เวลาที่เข้ามินิมาร์ทหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต เคยสังเกตไหมว่า ตัวเลือกของเครื่องดื่มที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้อย่างหนึ่งก็คือ functional drink หรือเครื่องดื่มที่ให้ประโยชน์กับสุขภาพ ที่มีให้เลือกมากขึ้นทั้งยี่ห้อ รสชาติ และสารอาหารที่อยู่ในเครื่องดื่มนั้นๆ
อยากได้เครื่องดื่มที่มีครบทั้งวิตามินบีรวมและวิตามินซี....✅
อยากลองเครื่องดื่มที่ผสมสารสกัดจากขิง แต่ได้รสเปรี้ยวแบบมะนาว...✅
ต้องการเครื่องดื่มที่ดื่มง่าย ให้ความสดชื่น แต่มาพร้อมแร่ธาตุที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ…✅
เท่านี้ยังนับเป็นว่าเพียงตัวอย่างส่วนน้อยของความหลากหลายที่หาได้จากเครื่องดื่มประเภทนี้
การเติบโตของตลาดเครื่องดื่มประเภทนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะตลาดในไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเติบโตที่เป็นเทรนด์ทั่วโลก ทั้งแบรนด์ใหม่ที่เปิดตัวด้วยเครื่องดื่มประเภทนี้โดยเฉพาะและแบรนด์ชื่อคุ้นหูกันอยู่เลยก็แตกไลน์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ที่จริงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่มาเติมสารอาหารให้กับชีวิตเรามากขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ามองไปที่จุดเริ่มต้นว่า การผลิตเครื่องดื่มประเภทนี้มาจากการเข้าใจ pain point ของคนยุคนี้ที่ต้องการดูแลสุขภาพยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการอะไรที่สะดวกและรวดเร็ว ทำให้เครื่องดื่มที่บางครั้งก็เรียกกันว่า เครื่องดื่มเสริมอาหาร เข้ามาตอบโจทย์เทรนด์ในการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงยุคใหม่ที่ไลฟ์สไตล์ในแต่ละวันเบลนด์ความ multitasking เข้าไป โดยไม่ลืมเรื่องความสำคัญของการดูแลตัวเอง
1 ใน 7 เทรนด์พฤติกรรมการดูแลตัวเอง (self-care) ของผู้หญิงที่สื่ออย่าง Freeyork ได้ทำนายไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีก็คือ พฤติกรรมลดความถี่ในการดื่มแอลกอฮอล์ลง โดยบางคนอาจตั้งเป้าให้กับตัวเองว่า บางเดือนจะยกให้เป็น alcohol-free month หรือบางคนอาจจะตั้งความมุ่งมั่นว่า หนึ่งใน New Year’s resolutions ของปีนี้คือ ทำให้เป็น alcohol-free year ไปเลย พร้อมเปิดเผยว่า จากผลการสำรวจ Gen Z และมิลเลนเนียลที่เห็นแฮงก์เอาต์กันบ่อยๆ กลายเป็นกลุ่มที่ใช้เงินไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละปีน้อยกว่าเจเนอเรชันอื่นอีกด้วย
การทำนายเทรนด์พฤติกรรมนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ที่บ่งบอกว่า เรื่องการดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญกันมากขึ้น เพราะระหว่างปี 2019-2020 ข้อมูลจาก Google Search Trends ยังแสดงให้เห็นว่ามีการค้นหาที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลตัวเองสูงขึ้นถึง 250% แค่เฉพาะในช่วงปีนั้น ซึ่งมาจากความเชื่อที่ว่าพฤติกรรมการดูแลตัวเองส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีในชีวิตโดยรวม และตัวเลขนี้ยังไต่ขึ้นสูงสุดในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกอีกด้วย
ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เน้นการดูแลตัวเองมากขึ้น ทำให้วิธีการโฆษณาของเครื่องดื่มประเภทนี้ก็เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้หญิงยุคนี้ไปด้วย จากเดิมที่เคยได้ยินคำว่า beauty drink บ่อยๆ หลายแบรนด์เลือกปรับการสื่อสารโดยนำเรื่องความสวยความงามมาเป็นผลพลอยได้แบบเบาๆ แต่เอาคุณสมบัติในด้านสารอาหารที่มีผลต่อการดูแลสุขภาพมากกว่ามาเป็นตัวนำ
ยกตัวอย่าง Diva’s แบรนด์เครื่องดื่มจากสโลวะเกียที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ เพราะเชื่อว่าการดูแลตัวเองจากภายในจะช่วยให้ผู้หญิงสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะอยู่ในบทบาทใดก็ตาม โดยมาพร้อมกับแท็กไลน์ที่ว่า ‘All you need is inside.’
