาใส่กันเลือด
เวลามีเมนส์ ทุกอย่างมันมาหมด อารมณ์สวิง ปวดท้อง ปวดหัว เราจะบอกลูกโดยการดูผ่านแอปฯ ที่บอกว่าเมนส์จะมาเมื่อไหร่ ที่รู้ล่วงหน้าว่าอีกกี่วันจะมี ว่าช่วงนี้ แม่จะสวิง ตั้งการ์ดดีๆ แม่วีนง่าย ง่วงง่าย ทำแบบนี้เป็นรูทีน จนเขารู้ว่าช่วงนี้แม่จะเป็นแบบนี้ จนมีครั้งหนึ่งตอนเราเป็นเมนส์ ลูกบอกเราว่า Life is hard เนอะ มีเลือดเยอะออกมาจากจิ๋มทั้งวัน แล้วก็ตบไหล่ว่า มันโอเคนะ หนูเสียใจกับแม่ด้วย เราก็ขอบคุณเขา ดีใจเหมือนกันที่เขาเข้าใจ
พูดตามตรงคือเราอยากเลี้ยงหลานนะ แต่มันเป็นประเด็นเล็กน้อยมาก เพราะพอมานั่งคิดว่า ถ้าเราอยากเลี้ยงหลาน แต่เขามีแฟนเป็นผู้ชาย และตัดสินใจจะไม่มีลูก ปลายทางมันก็เหมือนกัน แสดงว่าสิ่งที่สำคัญคือเราควรมองว่าอะไรคือความสุขของลูกมากกว่า
ประเด็นหลัก อยู่ที่ลูกจะมีความสุข กับคนที่เขาอยู่ด้วยหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพอะไร เขาโอเคไหม พี่เหว่งจะคุยตลอดว่า ชอบผู้ชาย หรือชอบผู้หญิง ไม่เป็นอะไรเลย แค่หลักๆ คือเขาต้องไม่ทำร้ายเรา เป็นคนที่ดี ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด
เรนนี่เคยถามว่า ทำไมผู้ชายคนนี้ แต่งตัวแบบนี้ คุณพ่อเขาก็อธิบายว่า นี่คือความชอบ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ โลกนี้มีความหลากหลาย ตัวเราก็จะบอกเขาว่าที่พี่คนนี้ทาลิปสติก ก็เหมือนเรนนี่มีความชอบแบบนึง แม่มีความชอบแบบนึง เขาก็เลยมีความชอบแบบนึง เราพยายามจะอธิบายกว้างๆ ให้เข้าใจง่ายๆ เพราะภาพก่อนหน้านี้ที่เรนนี่เห็นการ์ตูน ตอนจบเจ้าหญิง กับเจ้าชาย ก็จะจูบกัน แล้วแต่งงาน เพราะมันไม่ค่อยมีการ์ตูนที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ ให้เด็กเข้าใจ ทำให้เขาเข้าใจมาตลอดว่ามันควรจะเป็นแบบนั้น เพราะเขาเห็นพ่อแม่ก็เป็นแบบนั้น
หลังๆ มา เรนนี่ก็ถามถึงพนักงานในออฟฟิศพี่เหว่ง ว่าพี่เขาชอบผู้ชายใช่ไหมคะ พ่อก็บอกว่า ใช่ พอถามเสร็จเรนนี่ก็ไม่ได้ถามอะไรต่อ ก็มูฟออนไปทำอย่างอื่นแล้ว
ทั้งหมดทั้งมวล มันส่งผลให้เขาเป็นเด็กที่กล้าจะเล่า กล้าที่จะสื่อสาร แต่ถึงเขาไม่เล่า เราก็กล้าที่จะคุยให้เป็นเรื่องปกติ มันดีตรงที่ พอเป็นการพูดคุยกันแบบเปิดเผย จะลดความกดดันในตัวเขา เขาจะรู้สึกว่าการเป็นเขามันไม่ได้ผิดอะไร มันไม่มีอะไรแย่ ถ้าคุยกันได้ทุกเรื่อง มันจะไม่มีความคิดในหัวว่า ไม่เล่าดีกว่า เพราะกลัวโดนตัดสินจากแม่ หรือกังวลว่าพ่อจะแฮปปี้ไหม
และพอเข้าไปในสังคม เขาจะมองคนอื่นอย่างเห็นอกเห็นใจขึ้น มันเป็นรากฐานที่เริ่มตั้งแต่การที่เราเลี้ยงดูให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง และมันต่อยอดไปได้หลายเรื่อง
สามารถพูดเรื่องเพศได้ตั้งแต่เด็ก ว่าอะไรคือร่างกาย อะไรคือสิทธิ์ของเขา หรืออะไรที่ต้องระวัง แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจะไปต่อยังไง มีข้อมูล และสื่อเต็มไปหมดให้เราเลือกที่ช่วยเราในเรื่องพวกนี้ได้ แม้กระทั่งการลงคอร์สพิเศษ ซึ่งตุ๊กก็กำลังจะไปเทคคอร์สเรื่อง Sex Education เพิ่ม เพื่อเอามาพูดคุยกับลูกเรื่องเพศเหมือนกัน
ตุ๊กคิดว่าเราควรหาข้อมูลเพิ่มเติมในการพูดคุยเรื่องเพศกับลูก ยิ่งถ้าเราไม่ได้ถูกสอนเรื่องเพศมาก่อน เรายิ่งไม่รู้ว่าจะพูดยังไงกับเขา เราจึงควรหาความรู้เพิ่มเพื่อที่จะคุยกับเขา เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถพูดได้ค่ะ