ไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมยอมรับให้คู่ของตน มีใครอีกคนโดยที่เราไม่เต็มใจ แต่เมื่อมันเป็นหลักปฏิบัติของศาสนา อย่างกรณีของศาสนาอิสลาม การที่ใครสักคนจะเรียกร้องไม่ให้สามีมีภรรยาอื่นนั้นดูจะเป็นไปได้ยาก แต่ในที่สุดมันก็เกิดขึ้น
เรชมา (Reshma) หญิงมุสลิมชาวอินเดียอายุ 28 ปี ได้ยื่นเรื่องต่อศาลสูงประจำกรุงเดลี ให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมพฤติกรรมการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนของชายชาวมุสลิม ซึ่งนับเป็นการเรียกร้องที่กล้าหาญอย่างยิ่ง
เรชมาแต่งงานเมื่อปี 2019 และอันที่จริงสิ่งที่เธอต้องพบเจอไม่ใช่เพียงเรื่องที่สามีเธอวางแผนจะแต่งภรรยาเพิ่มอีกคน เธอยังระบุว่าสามีทั้งใช้กำลังทำร้าย ทั้งยังดูถูก เหยียดหยาม คุกคาม เนื่องจากความไม่พอใจเรื่องสินสอด (ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสินสอด ทำให้มีผู้หญิงมุสลิมบางคนในอินเดีย ปากีสถาน และประเทศใกล้เคียง ถูกฆ่า หรือถูกทำร้ายจนต้องฆ่าตัวตาย)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เธอเรียกร้องต่อศาล คือ กฎหมายที่ห้ามไม่ให้สามีมีภรรยาอีกคนได้โดยปราศจากการเซ็นยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากภรรยาเดิมที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ข้อเรียกร้องนี้ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องหลักการชายเดียวหลายภรรยาของชาวมุสลิมขึ้นมาในประเทศอินเดียอีกครั้ง
ที่ผ่านมา โดยทั่วไปในประเทศอินเดียหากผู้ใดที่มีคู่เพิ่มจากคู่เดิมที่มี สามารถถูกฟ้องร้องได้ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นสำหรับในชุมชนชาวมุสลิม และชนเผ่าบางชนเผ่าในประเทศ และการเรียกร้องของเรชมาในครั้งนี้ ก็อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในประเทศ
พฤติกรรม Polygamy หรือการให้เพียงฝ่ายเดียวในความสัมพันธ์สามารถมีคู่คนอื่นๆ ได้ ซึ่งมักจะเป็นในรูปแบบ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ เป็นสิ่งที่โลกยุคใหม่พยายามปฏิเสธ โดยจากการรวบรวมข้อมูลเมื่อปี 2019 พบว่ามีประชากรเพียง 2% บนโลกเท่านั้น ที่ยังใช้ชีวิตในระบบผัวเดียวหลายเมียอยู่ แม้แต่ในประเทศที่มีอิสลามเป็นศาสนาหลักประจำชาติอย่างเช่น ตุรกี หรือตูนิเซีย ก็มีกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ชายแต่งงานมีภรรยาเพิ่ม หากไม่ได้รับความยินยอมจากภรรยาเดิม
องค์การสหประชาชาติ ให้คำอธิบายระบบผัวเดียวหลายเมียนี้ว่า “เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เป็นการเหยียดหยามและทำร้ายผู้หญิง” และ “ควรหายไปจากโลกนี้ได้แล้ว” ดังนั้นใครที่ยังอินกับระบบนี้ หรือยังใช้ชีวิตภายใต้ระบบนี้อยู่ อาจต้องลองทบทวนกันอีกที ถ้าคอนเซนต์และแฮปปี้กันทุกฝ่ายก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าไม่ อาจหมายความว่าคุณกำลังติดอยู่กับค่านิยมโบราณคร่ำครึก็เป็นได้ และแม้จะมีตัวอย่างให้เห็นในสังคม ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นเป็นตัวอย่างที่น่าเชิดชูแต่อย่างใด
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-61351784