คอนเทนต์ประเภท Grooming Tutorial สอนวิธีแต่งตัว แต่งหน้า ทำผมหรือใช้ไอเทมที่ทำให้ดูดี ดูแพง ในงบที่จำกัด มีอยู่ทั่วไปใน Tiktok, Reel, Youtube จนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันโลกของแฟชั่นยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจสิ่งที่เรียกว่า ‘Working Class Fashion’ หรือสไตล์การแต่งตัวที่หยิบยืมมาจาก ‘ชนชั้นแรงงาน’ เพราะมองว่าเสื้อผ้าของชั้นแรงงานเป็นความงามและความดิบอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าหากใครติดตามโลกแฟชั่นมาสักพัก ก็จะเห็นว่าเมื่อหลายปีก่อน กระแสเสื้อผ้าแนว Working Class เป็นสิ่งที่ถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจอย่างมาก แม้แต่แบรนด์ลักซ์ชัวรี่เบอร์ต้นๆ หลายแบรนด์ก็ยังหันมาทำเสื้อผ้าสไตล์ชนชั้นแรงงาน พร้อมกับหยิบของที่เคยถูกมองว่าเป็น ‘ของคนจน’ นำมาสร้างนิยามใหม่ให้กลายเป็นของที่มีมูลค่าสูงลิบ
ยูทูปเบอร์ชื่อ This Is Antwon เจ้าของคลิป ‘Working Class Fashion Is Cool (If You’re Rich)’ ก็สนใจความย้อนแย้งนี้เช่นกัน และได้ตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใด โลกแฟชั่นถึงหลงใหลเรื่องของชนชั้นแรงงานกันนัก
จริงอยู่ว่าแต่ไหนแต่ไร เสื้อผ้าคือการแสดงถึงสถานภาพทางสังคม อาชีพการงาน ฐานะ รวมถึงเป็นเครื่องมือแสดงออกทางความคิด และตัวตนของผู้ที่สวมใส่มัน
เช่นเดียวกับในแง่หนึ่งเสื้อผ้าก็สามารถเป็นการ ‘เสเเสร้ง’ ว่าเราอยากที่จะเป็นใครได้ด้วยเช่นกัน ด้วยบรรทัดฐานของสังคมที่มักจะตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก การพยายามแต่งตัวให้ ‘ดูแพง’ หรือสูงกว่าสถานภาพที่เป็นจริงนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก
ในทางกลับกัน Woking Class Fashion กลับเป็นการความพยายามแต่งตัวให้เหมือนเป็นคนที่ ‘ไม่มีเงิน’ แต่การเสเเสร้งว่าเป็นคนไม่มีเงินนั้นย้อนแย้งตรงที่ต้องหมดไปเท่าไรกับการสรรหาไอเทมเท่ๆ จากแบรนด์ดังๆ อย่างที่ยูทูปเบอร์ This Is Antwon บอกว่า Working Class Fashion จะเท่มากๆ ถ้าหากคุณเป็นคนรวย ก็เพราะจากเสื้อผ้ามอมๆ เขรอะๆ มีกระเป๋า มีช่องเยอะๆ เน้นการใช้งานมากกว่าเน้นดีไซน์ซึ่งเคยเป็นของคนรายได้น้อย คนจน คนไร้บ้าน อยู่ๆ ก็กลายมาเป็น Rare Item ราคาแพง ที่คนฐานะปานกลางค่อนไปทางรวยพยายามหามาใส่ หามาเล่น หรือนำมาเก็งราคากันในตลาดแฟชั่น
และสิ่งนี้เองท่ีนำมาสู่การถกเถียงว่าจริงๆ แล้ว Woking Calss Fashion คือรูปแบบหนึ่งของ ‘Class Appropriation’ หรือการที่คนรวยฉกฉวยเอาวัฒนธรรมของคนชั้นที่ต่ำกว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์หรือไม่ เพราะที่สุดแล้วอย่าลืมว่าแม้แต่เทรนด์แฟชั่นชนชั้นแรงงานก็เป็นหนึ่งในเกมที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำของสังคมทั้งนั้น ตั้งแต่บรรดาดีไซเนอร์ นายทุน เจ้าของแบรนด์ จนถึงเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ แถมยังนำ ‘ความจน’ มาสร้างมูลค่า สร้างรายได้มหาศาลให้กับตัวเองอีกด้วย
