LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

หลอดสกินแคร์อะลูมิเนียม ทางเลือกที่ลูกค้าสายรักษ์โลกยอมจ่าย

หลอดอะลูมิเนียมเป็นหนึ่งในแพ็กเกจจิ้งยอดฮิตที่ตอนนี้สกินแคร์หลายแบรนด์เลือกนำมาใช้ เพราะนอกจากจะทำให้ผลิตภัณฑ์ดูเรียบเก๋ มินิมอล ตอบโจทย์เทรนด์ของผู้บริโภคแล้ว ข้อดีอีกอย่างคือลดการใช้แพ็กเกจจิ้งพลาสติก ซึ่งทำให้มันได้ชื่อว่าเป็นทางเลือกใหม่ของบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกด้วย .

ว่าแต่หลอดอะลูมิเนียมเป็นมิตรต่อโลกขนาดนั้นจริงหรือเปล่า?

“อะลูมิเนียมเป็นวัสดุที่กำลังเป็นเทรนด์อย่างมากในเวลานี้” คริส ไวท์แมน (Chris Wightman) วิศวกรที่ทำงานในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มากว่า 20 ปี กล่าว เขาบอกว่านี่เป็นยุคที่แบรนด์ต่างๆ มักจะถามหา ‘แพ็กเกจจิ้งรักษ์โลก’ มากที่สุด 

“ลูกค้าที่เริ่มตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะเรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆ หันมาทำอะไรสักอย่างกับการลดใช้พลาสติก ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้แบรนด์หันมาทำการตลาดกับบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อโลก แล้วอะลูมิเนียมก็คือหนึ่งในทางเลือกนั้นที่ผู้บริโภคยอมจ่าย”

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้วัสดุอย่างอะลูมิเนียมกลายเป็นวัสดุยอดฮิตสำหรับบรรจุภัณฑ์ความงามที่เคลมว่าเป็นมิตรต่อโลก เพราะอะลูมิเนียมคือ Single Material จึงทำให้นำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายกว่า ไม่เหมือนกับพลาสติกที่แยกย่อยออกเป็นหลายประเภท และไม่ใช่ทุกประเภทจะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 

อะลูมิเนียมสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้โดยไม่เสื่อมสภาพได้มากถึง 7 ครั้ง ในขณะที่พลาสติกส่วนใหญ่สามารถนำมารีไซเคิลซ้ำได้แค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น

ในสหรัฐฯ อัตราการรีไซเคิลอะลูมิเนียมกลับมาใช้ใหม่มีมากกว่า 35% ส่วนพลาสติกจะอยู่ที่ 9% เหตุผลนี้เองที่ทำให้อะลูมิเนียมถูกยกให้เป็นความหวังใหม่ของวงการบรรจุภัณฑ์ความงามที่น่าจับตามองอย่างมาก

อีกเหตุผลหนึ่งคือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากอะลูมิเนียมยังมีน้ำหนักเบา ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงในการขนส่ง หากเทียบกับวัสดุอย่างขวดแก้ว ที่แม้จะสวยหรูดูพรีเมียม นำมาใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้ แต่ก็มีน้ำหนักมาก ทำให้ต้องใช้พลังงานในการขนส่งมากขึ้นตามไปด้วย แถมขวดแก้วก็อาจไม่เหมาะกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำเสมอไป อย่างเช่น ขวดสบู่ หรือขวดแชมพู ที่อาจลื่นหลุดมือ ตกแตก เป็นอันตรายกับผู้บริโภคได้ นอกจากนั้นขวดอะลูมิเนียมยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัยจากสารเคมีมากกว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีโทษต่อร่างกายในระยะยาวด้วย 

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมจะไม่มีข้อเสียเลย เพราะในการผลิตอะลูมิเนียมขึ้นมาใหม่แต่ละครั้งนั้นต้องใช้ทรัพยากรมากมาย ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และมีค่าใช้จ่ายในการผลิตที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพลาสติก 

การที่อะลูมิเนียมยิ่งมีปริมาณความต้องการของตลาดผลิตภัณฑ์ความงามเพิ่มขึ้นทุกปี ยิ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยไปกว่ากันในการขุดเจาะเหมืองแร่ รวมถึงนำมาผ่านกระบวนการทำให้อะลูมิเนียมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้พลังงานมหาศาล TerraCycle สตาร์ทอัพเจ้าของธุรกิจขยะรีไซเคิลสัญชาติอเมริกัน ให้ข้อมูลว่า ขวดอะลูมิเนียมหนึ่งขวดที่ผลิตขึ้นมาใหม่นั้นมีส่วนในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเป็น 2 เท่า พอๆ กับการผลิตขวดพลาสติก PET เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม Green Blue องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านวัสดุเพื่อความยั่งยืน เปิดเผยว่า อะลูมิเนียมสร้างคาร์บอน ฟุตปริ้นต์ (Carbon Footprint) ค่อนข้างมากในการผลิตครั้งแรกก็จริง แต่เมื่อนำมารีไซเคิล กลับประหยัดทรัพยากรพลังงานไปได้มากถึง 95% และกว่า 75% ของอะลูมิเนียมที่เคยผลิตขึ้นมาก็ยังคงหมุนเวียนใช้กันอยู่ทั่วโลกตอนนี้ 