ถึงแม้ว่า beauty drink จะเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ Diva’s แต่จะเห็นได้จากทั้งแพ็กเกจและทิศทางในการสื่อสารของแบรนด์ในระยะหลังว่า เน้นเรื่องการดูแลตัวเองจากภายในมาก่อน ให้ความแข็งแรงและความมั่นคงจากภายในส่งต่อมาถึงภายนอก พ่วงด้วยเรื่องราวที่ทำให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถทำอะไรได้อีกมากถ้าเรามีความแข็งแรงจากภายใน
ด้านสื่อดังอย่าง Harper’s BAZAAR ฝั่งอังกฤษยังระบุว่า แม้ผู้หญิงจะให้ความสำคัญกับเรื่องความสวยความงาม แต่คุณค่าที่ตีคู่กันมาชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคโควิด-19 เป็นต้นมา คือเรื่องของสุขภาพ จนกล่าวได้ว่าสุขภาพที่ดีเป็นความหรูหรารูปแบบหนึ่งในชีวิต
ในการจัดอันดับของ Forbes เมื่อต้นปีนี้ ถึงแม้ beauty drink จะนับเป็นประเภทหนึ่งของ functional drink แต่ตัวเลือกทั้งหมดที่อยู่ในลิสต์เครื่องดื่มยอดนิยมของ Forbes นั้นเป็นเครื่องดื่มที่เน้นในเรื่องสุขภาพมากกว่าความงาม อย่างเช่น Ultima Replenisher ที่เด่นในเรื่องของอิเล็กโทรไลต์ ซึ่งเหมาะกับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือแบรนด์ OCA ซึ่งเป็นเครื่องดื่ม plant-based ในกลุ่มนี้ก็เป็นอีกแบรนด์ที่น่าจับตามองในเรื่องส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้บริโภคฝั่งตะวันตก
เทรนด์ของการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการประหยัดเวลาให้มากที่สุด เพื่อที่จะทำทุกอย่างได้ครบตามที่วางแผนไว้ในแต่ละวัน จึงทำให้ functional drink เข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้อย่างตรงจุดและกลมกลืน
ในขณะเดียวกัน การมีตัวเลือกที่เพิ่มขึ้น มีเรนจ์ให้เลือกได้ว่าต้องการเครื่องดื่มที่มีวิตามินหรือแร่ธาตุประเภทใดแบบเฉพาะเจาะจง ก็ทำให้ผู้หญิงมีอิสระในการออกแบบไลฟ์สไตล์ได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของตัวเองยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ข้อมูลอ้างอิง:
https://asdonline.com/blog/retail-news/what-self-care-trends-mean-for-retailers-in-2020/#:~:text=In%20fact%2C%20between%202019%20and,on%20their%20overall%20well%2Dbeing
https://www.divasdrink.com/
https://www.drinkoca.com/
https://www.forbes.com/sites/meimeifox/2022/03/26/6-brands-dominating-the-explosive-functional-beverages-market/?sh=a9c15d051cf2
https://freeyork.org/health/7-healthy-self-care-trends-in-2022/
https://www.forbes.com/sites/forbesagencycouncil/2021/12/30/what-the-self-care-consumer-trend-means-for-brands/?sh=5fa443304944
https://www.harpersbazaar.com/uk/beauty/beauty-shows-trends/a38525352/beauty-trends-2022/
https://www.uschamber.com/co/good-company/launch-pad/edible-beauty-movement
Author
นักเขียนที่มีของสะสมเป็นมาสก์หน้า มีงานอดิเรกเป็นการลองสกินแคร์สารพัดยี่ห้อ และสนใจเขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงเพราะเชื่อว่าจะทำให้รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นผ่านการเขียน