“ฉันจะสอนเด็กๆ เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ให้พวกเขาลุกขึ้นมาพูดเสมอ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น อย่ารู้สึกกลัว และอย่ารู้สึกว่าคุณไม่สามารถบอกเรื่องนี้กับใครได้ คุณต้องออกมาพูด เพราะถ้าคุณไม่พูด พวกเขาก็จะทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ และแม้เป็นเด็ก ก็ขอให้เข้มแข็ง และระลึกไว้ว่า พวกเราอยู่ตรงนี้ และจะคอยดูแลพวกคุณ”
คำตอบของ ทารีน่า โบเทส รองอันดับ 1 เวที Miss Universe Thailand 2021 จากคำถาม “การคุกคามทางเพศต่อเด็กและผู้หญิงที่เราพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับเราทุกครั้งที่ได้รับรู้ คุณจะสอนเด็กๆ อย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการคุกคามทางเพศ” กำลังบอกเราทุกคนว่า สังคมไทยไม่ได้เพิ่งมีปัญหาเรื่อง Sexual harassment แต่กลับฝังรากลึกมานานจนเด็กหลายคนไม่กล้าพอที่จะออกมาพูดเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเอง
YouGov องค์กรจากสหราชอาณาจักรที่หยิบเอาประเด็นการเมือง เรื่องสาธารณะ สินค้า แบรนด์ หรือหัวข้ออื่นๆ ซึ่งคนทั่วไปสนใจมาทำโพล สำรวจความคิดเห็นคนไทยในปี 2562 เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ พบว่า 1 ใน 5 ของคนไทยในกลุ่มสำรวจเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน และผู้ตอบแบบสอบถาม 55 เปอร์เซ็นต์ สบายใจที่จะบอกเพื่อนมากที่สุด รองลงมา 39 เปอร์เซ็นต์ สบายใจจะบอกสมาชิกในครอบครัว ขณะที่มีคนเลือกไปแจ้งความกับตำรวจเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นอกจากนี้ยังพบประเด็นน่าสนใจอื่นๆ อีกเช่น
- ผู้ถูกกระทำรู้สึกอับอาย 46 เปอร์เซ็นต์
- กลัวว่าจะไม่มีใครช่วยแก้ปัญหา 27 เปอร์เซ็นต์
- กลัวผลกระทบ และแรงกดดันทางวัฒนธรรมของคนไทย 25 เปอร์เซ็นต์
ตัวเลขที่สะท้อนความไม่กล้าของเหยื่อ นับเป็นผลพวงมาจากสังคมที่ปลูกฝังค่านิยม Victim blaming หรือการโทษเหยื่อว่าเป็นต้นเหตุของการถูกกระทำเสียเอง ซึ่งการกระทำนี้ หลายคนยังมองว่าเป็นเรื่องปกติ และไม่ค่อยได้นึกถึงว่ามันจะสร้างผลกระทบกับเหยื่ออย่างไรบ้าง
ยกตัวอย่าง เดือนมีนาคม ปี 2561 อธิบดีกรมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ในเทศกาลสงกรานต์หน่วยงานในพื้นที่ต้องจัดโซนปลอดแอลกอฮอล์สำหรับนักท่องเที่ยว และรณรงค์ส่งเสริม ‘ผู้หญิง’ ให้แต่งกายเหมาะสมเพื่อไม่ให้ตกเป็น ‘เหยื่อ’ อาชญากรรมทางเพศ ผู้ปกครองหลายคนก็ยังคอยบอกกับลูกสาวของตัวเองว่า “แต่งตัวให้มันดีๆ หน่อย อันตราย”
เช่นเดียวกับในหนังสือเรียนไทย ที่ชี้ว่าผู้หญิงที่แต่งตัวเรียบร้อย คือคนดี ผู้หญิงที่นุ่งสั้นคือคนไม่ดี ยังไม่รวมการรณรงค์แปลกๆ ในห้องเรียนไทยที่ไล่ผู้ชายไปเตะบอลเมื่อมีอารมณ์ทางเพศ แทนที่จะสอนให้เด็กรู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน หรือสอนเพศศึกษา สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิในการเรียกร้องความยุติธรรม เมื่อถูกคุกคามทางเพศ
คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยสถิติที่มูลนิธิฯ เก็บรวบรวมข่าวสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศปี 2562 ในหน้าหนังสือพิมพ์ 9 ฉบับ พบว่ามีนักเรียน นักศึกษา ถูกกระทำถึง 84.8 เปอร์เซ็นต์ อายุผู้ถูกกระทำมากที่สุดคือเยาวชน 11-15 ปี และผู้ถูกกระทำที่อายุน้อยที่สุดคือ 4 ขวบ โดยผู้กระทำมีทั้งคนแปลกหน้า คนคุ้นเคย และคนในครอบครัว
ตัวเลขนี้เป็นเพียงจำนวนเคสที่ ‘ได้รับการรับรู้’ ขณะที่ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ถูกคุกคามทางเพศแล้วไม่ได้บอกกับใครทั้งสิ้น เพราะกลัวถูกเพิกเฉยจากสังคม กลัวคนจะไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองเผชิญ หรือต้องเจอข้ออ้างว่าผู้ใหญ่แค่เอ็นดู หรือกรณีที่เป็นแฟนกัน หลายคนก็กลัวไปแจ้งตำรวจ แล้วถูกปัดตกเพราะมองว่าเป็น ‘เรื่องของผัวเมีย’ แม้กระทั่งเมื่อครูล่วงละเมิดทางเพศเด็ก โรงเรียนกลับบอกว่านี่คือการทำลายชื่อเสียงของโรงเรียนและตัวเด็กเอง หลายครั้งมีการไกล่เกลี่ยผู้ปกครองให้ยอมความ ทั้งๆ ที่เด็กเป็นผู้เสียหาย และผู้กระทำก็เพียงแต่ถูกสั่งย้ายไปที่อื่น ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันว่าเขาจะไม่ก่อเหตุแบบนี้อีก
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะยอมรับว่าสังคมไทยกำลังมีปัญหา และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเรื่องการคุกคามทางเพศที่บิดเบี้ยวนี้ใหม่
เราขอยืนยันว่า ผู้ถูกกระทำมีสิทธิ์ในการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตัวเอง และยังมีองค์กรช่วยเหลือ หรือคนในสังคมอีกหลายชีวิตที่พร้อมอยู่เคียงข้าง หากคุณลองเปิดใจพูดเรื่องนี้กับใครสักคนที่คุณสบายใจที่จะพูด
และถึงแม้คุณจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ คุณค่าในตัวคุณก็ไม่ได้ถูกลดทอนลงไป คุณยังเป็นคนที่มีค่าเสมอ อย่าโทษตัวเอง ใจดีกับตัวเองให้มากๆ พูดสิ่งที่อยากพูดออกมา หรือหากยังไม่พร้อมก็ไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเอง เพราะที่สุดแล้วคนที่ผิดจริงๆ คือคนกระทำ ไม่ใช่คุณ
อ้างอิง:
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%87/159100
https://www.thairath.co.th/news/society/2054988
https://theaseanpost.com/article/thais-have-sexual-harassment-problem