ซูซี่—ณัฐวดี ไวกาโล คืออินฟลูเอนเซอร์ลูกครึ่งไทย-มาลี ที่หลายคนจดจำเธอได้จากคลิปลิปซิงก์ในตำนาน ขณะที่หลายคนอาจจำเธอได้จากความเผ็ดร้อนที่ใช้ตอบกลับนักเลงคีย์บอร์ดที่มาด่าเธอในเพจ จนบางครั้งถึงกับถูกท้วงว่า “แรงไปมั้ย”
สำหรับซูซี่ การบูลลี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรเป็นปกติของสังคม และยิ่งกว่านั้นไม่ควรให้คนที่โดนกระทำต้องเป็นฝ่ายจัดการความรู้สึกตัวเอง ต้องอยู่เงียบๆ หรือต้องปล่อยวาง อะไรที่ทำให้เธอเชื่อในการ ‘สู้กลับ’ ลองไปอ่านกัน
เริ่มจากกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ที่ทำให้เกิดแฮชแท็ก #BlackLivesMatter ซึ่งเราก็เห็นว่าในประเทศไทยเราก็มีการเหยียดกันจากสีผิวเหมือนกัน พอดีกับที่สื่อก็ติดต่อมาให้เราพูดเรื่องนี้ เราก็เลยเริ่มพูดตั้งแต่ตอนนั้น เพราะมันเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนมากไม่ค่อยรู้ว่ามีอยู่
เราเองเคยโดนในฐานะคนที่มีเชื้อสายแอฟริกัน ขณะที่หลายคนที่ไม่ได้มีเชื้อสายแอฟริกันแต่มีผิวสีคล้ำก็โดน เราเลยถือโอกาสพูดเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันเลย เพราะไม่ว่าคุณจะผิวสีอะไรหรือเชื้อชาติไหน ก็ไม่ควรโดนเหยียดหรือบูลลี่ เราอยากให้รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องตลก ไม่ใช่เรื่องหยอกๆ อย่างที่เขาชอบอ้างกัน
และที่เราพูดเพราะอยากให้คนตระหนักเรื่องนี้ ไม่ต้องมองว่าเราน่าสงสาร เราไม่ได้ต้องการให้ใครสงสาร
สำหรับเราคิดว่ารุ่นเก่าคงเปลี่ยนไม่ได้แล้วค่ะ เขาไม่เอาแล้ว บางคนนะคะ เขาก็จะรู้สึกว่าไม่ได้อยากมานั่งฟังคนรุ่นใหม่ แบบ “เธอจะมาสอนฉันรึไง!” ขณะที่คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะรับฟังและเปลี่ยนมากกว่า หลายคนก็บอกว่าเขาเคยบูลลี่คนอื่นมาก่อน แต่พอได้ฟังที่เราพูด ได้รู้ถึงหัวอกคนโดน เขาก็บอกเลยว่าจะสอนลูกไม่ให้เป็นเหมือนเขาตอนเด็ก
แต่ก็มีหลายคนนะที่มาบอกเราว่า “ซูซี่พูดเรื่องนี้บ่อยจัง น่ารำคาญ” หรือไม่ก็ “ซูซี่ เรื่องนี้เขาก็แค่หยอกๆ กันไหม ทำไมซีเรียสจัง” ซึ่งเรามองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนที่น่ากลัวมากๆ เพราะเขามองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ
เป็นเพื่อนสมัยเรียนที่มาขอโทษ น่าจะเพราะการที่เราเล่าเรื่องตัวเองนี่แหละ มันทำให้เขาเพิ่งรู้ว่าตอนนั้นเรารู้สึกยังไง ซึ่งจริงๆ นะ เราไม่ได้ถือโทษโกรธเพื่อนในตอนนั้นเลย มันมีหลายปัจจัย ทั้งความเป็นเด็กเอย หรือกระทั่งครูในโรงเรียนเอง ก็เป็นส่วนหนึ่ง ก่อนอื่นครูหลายคนควรเลิกตั้งฉายาให้เด็กก่อนเลย เพราะถ้าครูเริ่มเมื่อไหร่ เพื่อนในห้องก็จะตาม แล้วครูก็ควรเลิกเพิกเฉยกับการที่เด็กจะล้อเลียนกันหรือบูลลี่กัน อย่าเข้าใจว่านี่คือเรื่องธรรมดา หรือ “เด็กมันเล่นกัน” ถ้าครูคิดแบบนี้ก็จบแล้วอะ
รวมถึงสื่อต่างๆ อย่างเวลาดูละครที่มีการเรียกตัวละครด้วยรูปลักษณ์แบบต่างๆ เด็กหลายคนก็จำภาพนั้นมาแล้วเอามาใช้กับเพื่อนที่โรงเรียนด้วย ขณะที่ผู้ปกครองที่ดูละครเรื่องนั้นกับลูกก็อาจไม่ได้ช่วยบอกกับลูกว่าภาพจำแบบนี้มันไม่ใช่ มันไม่โอเคนะ