จริงๆ แล้วการหยิบยืมวัฒนธรรมจากชนแรงงานมาเป็นแรงบันดาลใจทางเเฟชั่นนั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไรและมีมานานแล้ว อย่างเช่นเสื้อผ้าสไตล์ Workwear ที่อิงมาจากชุดยูนิฟอร์มของแรงงาน ชาวประมง คนงานเหมือง ชาวนา ช่างไม้ หรืออย่างเช่นวัฒนธรรมฮิปฮอปที่เป็นการ Represent ชนชั้นแรงงานผิวสีในยุค 80s
และ Working Class Fashion ก็ยังอาจมองในแง่ของงานศิลปะที่ใช้ Provoke คนให้เห็นถึงประเด็นปัญหาในสังคม หรือต้องการจะให้คุณค่ากับอะไรบางอย่าง อย่างที่เเฟชั่นสไตล์ Workwear พูดถึงชนชั้นกรรมมาชีพด้วยความเคารพในแง่ของแรงงานคนและการให้คุณค่ากับงานฝีมือ แบรนด์ Gosha Rubchinskiy ที่เชิดชูวัยรุ่นชนชั้นแรงงานของรัสเซีย หรือ Balenciaga Fall/ Winter 22 ที่พูดถึงประเด็นผู้อพยพชาวยูเครนจากการโจมตีของรัสเซีย เพื่อเรียกร้องให้โลกหันมาสนใจปัญหาภัยสงครามอย่างจริงจัง
แต่มันจะเป็นปัญหาทันทีหาก Working Class Fashion เป็นเพียงการ ‘แต่งตัวเลียนแบบคนจน’ หรือที่ในคลิปของ This Is Antwon เรียกว่า ‘Poverty Play’ ซึ่งเป็นการหยิบมาแค่เปลือก โดยไม่ได้เข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาจริงๆ
ซึ่งต้องกลับมาถามว่า แล้วแบรนด์สมัยใหม่ เช่น Vetements หรือแบรนด์อื่นๆ ที่หยิบยืมรูปแบบยูนิฟอร์มของชนชั้นแรงงาน เช่น พนักงานบริษัทขนส่ง DHL หรือพนักงานร้านแมคโดนัลด์มาเป็นแรงบันดาลใจให้กับเสื้อผ้าของพวกเขานั้น มีความเคารพชนชั้นแรงงาน หรือเข้าใจปัญหาของแรงงานเหล่านั้นจริงๆ มากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกับที่ช่วงหนึ่งหลายแบรนด์แห่กันมาทำเสื้อผ้าสไตล์คนไร้บ้าน Homeless Chic เอย หรือสไตล์ผู้ลี้ภัยเอย เข้าใจหรือตระหนักถึงปัญหาเหล่านั้นจริงๆ ไหม หรือทำไปแค่เป็น Joke เอาฮา เพื่อ Disrupt วงการแฟชั่นให้เกิดสีสันเท่านั้น
เอ็มม่า แม็คเคลนดอน (Emma McClendon) ผู้ช่วยภรรฑารักษ์ FIT Museum ในนิวยอร์ก ซึ่งเคยจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องยูนิฟอร์มเมื่อปี 2016 บอกว่า อาจมองได้ว่าการหยิบยืมจากชนชั้นแรงงานเป็นการแสดงถึง Power Dynamic อย่างหนึ่งที่คนมีฐานะทางสังคมสูงกว่าใช้ความต่างของอำนาจ กดขี่คนที่อยู่ในชนชั้นต่ำกว่าได้เหมือนกัน
“คนชนชั้นนำของสังคมรู้สึกว่าพวกเขาสามารถหยิบยืม หรือฉกฉวยอะไรก็ได้ที่ให้ประโยชน์กับตัวเอง และทุกอย่างก็ต้องมีพร้อมสำหรับให้พวกเขานำไปใช้ โดยไม่ได้นึกถึงผลที่ตามมา” แม็คเคลนดอน กล่าว
เช่นเดียวกับที่ยูทูปเบอร์ This Is Antwon มองว่า หรือจริงๆ แล้วโลกแฟชั่นควรแยกเรื่องของความงามออกจากเรื่องของฐานะ การที่ใครสักคนกำหนดว่าชนชั้นไหนควรจะแต่งตัวอย่างไร ของแบบไหนดูแพง ของแบบไหนดูจน ก็คือการ ‘เหยืยด’ และเป็นการกดทับทางสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะแต่งตัวแพง หรือแต่งตัวจนก็ไม่สำคัญเท่าคนๆ นั้นได้แสดงออกในสิ่งที่เป็นตัวเอง และมันทำให้เขามีความสุขก็เพียงพอแล้ว
เพราะเชื่อว่าถ้าหากเลือกได้ ก็คงไม่มีใครอยากเกิดมาจน เป็นคนไร้บ้าน เป็นผู้ลี้ภัย เพื่อเป็นสไตล์ต้นแบบให้กับใคร หรือถูกนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับคนกลุ่มไหนอย่างแน่นอน
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=VlUWapEYVVM
https://garage.vice.com/en_us/article/xwmxgj/class-appropriation-in-fashion
Author