ภายในปี 2050 คาดว่าปริมาณความต้องการอะลูมิเนียมทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้นมากถึง 40% ซึ่งแน่นอนว่ามันจะส่งผลต่อ ‘ราคา’ ของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมตามมาด้วย 

ปริมาณความต้องการใช้อะลูมิเนียมในบรรจุภัณฑ์ที่มากแบบก้าวกระโดดนี้ ยังส่งผลให้เริ่มมีการขยับตัวของภาคธุรกิจต่างๆ ในการทำเหมืองแร่อะลูมิเนียมแบบ Low-carbon หรือลดการใช้คาร์บอนไดออกไซต์ลงในอุตสาหกรรมนี้ให้มากที่สุด 

แต่ไม่ว่าอุตสาหกรรมการผลิตและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมจะพัฒนาเพื่อลดผลกระทบต่อโลกมากแค่ไหน สุดท้ายแล้วปัญหาก็อาจวนกลับที่เรื่องเดิมๆ คือการที่ผู้บริโภคขาดความเข้าใจเรื่องการแยกขยะ และเรื่องการรีไซเคิลอยู่ดี 

“แค่โยนทุกอย่างลงถังขยะ แล้วหวังว่าปลายทางของมันจะไปสู่การรีไซเคิล ทั้งที่จริงๆ มันทำไม่ได้ แบบนี้เขาเรียกว่า ‘Wish-cycling’ มิล่า เดวิส (Mia Davis) ผู้ก่อตั้ง Credo มัลติแบรนด์สโตร์สาย Clean Beauty เจ้าใหญ่ของอเมริกา กล่าว

ซึ่งวงจร Wish-cycling อันเกิดจากการขาดความรู้ที่มิล่าบอกก็เช่น เราเห็นว่าหลอดบรรจุภัณฑ์ชิ้นนั้นน่าจะทิ้งลงถังรีไซเคิลได้ แต่จริงๆ แล้วลืมนึกไปว่ายังมีส่วนประกอบอื่นๆ อีก เช่น ตัวฝาพลาสติก ที่ต้องอาศัยการคัดแยกย่อยลงไป ซึ่งพอปลายทางต้องใช้ทรัพยากรคน เครื่องจักร ค่าใช้จ่าย และเวลาในการคัดแยกรายละเอียดเล็กๆ เหล่านี้อีก กระบวนการนำไปรีไซเคิลจึงแทบเป็นไปได้ยาก หรือไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย เพราะมันไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิล นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมการรีไซเคิลของพลาสติกทั่วโลกจึงมีไม่ถึง 10% ซึ่งน้อยนิดเหลือเกินหากเทียบกับปริมาณการบริโภคของเราๆ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ว่ามานี้ อะลูมิเนียมจะใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกของบรรดาแบรนด์ความงามหรือไม่ อาจต้องมองกลับมาที่ปลายทางของมันด้วย ตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภค จนถึงการจัดการของหน่วยงานภาครัฐฯ องค์กร หรือตัวแบรนด์เองที่จำเป็นต้องออกมาโปรโมตเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น อย่างเช่นในสหรัฐฯ ที่ห้างใหญ่ Nordstorm มีจุดดร็อปให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือสกินแคร์ที่ใช้หมดแล้วมาทิ้งได้ ซึ่งช่วยลดปัญหาการแยกขยะอย่างไม่ถูกต้อง และช่วยทำให้ปลายทางของบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไปอยู่ถูกที่ถูกทางมากขึ้นด้วย

สิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะทำได้ง่ายที่สุดตอนนี้ อาจเป็นการบริโภคแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อโลกมากพอ เพราะเมื่อเราไหวตัวได้เร็วเท่าไร ย่อมกดดันให้แบรนด์ในอุตสาหกรรมความงามเกิดความตระหนักว่าพวกเขาไม่สามารถทำหลอดสกินแคร์แค่เก๋ๆ แล้วจบ โดยไม่สามารถตอบว่าปลายทางของพวกมันจะไปอยู่ตรงไหนได้อีกแล้ว

อ้างอิง : https://www.allure.com/story/aluminum-packaging-trend-report 

 



Author

NUT LELAPUTRA

TAG

    Related Stories

    คีย์เวิร์ดของโลกตอนนี้คือคำว่า ‘ปัจเจก’ และความงามขึ้นอยู่กับความ ‘มั่นใจ’ และ ‘พอใจ’  หัวใจในการรีแบรนด์ของ sasi ที่สนับสนุนให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเอง

    life

    คีย์เวิร์ดของโลกตอนนี้คือคำว่า ‘ปัจเจก’ และความงามขึ้นอยู่กับความ ‘มั่นใจ’ และ ‘พอใจ’ หัวใจในการรีแบรนด์ของ sasi ที่สนับสนุนให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเอง

    MIRROR'sGuide

    ราคาสินค้าอาจแตกต่างตามช่วงเวลาและโปรโมชั่น
    โปรดอ้างอิงจากราคาปลายทางของร้านค้าขณะสั่งซื้อ