ต้องบอกว่าในเพจซูซี่จะโดนบูลลี่หนักมาก โดนด่ากระเจิงเลยค่ะ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเนอะ สำหรับซูซี่มองว่า เราเลือกวิธีด่ามาเราก็ด่ากลับ เพราะบางคนพูดไปก็เท่านั้น คือการว่าคนอื่นน่ะ ทุกคนรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วมั้ย ว่ามันไม่โอเค และทั้งที่เขารู้แต่ก็ยังทำ เราเลยมองว่าเขาก็น่าจะต้องการเอเนอร์จี้แบบนั้นกลับไป ซูซี่ก็ให้เลย เราก็เลยใช้วิธีแคปเอาที่เขาด่ามาโพสต์ลงในเพจเลย
พอโพสต์ไป บางคนก็ขำ หัวเราะ บางคนก็เข้าไปว่าเขากลับแทนเรา แต่บางคนก็จะมองว่ามันเริ่มไม่สนุกแล้ว จริงจังไปแล้วนะ เอ้า นี่เป็นเรื่องจริงที่เราเจอไงคุณ พวกคุณเป็นแบบนี้กันจริงๆ จะให้เราทำยังไงล่ะ บางคนที่เหยียดเนี่ยเหยียดแรงนะคะ “กลับเอธิโอเปียมึงไปเถอะ” “กลับเผ่ามึงไปเถอะ” อะไรแบบนี้ มันไม่ใช่แค่การบูลลี่ด้วยรูปลักษณ์แล้วแต่มันเป็นการเหยียดเชื้อชาติเราด้วย
อย่างหนึ่งเลยที่เรารู้สึกว่าไม่โอเคคือ ทำไมต้องให้คนที่โดนบูลลี่เป็นฝ่ายจัดการความรู้สึกตัวเอง อย่างเราที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เราก็จะยิ่งโดนคำนี้เยอะมาก เพราะเราเลือกจะฟาดกลับทุกดอก ขณะที่คนจะชินว่าคนดังต้องปล่อยวางให้เป็นสิ ต้องอยู่เงียบๆ สิ อย่าไปสนใจก็จบ เอ้า แล้วหัวใจบอบช้ำของคนที่โดนล่ะ ทำไมเราไม่ร่วมกันแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาล่ะ
ซึ่งถ้าจะแก้มันก็คงต้องเริ่มจากครอบครัว บางครอบครัวไม่ได้ปลูกฝังลูกเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย แค่ปล่อยให้มันเกิดไป เพราะมองว่ามันเป็นเรื่องปกติของเด็ก เด็กแค่หยอกๆ กัน ซึ่งไม่ใช่นะคะ นี่ไม่ใช่เรื่องปกติของเด็ก ที่เป็นปกติคือไม่ควรมีเด็กคนไหนไปบูลลี่คนอื่น หรือไม่ถ้ามีการบูลลี่ มันก็มีสองทางให้เลือกนั่นแหละ คือสวนกลับกับปล่อยวาง
แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ได้จะเชียร์ทุกคนว่าให้สวนกลับนะ แต่ละคนมีวิธีรับมือไม่เหมือนกัน เพียงแต่เราเลือกวิธีนี้
พอเราสวนกลับไป หลายคนก็ไม่กลับมายุ่งกับเราอีกนะ ในเพจเราเองพวกที่ชอบบูลลี่ ชอบเหยียดเชื้อชาติก็หายต๋อมไปเลย บางคนบอกว่าเพิ่งรู้นะว่าพอโดนบูลลี่เราสามารถด่ากลับได้ เอ้า ทำไมถึงไม่ได้ล่ะ มันน่าเศร้านะ ที่เราเจ็บปวดแล้วเรายังต้องมานั่งจัดการความรู้สึกตัวเองอีก
ซึ่งก็จะมีคนที่บอกว่า “โดนคนอื่นบูลลี่ ก็อย่าบูลลี่คนอื่นกลับสิ” เราก็อยากถามว่าเราบูลลี่ที่ไหน? คนที่เราว่ากลับเนี่ยไม่ใช่คนที่มาด่าเราหรอกเหรอ เรามองว่านี่คือการโต้ตอบมากกว่าการบูลลี่ หรือบางคนบอกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราก็จะบอกเสมอว่าอย่ามาสอนธรรมะกับเรา เรานับถือศาสนาคริสต์
แต่ถ้าคุณสบายใจจะปล่อยวาง มันก็ควรจะเกิดขึ้นโดยที่คุณไม่เจ็บปวด ไม่ใช่ว่าคุณก็ยังเจ็บปวดแต่เอาคำว่าปล่อยวางมาปลอบใจตัวเอง สำหรับเรา ไม่อะ แต่เราก็ไม่ได้โต้ตอบทุกอันหรอกนะ บางอันเราก็ปล่อย บางอันก็บล็อกไปเลยเหมือนกัน
เราอยากให้เขาเชื่อมั่นและยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ สิ่งที่ได้ทบทวนและคิดมาแล้วว่ามันใช่จริงๆ เราต้องมีสติเสมอ มันจะมีคำพูดที่จะคอยดึงเราไปทางซ้ายทางขวาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางคำพูดอาจเป็นการติเพื่อก่อ บางคำพูดจงใจทำลาย เราต้องใช้สติในการพิจารณา
และที่สุดแล้ว เราร้องไห้ได้นะ ร้องเสร็จแล้วเราก็ค่อยกลับมาเดินต่อ การร้องไห้ไม่ได้หมายความว่าเราคล้อยตามพลังลบเสมอไป